×

ตั้งหลักให้ถูกในการรับมือคลื่นสินค้าและทุนจีน

03.09.2024
  • LOADING...

การไหลทะลักของคลื่นสินค้าและทุนจีนจนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยได้กลายมาเป็นวาระแห่งชาติ ทางแก้ตรงไปตรงมาของเรื่องนี้ก็คือการบังคับใช้และพัฒนากฎเกณฑ์การค้าของไทยให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งเราต้องชัดเจนว่าเป้าหมายคือไม่ได้กีดกันสินค้าจีน แต่เป็นกฎเกณฑ์เพื่อการค้าที่เป็นธรรม ซึ่งใช้บังคับกับทุกชาติเสมอกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องมาตรฐานสินค้า มาตรการทางภาษี การป้องกันการลักลอบนำเข้าสินค้าหรือหลีกเลี่ยงภาษี การห้ามใช้นอมินีในการทำธุรกิจ การสอบสวนการทุ่มตลาด เป็นต้น

 

แต่นอกเหนือจากเรื่องการบังคับใช้และการพัฒนากฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง เรายังจำเป็นต้องตั้งหลักที่สำคัญ 3 ข้อในเชิงกลยุทธ์ระยะยาว เพื่อรับมือความท้าทายจากคลื่นสินค้าและทุนจีน

 

หลักแรกคือ ‘นำด้วยข้อมูล’ ภาครัฐควรจัดตั้ง Taskforce พิเศษ ซึ่งรับผิดชอบการรวบรวมและประมวล Data ความรุนแรงของปัญหาการทะลักของสินค้าจีนในแต่ละภาคสินค้าและภาคอุตสาหกรรม

 

จะสังเกตได้ว่ากระแสเรื่องคลื่นสินค้าจีนทะลักในขณะนี้มักเป็นการกล่าวอ้างเรื่องราวหรือต่อยอดมาจากกระแสข่าวการต่อต้านสินค้าจีนในตะวันตก แต่ยังมักขาดข้อมูลตัวเลขกรณีสินค้าจีนในไทยที่ผ่านการศึกษา วิจัย และประมวลอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจความหนัก-เบาของปัญหาที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสินค้าและอุตสาหกรรม

 

ตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ที่ได้รับผลกระทบหนักชัดเจน เช่น อุตสาหกรรมเหล็ก และอุตสาหกรรมรถยนต์ แต่น่าตั้งคำถามว่า ในอุตสาหกรรมอื่นๆ มีอุตสาหกรรมใดบ้างที่ประสบความท้าทายจากการเข้ามาบุกตลาดของสินค้าจีน และปัญหานั้นมีลักษณะเฉพาะที่อาจแตกต่างกันในแต่ละสินค้าและภาคอุตสาหกรรมอย่างไร คำถามเหล่านี้จะช่วยในการจัด Priority สินค้าและอุตสาหกรรมที่ต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก

 

กระแสข่าวเรื่องการทะลักของสินค้าจีนยังมักเป็นการพูดในเชิงเหมารวม ซึ่งทำให้แก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมได้ยาก ตัวอย่างของการคิดเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ เช่น การจำแนกเส้นทางของสินค้าจีนเป็นแม่น้ำ 6 สาย ของ ดร.สันติธาร เสถียรไทย อันได้แก่ 1. ผู้ขายไทยนำเข้าสินค้าจากจีน 2. ผู้ขายจีนขายสินค้าให้ผู้บริโภคไทยผ่านแพลตฟอร์ม 3. ผู้ขายจีนแปลงตัวเป็นไทย 4. โรงงานจีนขายตรงผู้บริโภคไทยผ่านแพลตฟอร์ม 5. ไทยนำเข้าสินค้าจีนมา ก่อนส่งออกไปประเทศอื่น 6. แพลตฟอร์มต่างชาติในไทย ซึ่งแต่ละเส้นทางของสินค้าจีนย่อมต้องอาศัยแนวนโยบายที่แตกต่างกันในการจัดการกับปัญหา และความหนัก-เบาของปัญหาและผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทยก็แตกต่างกัน

 

หลักที่สองคือ ‘ปรับจากการตั้งรับเป็นรุกกลับ’ ปรากฏการณ์การออกมาของสินค้าและทุนจีน ด้านหนึ่งเป็นความท้าทายที่ต้องตั้งรับให้ดี แต่ในอีกด้านหนึ่งก็มาพร้อมกับโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้ประกอบการไทยด้วย เราต้องชวนคุยกันมากขึ้นเรื่องกลยุทธ์เชิงรุกในการแสวงโอกาสจากคลื่นทุนจีน

 

โอกาสแรกคือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบ ราคาถูกจากจีน รัฐบาลอาจตั้ง Taskforce ขึ้นมาอีกหนึ่งหน่วยที่จะรับผิดชอบเรื่องการวิเคราะห์ทำ Matching เทคโนโลยี เครื่องจักร และวัตถุดิบ จากจีนที่เหมาะสมเข้ากับภาคธุรกิจไทย

 

ปัจจุบันจีนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเหล่านี้มีต้นทุนถูกเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งในประเทศอื่น และมีศักยภาพที่จะนำมาใช้ยกระดับการผลิต ลดต้นทุนการผลิต และเพิ่มประสิทธิภาพของธุรกิจ

 

โอกาสที่สองคือการดึงคลื่นการลงทุนจากจีนที่ตอนนี้ต่างก็สนใจที่จะออกมาแสวงโอกาสทางเศรษฐกิจในอาเซียน จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัวในจีน และปัญหาสงครามการค้าและการกีดกันจากตะวันตก หัวใจของโอกาสนี้คือการพยายามดึงดูดทุนจีนที่มีคุณภาพและทุนจีนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์แห่งอนาคต

 

การดึงดูดการลงทุนจากจีนต้องเน้นผลลัพธ์ 2 ประการ คือการถ่ายทอดเทคโนโลยี กับการพยายามส่งเสริมให้ทุนจีนที่มาลงทุนใช้ห่วงโซ่การผลิตชิ้นส่วนที่เกี่ยวข้องหรือ Local Content ภายในประเทศไทยให้มากที่สุด ซึ่งก็จำเป็นที่ไทยต้องมียุทธศาสตร์ในการยกระดับธุรกิจ SMEs ไทยให้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่การผลิตใหม่ของจีน โดยอาจเจรจาขอให้ทุนใหญ่ที่มีคุณภาพของจีนร่วมมือถ่ายทอดเทคโนโลยีและส่งเสริมให้เกิดห่วงโซ่รายย่อยในไทยขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับจีนในแง่ต้นทุนและในแง่ความสัมพันธ์ระยะยาวและภาพลักษณ์ที่บวกต่อทุนจีน

 

โอกาสที่สามคือการส่งเสริมให้ทุนไทยร่วมกับทุนจีนรุกตลาดอาเซียนภาคพื้น (ตลาด CLMV) ร่วมกัน โดยอาศัยฐานการผลิตในประเทศไทย ศักยภาพของตลาดผู้บริโภคในภูมิภาคที่ยังเติบโต และจุดแข็งในความเข้าใจกลไกธุรกิจและวัฒนธรรมของอาเซียนภาคพื้นของทุนไทย การมองอาเซียนภาคพื้นเป็นตลาดผู้บริโภคจะช่วยยกระดับความน่าสนใจของไทยและดึงดูดทุนจีนที่มีคุณภาพ และช่วยพาทุนไทยออกไปร่วมคว้าโอกาสในพื้นที่รอบบ้านของไทยที่กำลังมีการเติบโตสูง

 

โอกาสที่สี่คือการใช้แพลตฟอร์มจีนรุกกลับเข้าในตลาดจีน แม้ท่ามกลางปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ตลาดผู้บริโภคของจีนก็ยังคงเป็นตลาดที่มีขนาดมหึมาและมีพลังการบริโภคมหาศาล เพียงแต่ต้องจับเทรนด์การบริโภคในจีนให้ถูก เช่น การบริโภคตามกระแสไวรัลทางวัฒนธรรม การบริโภคสินค้าราคาถูกที่มีคุณภาพ การบริโภคสินค้าต่างชาติที่มีเอกลักษณ์แทนการเดินทางออกมาช้อปปิ้งยังต่างประเทศ

 

การใช้แพลตฟอร์มจีนรุกเข้าไปในตลาดจีนยังจะทำให้ผู้ประกอบการไทยและภาคนโยบายไทยได้เรียนรู้อุปสรรคทางการค้ากับจีน ซึ่งจะช่วยในการสื่อสารและเจรจากับจีน เพื่อผ่อนคลายอุปสรรคทางการค้าเหล่านั้นด้วย

 

หลักที่สามคือ ‘เปิดกลไกการทูตเศรษฐกิจไทย-จีนในระดับสูง’ ด้วยการเร่งรื้อฟื้นกลไกการประชุมคณะกรรมการร่วมว่าด้วยการค้า การลงทุน และความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างไทย-จีน (Joint Committee on Trade, Investment and Economic Cooperation) โดยให้มีรองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายนั่งหัวโต๊ะ

 

รองนายกฯ ด้านเศรษฐกิจท่านปัจจุบันของจีนคือ เหอลี่เฟิง ซึ่งได้เคยติดตาม สีจิ้นผิง ผู้นำจีน ในการเยือนไทยในการประชุม APEC ในปี 2022 และยังเป็นคนสนิทของสี ซึ่งได้ฉายาว่าเป็นกระบี่คู่ใจสีในเรื่องเศรษฐกิจ

 

กลไกการเจรจากับจีนในปัจจุบันมีความจำเป็นที่จะต้องเร่งเปิดช่องทางการสื่อสารระหว่างผู้นำในระดับสูง เพราะลักษณะการผลักดันทางนโยบายของจีนในปัจจุบันมีลักษณะ Top Down และรวมศูนย์มากกว่าในอดีต หากเรื่องใดก็ตามได้รับการชี้ขาดทางนโยบายจากระดับสูง ย่อมจะช่วยผลักดันกลไกต่างๆ ระดับล่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องอุปสรรคทางการค้าที่อาจเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงานทั้งส่วนกลางและส่วนมณฑลของจีน

 

ก่อนการประชุมระดับสูง ฝ่ายไทยต้องทำการบ้านให้ดีว่าประเด็นใดควรยกขึ้นหารือ เพื่ออาศัยการสั่งการและชี้ขาดทางนโยบายระดับสูง และมีเหตุผลที่ชัดเจนว่าเป็นอุปสรรคทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมอย่างไร เพราะนโยบายหลักของประเทศจีนในขณะนี้ประกาศชัดเจนเรื่องการส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศและการเปิดตลาด ต่อต้านสงครามการค้าและการกีดกันทางการค้า

 

ปัญหาที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐจีน เช่น การสกัดทุนจีนสีเทา และการส่งเสริมทุนจีนที่มีคุณภาพ โดยแนวนโยบายพื้นฐานร่วมกันต้องเน้นการสร้างภาพลักษณ์และความเข้าใจที่ดีต่อทุนจีนที่มีคุณภาพ ซึ่งต้องเริ่มต้นจากโมเดลตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมของทุนจีนคุณภาพในไทย เพื่อเป้าหมายการร่วมมือทางการค้าและการลงทุนที่ยั่งยืนของทั้งสองประเทศ หลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดปรากฏการณ์ซ้ำรอยกระแสการต่อต้านและกีดกันสินค้าญี่ปุ่นที่ก็เคยเกิดขึ้นในไทยมาแล้วในช่วงทศวรรษ 2510

 

เราจำเป็นต้องตระหนักว่าข้อกังวลเรื่องสินค้าราคาถูกจากจีนไหลทะลักและคลื่นการสะพัดของทุนจีนจะไม่ใช่เพียงภาพระยะสั้นจากการชะลอตัวช่วงสั้นๆ ของเศรษฐกิจจีน แต่จะเป็นภาพระยะยาวตามเทรนด์การปรับโครงสร้างของเศรษฐกิจจีนที่จะเน้นการออกมาแสวงโอกาสที่ต่างประเทศมากขึ้น เราต้องตั้งหลักให้ถูกตั้งแต่ต้นในการรับมือและคว้าโอกาสจากเทรนด์ระยะยาวดังกล่าว

 

หากในอดีต เรามักถามคำถามว่า เราจะเต้นระบำไปกับการทะยานของมังกรอย่างไร วันนี้เราต้องตั้งคำถามใหม่ทางนโยบายว่า เราจะรับมือกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนที่ส่งผลให้เกิดคลื่นทะลักออกมาของสินค้าและทุนจีนอย่างไร ซึ่งคำตอบต้องเริ่มต้นจากการมีข้อมูลเชิงประจักษ์รายสินค้า อุตสาหกรรม และเส้นทางที่ชัดเจนของสินค้าจีนมากกว่าเพียงกระแสหรือเรื่องบอกเล่า การปรับกลยุทธ์จากการตั้งรับเป็นรุกกลับเพื่อแสวงโอกาสจากปรากฏการณ์ทางเศรษฐกิจใหม่ของจีน และการเปิดกลไกการทูตเศรษฐกิจไทย-จีนในระดับสูง เพื่อสื่อสารปลดล็อกอุปสรรคและข้อกังวลทางการค้า ภายใต้หลักการของการส่งเสริมการค้าที่เป็นธรรม และการต่อต้านการกีดกันทางการค้า ซึ่งก็เป็นแนวทางที่จีนเองยืนยันมาตลอดเช่นกัน

 

ภาพ: VCG / VCG via Getty Images

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising