×

จับตาผลประชุม 3rd Plenum ลุ้นมาตรการหนุนเศรษฐกิจฟื้นความเชื่อมั่นนักลงทุน

23.07.2024
  • LOADING...

ภาพรวมเศรษฐกิจจีนนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเติบโตได้ 5.3% สูงกว่าที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 5% แต่แนวโน้มโดยรวมยังไม่สดใสนัก และไม่เป็นไปตามที่นักลงทุนในตลาดคาดหวัง เนื่องจากไม่ใช่การเติบโตที่มาจากภาคอสังหาริมทรัพย์และการบริโภคที่นักลงทุนคาดหวังเห็นการฟื้นตัว แต่มาจากภาคการส่งออก

 

จากการที่ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นจีนกู้ยืมไปลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจนมากเกินความต้องการและก่อหนี้มากเกินไป ทำให้ไม่สามารถใช้แนวทางนี้กระตุ้นเศรษฐกิจได้แล้ว ส่วนการสนับสนุนการพัฒนาในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไม่ได้มีผลมากพอทำให้เศรษฐกิจจีนฟื้นตัว ขณะที่มาตรการพลิกฟื้นภาคอสังหาที่ออกมา แม้จะตรงจุด แต่ก็ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน ทั้งการให้บริษัทอสังหาปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มความต้องการซื้อผ่านการให้รัฐวิสาหกิจและเทศบาลท้องถิ่นซื้ออสังหามาปล่อยเช่าหรือขายต่อพร้อมสนับสนุนดอกเบี้ยต่ำให้ผู้ที่ซื้อต่อ

 

โดยมองว่าหากในการประชุมใหญ่คณะกรรมการกลางแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 3 (3rd Plenum) ในเดือนกรกฎาคมนี้ รัฐบาลจีนประกาศนโยบายที่ชัดเจนมากพอในการช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ฟื้นภาคอสังหาและการบริโภคได้ชัดเจน ก็จะฟื้นความเชื่อมั่นและสนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นจีนได้ เพราะตัวเลขในภาคอสังหาและการบริโภคที่ฟื้นตัว เป็นตัวบ่งชี้สำคัญที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว นอกจากนี้เรายังคาดหวังว่ารัฐบาลจีนจะเปิดเสรีในการทำธุรกิจมากขึ้น ลดข้อจำกัดของภาคเอกชน เพื่อให้ธุรกิจในตลาดทุนมีแรงจูงใจผลักดันการเติบโต

 

หากพิจารณาปัจจัยพื้นฐานของตลาดหุ้นจีนจะพบว่าไม่ได้แย่ แม้ตลาดหุ้นจีนจะมีกลุ่มธุรกิจที่ซบเซาตามภาคอสังหา เช่น กลุ่มอสังหา, ธนาคาร และประกัน แต่ก็มีธุรกิจที่แข่งขันได้ในเวทีโลก และกำไรเติบโตอยู่ โดยเฉพาะบริษัทเทคโนโลยี, กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า และอีคอมเมิร์ซ ขณะที่สาเหตุที่ตลาดหุ้นจีนไม่ได้ปรับตัวขึ้นมากช่วงที่ผ่านมาเป็นเพราะนักลงทุนยังไม่มีความเชื่อมั่น โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ทำให้มีการขายหุ้นออกมาต่อเนื่อง โดยมูลค่าหุ้นจีนถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว

 

นับตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน ทั้งนักลงทุนจีนและนักลงทุนต่างชาติกลับเข้าไปซื้อหุ้นจีน H-Share แต่เงินยังไหลออกจากตลาดหุ้นจีน A-Share ซึ่งก็เป็นสัญญาณที่ดีว่านักลงทุนเริ่มมีมุมมองบวกกับจีนมากขึ้นเมื่อเทียบกับ 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เงินไหลออกในทุกตลาด อย่างไรก็ตาม ผลตอบแทนของดัชนีตลาดหุ้นจีนยังห่างไกลตลาดหุ้นพัฒนาแล้วมาก จากข้อมูลของ Bloomberg วันที่ 28 มิถุนายน 2567 พบว่าครึ่งปีแรก ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่น ปรับขึ้นสูงสุด 22.31% ตามด้วย S&P 500 ของสหรัฐอเมริกา ปรับขึ้น 16.32% ขณะที่ดัชนี MSCI China ซึ่งเป็นตัวแทนหุ้นจีนทั้งที่อยู่ในจีนและนอกจีน ปรับขึ้น 5.21% ดัชนี CSI 300 ตัวแทนหุ้นจีนแผ่นดินใหญ่ ปรับขึ้น 2.13%

 

เมื่อพิจารณารายอุตสาหกรรม พบว่าบนดัชนี CSI 300 หุ้นกลุ่มที่ให้ผลตอบแทนดีที่สุดช่วงครึ่งปีแรก เป็นกลุ่ม Defensive ที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ทนทานทุกสภาพตลาด เช่น กลุ่มพลังงาน ที่มีน้ำหนักบนดัชนี 3.7% ปรับขึ้นมา 32.51% ตามด้วยกลุ่มสาธารณูปโภค ที่มีน้ำหนักบนดัชนี 4.8% ปรับขึ้นมา 30.72% และกลุ่มบริการโทรคมนาคม ที่มีน้ำหนักบนดัชนี 4.0% ปรับขึ้นมา 14.19% ในขณะที่หุ้นกลุ่มเติบโต (Growth) เช่น กลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่มีน้ำหนัก 12.1% บนดัชนี -5.37% และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer Staples) ที่มีน้ำหนัก 12.1% บนดัชนี -8.74%

 

ขณะที่ผลงานรายกลุ่มอุตสาหกรรมบนดัชนี MSCI China ก็สอดคล้องกับ CSI 300 คือกลุ่ม Defensive ปรับขึ้นได้ดี มีเงินไหลเข้ามากกว่ากลุ่มเติบโต สวนทางกับตลาดหุ้นอื่นๆ บนโลก ที่เงินลงทุนจะเข้าไปอยู่ในหุ้นกลุ่มเติบโตมากกว่า สะท้อนว่าทั้งนักลงทุนจีนและนักลงทุนต่างชาติที่ลงทุนในจีนยังมีความระมัดระวังค่อนข้างมาก เพราะยังไม่มั่นใจในนโยบายรัฐบาลจีน แต่เมื่อไรที่มีการประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจชัดเจน ฟื้นความเชื่อมั่นได้ ก็คาดว่าการลงทุนในหุ้นกลุ่มเติบโตของจีนที่ยังมีเงินไหลเข้าช้ากว่าตลาดหุ้นอื่นในโลกและมูลค่าไม่แพง ก็มีโอกาสให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้

 

โดยเราแนะนำให้ลงทุนระยะยาว 3-5 ปีขึ้นไป เพราะตลาดหุ้นจีนยังไม่ได้อยู่ในช่วงของการเติบโตที่ชัดเจนแบบตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่การฟื้นตัวเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป จึงไม่เหมาะสำหรับนักลงทุนที่คาดหวังผลตอบแทนแบบรวดเร็ว เพราะตลาดหุ้นจีนจะฟื้นตัวได้รวดเร็วกรณีที่ทางการจีนมีมาตรการสนับสนุนที่ชัดเจนมากพอ

 

คำเตือน:

  • การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไข ผลตอบแทน และความเสี่ยงก่อนตัดสินใจลงทุน
  • สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ SCB Call Center โทร. 0 2777 7777
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X