อินเดียเปิดฉาก ‘ปฏิบัติการซินดูร์’ โจมตีทางอากาศในพื้นที่เป้าหมาย 9 แห่งของปากีสถานและแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน ช่วงกลางดึกที่ผ่านมา ยกระดับความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างทั้งสองประเทศเพื่อนบ้านที่ต่างครอบครองอาวุธนิวเคลียร์
ชนวนการโจมตี อินเดียระบุชัดเจนว่า เพื่อตอบโต้กลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุโจมตีนักท่องเที่ยวในแคว้นแคชเมียร์ ฝั่งอินเดีย เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน โดยรัฐบาลอินเดียกล่าวโทษปากีสถาน ว่าสนับสนุนกลุ่มที่ก่อเหตุ แต่ปากีสถานปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง
จนถึงตอนนี้มีรายงานผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากการโจมตีของอินเดียแล้วหลายราย ขณะที่หลายฝ่ายจับตามองท่าทีของปากีสถานที่ยืนยันจะตอบโต้ ท่ามกลางความกังวลว่าความขัดแย้งจะบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์หรือไม่
และนี่คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจนถึงตอนนี้
เกิดอะไรขึ้น?
ปฏิบัติการโจมตีเกิดขึ้นในวันนี้ (7 พฤษภาคม) ช่วงหลังเที่ยงคืนตามเวลาท้องถิ่น โดยมีเสียงเครื่องบินรบอินเดียและเสียงระเบิดดังสนั่นในหลายเมืองของปากีสถาน และพื้นที่พรมแดนแคว้นแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้การปกครองของปากีสถาน
ภายหลังเกิดเหตุไม่นาน โฆษกกองทัพปากีสถาน ประกาศว่าได้ส่งเครื่องบินรบทุกลำขึ้นบินตอบโต้ การโจมตีที่มาจากน่านฟ้าของอินเดีย และประณามว่าเป็นการกระทำอันน่าละอายและขี้ขลาด
ในเวลาต่อมารัฐบาลอินเดียได้ออกแถลงการณ์ ยืนยันว่า ได้ทำการโจมตีสถานที่ 9 แห่ง ในปากีสถานและแคชเมียร์-ปากีสถาน โดยดำเนินการอย่างมีเป้าหมาย รอบคอบ ไม่ลุกลามบานปลาย และไม่มีการกำหนดเป้าหมายทางทหารของปากีสถานแต่อย่างใด
“อินเดียได้แสดงให้เห็นถึงความยับยั้งชั่งใจอย่างมากในการเลือกเป้าหมายและวิธีการดำเนินการ” แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่รัฐบาลอินเดียยังชี้แจงว่า คำสั่งโจมตีทางอากาศดังกล่าว มีขึ้นหลังจากเกิดเหตุ ‘กลุ่มก่อการร้าย’ โจมตีกลุ่มนักท่องเที่ยวและพลเรือนในเมืองพาฮาลแกม ในแคว้นแคชเมียร์-อินเดีย เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา และยืนยันว่าอินเดียพุ่งเป้าโจมตีโครงสร้างพื้นฐานของสถานที่ต่างๆ ที่กลุ่มก่อการร้ายใช้ในการวางแผนและสั่งการโจมตี
สื่ออินเดียระบุว่าการโจมตีของกองทัพอินเดีย มุ่งเป้าไปที่กลุ่มติดอาวุธอิสลาม Jaish-e-Mohammed และ Lashkar-e-Taiba โดยเฉพาะ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีฐานอยู่ในแคว้นแคชเมียร์และต้องการให้ภูมิภาคนี้รวมเข้ากับปากีสถาน
ผลการโจมตี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 8 คน และบาดเจ็บอีกราว 35 คน
โดยการโจมตีที่รุนแรงที่สุดเกิดขึ้นที่เมืองอาห์เมดปุระ ชาร์เกีย (Ahmedpur Sharqia)ในจังหวัดปัญจาบ ทางตะวันออกของปากีสถาน โดยมีมัสยิดถูกโจมตี และมีผู้เสียชีวิต 5 คน รวมถึงเด็กหญิงวัย 3 ขวบ
ส่วนในแคชเมียร์-ปากีสถาน มีการโจมตีเมืองมูซัฟฟาราบาดและเมืองคอตลี ซึ่งส่งผลให้มัสยิด 2 แห่งถูกทำลาย และมีรายงานเด็กหญิงวัย 16 ปี และชายวัย18 ปี เสียชีวิต
ทางด้านคาวาจา อาซิฟ (Khawaja Asif) รัฐมนตรีกลาโหมปากีสถาน ให้สัมภาษณ์สื่อหลังเกิดเหตุ โดยยืนยันว่าเครื่องบินของอินเดียอย่างน้อย 5 ลำถูกยิงตก และทหารอินเดียหลายนายถูกจับกุม แต่ทางกองทัพปากีสถานยังไม่ออกมายืนยันข้อมูลนี้
นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าเกิดการยิงปืนใหญ่โจมตีตอบโต้ข้ามพรมแดนบริเวณเส้นควบคุมทางทหาร (Line of Control) ที่แบ่งแยกแคว้นแคชเมียร์-ปากีสถานและแคชเมียร์-อินเดีย ซึ่งส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บแล้วอย่างน้อย 3 คน ขณะที่กองทัพอินเดียอ้างว่า มีพลเรือนในพื้นที่แคชเมียร์-อินเดีย อย่างน้อย 3 คน เสียชีวิตจากการกระทำของกองทัพปากีสถาน แต่ไม่ระบุรายละเอียดที่แน่ชัด
ผลกระทบจากการโจมตีอื่นๆ พบว่าเกิดไฟฟ้าดับในหลายจุด โรงเรียนและมหาวิทยาลัย ในจังหวัดปัญจาบและแคชเมียร์-ปากีสถาน ต้องปิดชั่วคราว ขณะที่หลายสายการบินต้องประกาศเปลี่ยนเส้นทางหลบเลี่ยงน่านฟ้าปากีสถาน เพื่อความปลอดภัย
‘ปฏิบัติการซินดูร์’ คืออะไร
การโจมตีครั้งนี้ ใช้ชื่อว่า ปฏิบัติการซินดูร์ (Operation Sindoor) โดยเป็นชื่อรหัสทางการทหารของสิ่งที่อินเดียเรียกว่าเป็น ‘การโจมตีอย่างแม่นยำ’ ต่อปากีสถาน ซึ่งอ้างอิงถึงผงสีแดงชาด ที่ผู้หญิงฮินดูใช้ทาบนหน้าผากหลังแต่งงาน
ความหมายของปฏิบัติการซินดูร์ สะท้อนถึงการแก้แค้นกรณีการโจมตีสังหารหมู่ในแคชเมียร์-อินเดีย ที่ทำให้ผู้หญิงหลายคนกลายเป็นม่าย
โดยช่วงไม่กี่วันหลังจากเหตุโจมตี ปรากฏภาพผู้หญิงที่นอนอยู่ข้างร่างไร้วิญญาณของสามี แพร่กระจายไปทั่วโลกออนไลน์ กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความเจ็บปวดที่เหยื่อของการโจมตีต้องเผชิญ
ขณะที่รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของอินเดียต่างก็โพสต์ภาพลงบน X เป็นภาพของชื่อปฏิบัติการ Operation Sindoor และในตัวอักษรมีรูปตลับผงซินดูร์สีแดง ที่หกเลอะคล้ายกับเลือด
“โลกต้องไม่ยอมให้มีการก่อการร้ายโดยเด็ดขาด” เอส. ไจแชนการ์ (S. Jaishankar) รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดียเขียนบน X
ขณะที่ รัชนาถ ซิงห์ (Rajnath Singh) รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม โพสต์ข้อความเป็นภาษาฮินดี หลังเปิดฉากการโจมตีทางอากาศ ว่าเป็น “ชัยชนะของอินเดีย”
ปากีสถานพร้อมตอบโต้
ทางด้าน นายกรัฐมนตรีเชห์บาซ ชารีฟ (Shehbaz Sharif ) ของปากีสถาน โพสต์แถลงการณ์ผ่าน X ประณามการโจมตีของอินเดีย ว่าเป็น ‘การโจมตีที่ขี้ขลาด’ และเป็นการโจมตีโดยไร้การยั่วยุ พร้อมประกาศจะทำการตอบโต้การกระทำของอินเดีย
ขณะที่กระทรวงการต่างประเทศปากีสถานออกแถลงการณ์ประณามอินเดียว่าได้กระทำการก่อสงครามอย่างโจ่งแจ้งโดยปราศจากการยั่วยุ ซึ่งส่งผลให้พลเรือนรวมถึงสตรีและเด็กเสียชีวิต
“เราขอประณามการกระทำอันขี้ขลาดของอินเดีย ซึ่งเป็นการละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติ กฎหมายระหว่างประเทศ และบรรทัดฐานที่วางไว้ของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างโจ่งแจ้ง”
แถลงการณ์ยังระบุว่า รัฐบาลอิสลามาบัดได้แจ้งต่อคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) เกี่ยวกับ ‘การรุกรานของอินเดีย’ และตอบโต้ว่า อินเดียใช้การก่อการร้ายเพื่อปลุกปั่นเรื่องราวหลอกลวงเกี่ยวกับการตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นอันตรายต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาค
“การกระทำที่หุนหันพลันแล่นของอินเดียทำให้สองประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์เข้าใกล้ความขัดแย้งครั้งใหญ่ ปากีสถานขอสงวนสิทธิ์ที่จะตอบโต้อย่างเหมาะสมในเวลาและสถานที่ที่ต้องการ ตามมาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ และตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ”
UN เรียกร้องทุกฝ่ายยับยั้งชั่งใจ
โฆษกของอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ (UN) เผยแพร่แถลงการณ์ แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อปฏิบัติการทางทหารข้ามพรมแดนของอินเดีย และเรียกร้องให้ทั้งสองประเทศใช้ความยับยั้งชั่งใจทางทหารอย่างสูงสุด
“โลกไม่สามารถยอมให้เกิดการเผชิญหน้าทางทหารระหว่างอินเดียและปากีสถานได้” แถลงการณ์ระบุ
ขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ตอบคำถามผู้สื่อข่าวทำเนียบขาวเกี่ยวกับการโจมตีที่เกิดขึ้น โดยชี้ว่า เป็นเรื่องที่ ‘น่าละอาย’ และอินเดียและปากีสถานมีความขัดแย้งกันมายาวนาน ซึ่งเขาหวังว่ามันจะจบลงได้ในเร็วๆ นี้
จะนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์หรือไม่?
ผศ. ดร.มาโนชญ์ อารีย์ อาจารย์ภาควิชารัฐศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ มองสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่าค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและอันตราย เพราะการโจมตีครั้งนี้ของอินเดียเป็นการจงใจเปิดการสู้รบหนักกับปากีสถาน และลักษณะของการโจมตีหลายจุดใกล้จุดติดตั้งขีปนาวุธ ทั้ง
ในรัฐปัญจาบ และในแคชเมียร์-ปากีสถาน
ในส่วนการตอบโต้ของปากีสถานนั้น เขามองว่า จากการกระทำของอินเดีย ซึ่งส่งผลให้มีพลเรือนทั้งเด็กและผู้หญิงเสียชีวิต ไม่ใช่กลุ่มก่อการร้าย ส่งผลให้เกิดกระแสกดดันและความโกรธแค้นจากประชาชนที่ต้องการให้กองทัพตอบโต้
อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลที่ว่าสถานการณ์จะลุกลามบานปลายไปสู่สงครามนิวเคลียร์หรือไม่นั้น ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าวว่า อินเดียส่งสัญญาณชัดเจนว่า ต้องการยกระดับความขัดแย้ง แต่ไม่ถึงขั้นทำให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ โดยยังไม่มีการพูดถึงนิวเคลียร์ เพราะอาจสร้างความตื่นตระหนก และทำให้ประชาชนต่อต้านการขยายความขัดแย้ง
“อินเดียยังมีนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน (No First Use Policy) และในอีกแง่หนึ่งก็ไม่ต้องการให้เกิดสมดุลทางอำนาจในการสู้รบ เพราะปากีสถานเองก็มีอาวุธนิวเคลียร์” ผศ. ดร.มาโนชญ์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ทางฝั่งปากีสถานไม่มีนโยบายไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน และที่ผ่านมามีการข่มขู่ในลักษณะที่จะใช้ทุกวิธีการตอบโต้ รวมถึงนิวเคลียร์ ในกรณีปกป้องความมั่นคงของประเทศ ซึ่งต้องจับตามองว่าท่าทีในการตอบโต้ของปากีสถานหลังจากนี้จะเป็นเช่นไร
3 สัญญาณน่าจับตา
ผศ. ดร.มาโนชญ์ ชี้ว่ามี 3 สัญญาณที่น่าจับตามองจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้ ได้แก่
- อินเดียมีการใช้ขีปนาวุธในการโจมตี และการตอบโต้จากฝ่ายปากีสถานน่าจะเป็นไปในแบบเดียวกัน
- ต้องจับตาดูปฏิบัติการภาคพื้นดิน เพราะอินเดียและปากีสถานยังมีความขัดแย้งในแคชเมียร์ที่รุนแรง โดยอาจจะใช้จังหวะนี้รุกคืบเข้ามาในอีกฝั่ง และช่วงที่ผ่านมาปากีสถานยังแสดงท่าทีต้องการยกเลิกข้อตกลงชิมลา ซึ่งเป็นสนธิสัญญายุติข้อขัดแย้งและกำหนดเส้นแบ่งเขตหยุดยิง แบ่งพื้นที่พรมแดนแคชเมียร์ จึงเป็นสัญญาณที่สะท้อนว่าอาจจะนำมาซึ่งการขยายการบุกภาคพื้นดิน
- อาวุธของทั้งสองฝ่าย แม้ปากีสถานจะมีอาวุธและเครื่องบินรบน้อยกว่าอินเดีย แต่ก็มีคุณภาพสูง เพราะส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐฯ เพราะเป็นพันธมิตรกันมายาวนาน แต่อาวุธของอินเดีย นอกจากผลิตเองก็จะมาจากรัสเซียเป็นหลัก ดังนั้นในเชิงศักยภาพอาวุธปากีสถานเหนือกว่า แต่อินเดียมากกว่าในเชิงปริมาณ
โดยในแง่การเมืองระหว่างประเทศ สหรัฐฯ และนโยบายต่อเอเชียใต้หลังเหตุการณ์ 911 คือต้องการบาลานซ์ความสัมพันธ์ทั้งอินเดียและปากีสถาน และพยายามดึงทั้งคู่มาร่วมสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ซึ่งการโจมตีในอินเดียหลายครั้ง สหรัฐฯ เข้ามาเป็นตัวกลางไกล่เกลี่ยไม่ให้บานปลาย และในครั้งนี้ ทรัมป์ก็ส่งสัญญาณว่า ไม่ต้องการให้ความขัดแย้งของอินเดียและปากีสถานยกระดับ
ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่าสิ่งที่น่าสนใจอีกอย่าง คือ สหรัฐฯจะมีเงื่อนไขอะไรเรียกร้องต่อปากีสถานหรือไม่ ถ้าหากสหรัฐฯ จะมาเป็นตัวกลางยุติศึก
ที่ผ่านมาตั้งแต่ยุคทรัมป์ สมัยแรก มีข่าวว่าสหรัฐ เคยขอตั้งฐานทัพในปากีสถาน แต่ถูกนายกรัฐมนตรีปากีสถานขณะนั้นปฏิเสธแบบไร้เยื่อใย ซึ่งน่าจับตามองว่าจะใช้จังหวะเวลานี้หรือไม่
ขณะเดียวกัน ในมุมนักวิชาการปากีสถานบางส่วน มองว่าสถานการณ์ตอนนี้อันตรายมาก เนื่องจากบริบทความใกล้ชิดของอินเดียกับอิสราเอล ทำให้มองได้ว่าวันนี้อินเดียกำลังเดินตามอิสราเอล ที่ไม่ได้สนใจกฎหมายระหว่างประเทศ
นอกจากนี้ ผศ. ดร.มาโนชญ์ ยังชี้ว่า มีมิติอื่นๆ ของสถานการณ์นี้ที่ต้องจับตา เช่น ปัญหาความขัดแย้งในประเทศ หรือการปลุกกระแสชาตินิยมภายในทั้งสองประเทศ
โดยทางฝั่งอินเดียคือกระแสต่อต้านปากีสถาน แต่ขณะเดียวกันก็เกิดกระแสต่อต้านมุสลิมในอินเดีย และกระแสต่อต้านทางศาสนา
ส่วนฝั่งปากีสถานต้องจับตามองเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง ซึ่ง ผศ. ดร.มาโนชญ์ มองว่า เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุขัดแย้งลักษณะนี้และผู้นำไม่เข้มแข็งมากพอ ก็อาจจะนำไปสู่กระแสต่อต้านและท้ายที่สุดอาจเกิดการรัฐประหารได้ ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในช่วงยุคสงครามคาร์กิลในปี 1971
อีกประเด็นที่น่าสนใจ คือในมุมของปากีสถาน เหตุการณ์ครั้งนี้อาจเป็นโอกาสสำคัญที่จะยกระดับปัญหาขัดแย้งในแคชเมียร์ไปสู่สากล โดยรัฐบาลปากีสถานต้องการให้ประชาคมโลก หรือ UN เข้ามาแก้ปัญหา แต่อินเดียมองเป็นปัญหาภายใน และจะคุยแค่สองฝ่าย
“ครั้งนี้ UNSC อาจจะเอาเรื่องนี้เข้าไปคุย ก็จะเป็นประวัติศาสตร์ที่สำคัญ แต่จะทำให้อินเดียไม่พอใจ” เขากล่าว
อ้างอิง: