วันนี้ (3 กรกฎาคม) เมื่อเวลา 17.00 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเปิดการประชุมรัฐสภา ณ ห้องโถงพิธี ชั้น 11 อาคารรัฐสภา ถนนสามเสน แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิตกรุงเทพมหานคร
โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ศาสตราจารย์พิเศษพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา เฝ้าฯ เสด็จ พรพิศ เพชรเจริญ เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร กล่าวรายงาน นภาภรณ์ ใจสัจจะ เลขาธิการวุฒิสภา และ โสมอุษา บูรณะเหตุ รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ถวายพวงมาลัยข้อพระกร
จากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จขึ้นชั้น 11 เข้าสู่ห้องโถงพิธี ทรงยืนหน้าพระราชอาสน์ และทรงมีพระราชดำรัสเปิดประชุมรัฐสภา ความว่า
“บัดนี้การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้เสร็จสิ้นลง และมีการเรียกประชุมรัฐสภาพุทธศักราช 2566 แล้ว ข้าพเจ้าขอเปิดประชุมรัฐสภาตั้งแต่วาระนี้เป็นต้นไป ขอให้ท่านทั้งหลายผู้เป็นสมาชิกของสภาแห่งนี้ ได้ระลึกไว้เสมอว่า ท่านได้เป็นผู้ได้รับมอบหมายจากประชาชนให้มาเป็นตัวแทนของคนทั้งประเทศ ในการใช้อำนาจนิติบัญญัติเพื่อดำเนินการปกครองและพิจารณาออกกฎหมายต่างๆ ให้รัฐบาลถือเป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน
“ดังนั้น ประเทศชาติจะมีความเจริญเพียงไร ย่อมขึ้นอยู่กับสติปัญญา ความสามารถและความสุจริตบริสุทธิ์ใจของท่าน ที่จะปฏิบัติหน้าที่ทั้งปวง โดยยึดถือประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน เป็นสิ่งที่มีความสำคัญสูงสุด หากทุกท่านสำนึกตระหนักเช่นนี้อยู่เสมอก็จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สำเร็จลุล่วงเป็นประโยชน์เป็นความเจริญมั่นคงของอาณาประชาราษฎร์และชาติบ้านเมืองอย่างแท้จริง
“ขออำนวยพรให้การดำเนินงานของรัฐสภาเป็นไปโดยเรียบร้อย สำเร็จผลที่พึงประสงค์ทุกประการ ทั้งขอให้ทุกท่านมีความสุข ความเจริญทุกเมื่อไป”
โอกาสนี้ องคมนตรี ประธานองค์กรอิสระ ทูตานุทูต สมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา คณะผู้บริหารสถาบันพระปกเกล้า ร่วมพิธี
ทั้งนี้ เมื่อมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเสร็จสิ้นลงแล้ว ภายในสามสิบวัน นับแต่วันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจะมีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก ซึ่งการประชุมในครั้งแรกนี้ถือเป็นพิธีการที่สำคัญที่สุดของรัฐสภา เนื่องด้วยพระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาสมัยสามัญทั่วไปครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาประกอบรัฐพิธีก็ได้
ดังนั้น การเรียกประชุมรัฐสภาในครั้งแรก หรือที่เรียกว่า รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ที่พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธี จึงถือเป็นพิธีการหนึ่งที่สำคัญ และเป็นเหตุการณ์อันทรงเกียรติที่ถือปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่โบราณของประเทศไทยที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตย
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา เริ่มขึ้นอย่างไม่เป็นทางการในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โดยพบว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งสภากรรมการองคมนตรีขึ้น และเปิดประชุมครั้งแรกในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2470
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมด้วยพระองค์เอง แต่พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธรเสนาบดี ราชเลขาธิการ อัญเชิญไปอ่านเปิดประชุม พระราชดำรัสตอนหนึ่งความว่า
“…ท่านย่อมทราบแล้วว่าตำนานของกรุงสยามตั้งแต่โบราณกาลมา การปกครองประเทศย่อมอยู่ในพระราชอำนาจอันสิทธิ์ขาดของสมเด็จพระเจ้าแผ่นดินพระองค์เดียว แต่เมื่อบ้านเมืองเจริญขึ้น สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินก็ได้ทรงตั้งแต่งผู้ที่ทรงวางพระราชหฤทัยเป็นเสนาบดี ให้บังคับบัญชากระทรวง ทบวงการต่างๆ เพื่อปลดเปลื้องพระราชภาระ…”
ต่อมาเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ที่มีรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ ได้มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกในวันที่ 28 มิถุนายน 2475 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ก็ได้อาศัยประเพณีที่ถือปฏิบัติมาใช้เปิดประชุมสภา โดยพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชกระแสรับสั่งให้เจ้าพระยามหิธร เสนาบดีกระทรวงมุรธาธร อัญเชิญไปอ่านเปิดการประชุม
จากนั้นภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปแล้วจึงมีรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาเรื่อยมา และมีการบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในรัฐธรรมนูญทุกฉบับอีกด้วย โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 121 วรรคหนึ่ง ว่า
“ภายในสิบห้าวันนับแต่วันประกาศผลการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อันเป็นการเลือกตั้งทั่วไปให้มีการเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อให้สมาชิกได้มาประชุมเป็นครั้งแรก”
และมาตรา 122 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ว่า “พระมหากษัตริย์ทรงเรียกประชุมรัฐสภา ทรงเปิดและทรงปิดประชุม พระมหากษัตริย์จะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงทำรัฐพิธีเปิดประชุมสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งแรกด้วยพระองค์เอง หรือจะโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระรัชทายาทซึ่งทรงบรรลุนิติภาวะแล้ว หรือผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้แทนพระองค์มาทำรัฐพิธีก็ได้”
แม้ต่อมาจะมีการสร้างอาคารรัฐสภาขึ้นใหม่ทดแทนการใช้โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมแล้ว แต่ยังคงประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา ณ โถงพิธีพระที่นั่งอนันตสมาคมเช่นเดิม เว้นแต่จะกำหนดเป็นที่อื่นเป็นครั้งๆ ไป ทั้งนี้ พระที่นั่งอนันตสมาคมใช้เป็นสถานที่ประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภาครั้งสุดท้ายสำหรับสภานิติบัญญัติแห่งชาติในปี 2557 ก่อนปิดปรับปรุงในปี 2560
สำหรับในปี 2562 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงเปิดประชุมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2562 ณ ห้องประชุมวิเทศสโมสร กระทรวงการต่างประเทศ
สำหรับพิธีเปิดประชุมรัฐสภาในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกในรัชกาลปัจจุบัน และในปี 2566 ได้ใช้ห้องโถงพิธี ชั้น 11 ของอาคารรัฐสภาไทย หรือสัปปายะสภาสถาน เป็นสถานที่ประกอบพิธี ซึ่งสัปปายะสภาสถานถือเป็นอาคารรัฐสภาหลังที่ 3 ของประเทศไทย ที่ใช้ประกอบพิธีเปิดประชุมสภาเป็นครั้งแรกของประเทศ
รัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภานั้น เป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่สืบต่อกันมาแต่โบราณ โดยสิ่งสำคัญในการที่พระมหากษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพิธีเปิดประชุมสภานั้น คือพระราชดำรัสที่ได้พระราชทานแก่สมาชิกรัฐสภา ซึ่งสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะต้องน้อมใส่เกล้า และยึดถือเป็นแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและประเทศชาติอย่างสูงสุด
ภาพ: สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
อ้างอิง:
- สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร