จากกรณีที่ ณฐพร โตประยูร อดีตที่ปรึกษาประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นผู้ยื่นคําร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 โดยใช้สิทธิ์ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 50 โดยมี 4 ผู้ถูกร้อง ดังนี้ พรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 1, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ถูกร้องที่ 2, ปิยบุตร แสงกนกกุล ผู้ถูกร้องที่ 3, คณะกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ ผู้ถูกร้องที่ 4 ทั้งนี้ณฐพรขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ รวมทั้งเพิกถอนสิทธิ์การเลือกตั้งของ ธนาธร, ปิยบุตร และกรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่
ต่อมา 25 ธันวาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาคำร้องของณฐพรว่า การกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 เป็นการใช้สิทธิ์หรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้โดยไม่ต้องทำการไต่สวน ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง โดยศาลรัฐธรรมนูญได้อภิปรายเพื่อนำไปสู่การวินิจฉัย และนัดอ่านคำวินิจฉัยในวันที่ 21 มกราคม 2563 เวลา 11.30 น.
กระทั่งวันนี้ 21 มกราคม 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเริ่มอ่านคำวินิจฉัยในเวลา 12.03 น. โดยมีผู้ร้องคือ ณฐพร โตประยูร ส่วนผู้ถูกร้องศาลได้แจ้งให้ทราบแล้ว แต่ไม่มาฟังคำวินิจฉัย ศาลใช้เวลาในการอ่านคำวินิจฉัยประมาณ 10 นาที โดยมีประเด็นพิจารณาดังนี้
ประเด็นพิจารณา: ข้อบังคับ นโยบาย และสัญลักษณ์พรรคอนาคตใหม่ เป็นการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองตามมาตรา 49 ของรัฐธรรมนูญหรือไม่
ศาลพิจารณาเห็นว่า ผู้ถูกร้องที่ 2 (ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ) ได้ยื่นจัดตั้งพรรคผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคอนาคตใหม่) เป็นพรรคการเมือง และนายทะเบียนพรรคการเมืองโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการเลือกตั้งให้จัดตั้งพรรคการเมืองได้ และผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคอนาคตใหม่) ก็เป็นพรรคการเมืองที่ถูกจัดตั้งถูกต้องตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง มีประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แสดงให้เห็นว่าผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคอนาคตใหม่) ไม่มีลักษณะเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ประเด็นพิจารณา: ข้อบังคับพรรคใช้ถ้อยคำว่า ‘หลักประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’
ข้อบังคับของผู้ถูกร้องที่ 1 (พรรคอนาคตใหม่) ใช้ถ้อยคำว่า ‘หลักการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนรายการคำประกาศอุดมการณ์ทางการเมืองข้อ 6 วรรคสอง ที่กำหนดว่า ‘พรรคอนาคตใหม่ยึดมั่นในหลักการประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ’ ศาลเห็นว่าการใช้ข้อความในข้อบังคับพรรคการเมือง ควรให้มีความหมายชัดเจน ไม่คลุมเครือ ซึ่งแตกต่างจากบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 ที่บัญญัติว่า ‘ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’
ศาลเห็นว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งมีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและมีมติให้เพิกถอนข้อบังคับได้ เพื่อป้องกันความสับสนหรือขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้น และเห็นสมควรให้ผู้ที่เกี่ยวข้องช่วยกันแก้ไขให้สอดคล้องกับบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญต่อไป
ประเด็นพิจารณา: ธนาธร-ปิยบุตร-กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ มีพฤติกรรมคลั่งไคล้ปรัชญาตะวันตก เป็นขบวนการปฏิกษัตริย์นิยม
การแสดงความเห็นในช่วงต่างๆ ของผู้ถูกร้องที่ 2, 3, 4 (ธนาธร, ปิยบุตร, กรรมการบริหารพรรค) ทั้งก่อนและหลังจัดตั้งพรรคอนาคตใหม่นั้น ซึ่งปรากฏตามสื่อมวลชนและสื่อสาธารณชนที่ผ่านมา เช่น การให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน การแสดงความเห็นต่อหน้าสาธารณชน หรือการแสดงแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
ศาลเห็นว่ายังไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ถูกร้องมีพฤติการณ์หรือการกระทำตามที่ผู้ร้องอ้างแต่อย่างใด โดยในคดีมีเพียงข้อมูลข่าวสารจากเว็บไซต์ สื่อสิ่งพิมพ์ และอินเทอร์เน็ตเท่านั้น จึงยังไม่เพียงพอที่จะพิจารณาว่าเข้าตามมาตรา 49 วรรคหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องกับการใช้สิทธิเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองฯ
ส่วนกรณีที่มีการทำอื่นใดของผู้ถูกร้องทั้ง 4 จะเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องไปว่ากล่าวกันอีกส่วนหนึ่งต่างหากตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป
สรุป: อาศัยเหตุผลดังกล่าว ศาลรัฐธรรมนูญจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ว่าการกระทำของผู้ถูกร้องทั้ง 4 ตามที่ผู้ร้องกล่าวอ้างไม่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 วรรคหนึ่ง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า