×

เปิดประเทศ…แล้วอย่างไรต่อ

22.11.2021
  • LOADING...
เปิดประเทศ

ในที่สุด ไทยก็ได้ฤกษ์เปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน แม้จะช้ากว่ากำหนด 120 วันที่ประกาศไว้เดิมไปบ้าง (14 ตุลาคม 2564) แต่ก็ต้องถือว่ารัฐบาลทำได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะการจัดหาและการกระจายวัคซีน และการประเมินสถานการณ์การแพร่ระบาด ทำให้การเปิดประเทศเป็นไปอย่างราบรื่น โดยยังไม่มีสัญญาณปะทุของการระบาดระลอกใหม่

 

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยกลับมาพร้อมกับการเปิดประเทศ ทำให้หลายฝ่ายมั่นใจว่าเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 3 ติดลบน้อยกว่าคาดมาก ทำให้เศรษฐกิจปีนี้ทั้งปีน่าจะขยายตัวได้เกินร้อยละ 1 ต่อปี ในขณะที่เศรษฐกิจปีหน้ามองกันไว้ที่ประมาณร้อยละ 4 ต่อปี ซึ่งถ้าเป็นไปตามนี้ ต้นปี 2566 เศรษฐกิจไทยก็จะกลับไปที่ระดับก่อนการระบาดของโควิด ที่ทำให้เศรษฐกิจในปีที่แล้วหดตัวลึกถึงกว่าร้อยละ 6 ต่อปี

 

อย่างไรก็ดี การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยถือว่าช้ามาก เมื่อเทียบกับประเทศส่วนใหญ่ที่ระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในปัจจุบันกลับมาใกล้เคียงหรือสูงเกินกว่าระดับก่อนโควิดแล้ว ทั้งนี้ เป็นเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยไปผูกโยงกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฟื้นตัวช้า ต่างจากประเทศส่วนใหญ่ที่ฟื้นตัวจากภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ไม่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยว ซึ่งฟื้นตัวได้เร็วแม้การระบาดของโควิดยังมีต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังไม่มั่นคงนัก ด้วยความที่เครื่องยนต์เศรษฐกิจส่วนใหญ่ ยกเว้นภาคส่งออก ถูกกระทบรุนแรงจากการปิดประเทศ โจทย์สำคัญนับจากนี้ จึงต้องเป็นการดูแลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่องโดยไม่สะดุด ทำนองเดียวกับผู้ป่วยที่เพิ่งออกจากโคม่าที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ จนกว่าผู้ป่วยจะกลับมาแข็งแรงในระดับหนึ่ง ซึ่งเป็นอะไรที่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐ (แพทย์และพยาบาล) และภาคเอกชน (ผู้ป่วยและญาติ)

 

ส่วนตัวผมมองว่ามีสามเรื่องหลักที่จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาแรงส่งของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แบ่งออกได้เป็น ด้านสาธารณสุข ด้านการเงิน และด้านการคลัง ที่ต้องสอดประสานไปด้วยกันตามลำดับ

 

ด้านสาธารณสุข คือการดูแลไม่ให้เศรษฐกิจต้องกลับไปล็อกดาวน์ในวงกว้างอีกครั้ง เนื่องจากการล็อกดาวน์แต่ละครั้งมีต้นทุนทางเศรษฐกิจมหาศาล เพียงแต่ที่ผ่านมาเราไม่มีทางเลือก เพราะถ้าไม่ล็อกดาวน์เป็นวงกว้าง ระบบสาธารณสุขมีแนวโน้มไม่สามารถรองรับจำนวนผู้ป่วยวันละหลายหมื่นคนได้ สุดท้ายเศรษฐกิจก็พังอยู่ดี

 

สิ่งที่ต่างไปรอบนี้ คือเรามีวัคซีน จริงอยู่ว่าคนที่ฉีดวัคซีนแล้วยังสามารถติดและแพร่เชื้อต่อได้ ดังที่เราเห็นการระบาดยังคงรุนแรงในในหลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนสูงกว่าเรามาก แต่จุดเปลี่ยนคืออัตราการตายในประเทศเหล่านี้ต่ำกว่าก่อนมีวัคซีนมาก ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ยังดำเนินได้ท่ามกลางการระบาดของโควิด (ยิ่งถ้าในระยะต่อไป มียารักษาโควิดที่มีประสิทธิผล คาดว่าแทบจะไม่แตกต่างอะไรเลยกับการอยู่ร่วมกับไข้หวัดใหญ่) และถ้าจำเป็นต้องมีการล็อกดาวน์ ก็จะเป็นวงจำกัดมาก

 

ถ้าดูอัตราการฉีดวัคซีนในประเทศล่าสุด จะเห็นว่าเราเริ่มเข้าใกล้ระดับที่หาคนมาฉีดได้ยากขึ้น ซึ่งจากประสบการณ์ในต่างประเทศ ในช่วงไมล์สุดท้ายนี้ การมีกลไกในการจูงใจให้คนมาฉีดวัคซีน อย่างไรก็ดีกว่าการคาดหวังให้คนมีความรับผิดชอบต่อส่วนรวม อย่างไรก็ดี เราไม่มีทางที่จะฉีดได้ครบทั้งประเทศ ดังนั้น ในแง่ของเศรษฐกิจ อาจโฟกัสไปที่แหล่งชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจ

 

นอกจากนี้ การประเมินความเพียงพอของการได้รับวัคซีนต้องพิจารณาชนิดของวัคซีน และมิติของเวลาประกอบไปด้วย โดยที่สำคัญที่สุดจากข้อมูลทางการแพทย์ คนที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคสองเข็มเมื่อกลางปี และยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเป็นเข็มที่สาม ในทางระบาดวิทยาแทบไม่ต่างอะไรจากคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีน ถ้าเรามองข้ามตรงนี้ไปอาจทำให้ประเมินสถานการณ์ผิดพลาดได้ การเร่งให้เข็มที่สามกับคนกลุ่มนี้จึงควรเป็นเป้าหมายสำคัญ ควบคู่ไปกับการเร่งฉีดวัคซีนให้กับคนที่ยังไม่เคยฉีด

 

ด้านการเงิน สิ่งสำคัญคือ การดูแลให้ภาวะการเงินผ่อนคลายต่อเนื่อง ดังนั้นการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นจนกว่าเศรษฐกิจจะสามารถไปต่อได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าภาวะปกติ แต่ที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การเติมสินเชื่อใหม่ และการเร่งให้สถาบันการเงินปรับโครงสร้างหนี้ให้กับลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และลูกหนี้รายย่อยอย่างยั่งยืน ซึ่งการดำเนินการด้านสินเชื่อและการปรับโครงสร้างหนี้นี้ ธปท. และสมาคมธนาคารไทยได้มีการผลักดันร่วมกันตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2564

 

ที่ผ่านมา ปริมาณหนี้เสียในระบบสถาบันการเงินปรับสูงขึ้นไม่มากนักเมื่อเทียบกับสภาวะเศรษฐกิจ สาเหตุหลักมาจากการพักชำระหนี้และการผ่อนคลายเกณฑ์การกำกับดูแลสถาบันการเงินชั่วคราวโดย ธปท. การเร่งดำเนินการด้านสินเชื่อและปรับโครงสร้างหนี้ในสเกลที่มากพอ นอกจากจะช่วยให้ลูกหนี้จำนวนมากไปต่อได้ ยังช่วยไม่ให้ปริมาณหนี้เสียในอนาคตสูงเกินไปจนเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน

 

ด้านการคลัง สิ่งสำคัญคือ การรักษาความต่อเนื่องของแรงกระตุ้นทางการคลัง ไหนๆ รัฐบาลก็ขยายเพดานหนี้สาธารณะแล้ว อย่าคิดเพียงว่าเป็นแค่หลักประกันในยามฉุกเฉิน โดยจากการประเมินล่าสุดของคณะกรรมการนโยบายการเงิน พบว่า แรงสนับสนุนเศรษฐกิจจากการใช้จ่ายภาครัฐมีแนวโน้มแผ่วลงจากที่ได้เร่งไปในช่วงก่อนหน้า

 

การรักษาแรงกระตุ้นทางการคลัง โดยเฉพาะในช่วงที่การใช้จ่ายภาคเอกชนยังคงอ่อนแอในช่วงแรกของการฟื้นตัว จะช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยรวมมีความมั่นคง และสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน ซึ่งสุดท้ายต้องเป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจแทนภาครัฐ

 

สิ่งที่ต้องระวังคือ การวางใจว่าตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจปีหน้าที่ร้อยละ 4 นั้นดีแล้ว รัฐไม่จำเป็นต้องกระตุ้นเพิ่มเติม ไม่เพียงเพราะการจะไปถึงตัวเลขร้อยละ 4 ยังมีความไม่แน่นอน แต่สำหรับเศรษฐกิจที่คาดว่าจะขยายตัวประมาณร้อยละ 1 ในปีนี้ หลังจากที่หดตัวไปร้อยละ 6 ในปีก่อนหน้า เป้าหมายที่เหมาะสมกว่าควรจะเป็นร้อยละ 5 ด้วยซ้ำ เพราะยิ่งเศรษฐกิจไทยกลับมาเป็นปกติได้เร็วเท่าไร ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันต่อทิศทางขาลงของเศรษฐกิจโลกที่อาจเกิดขึ้นในอีก 2-3 ปีข้างหน้า

 

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising