×

เปิดแผนขับเคลื่อน ขสมก. กับวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนให้รถเมล์ทันสมัย ยืนหยัดรับใช้คนกรุงเทพฯ

โดย THE STANDARD TEAM
08.09.2023
  • LOADING...
แผน ขสมก

กว่า 47 ปีที่องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) มุ่งให้บริการคนไทยมาอย่างยาวนาน ที่ผ่านมาเรียกได้ว่ามีการปรับตัวเพื่อรองรับบริบทสังคมและพฤติกรรมของประชาชนที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว วันนี้ถึงเวลาต้องสลัดภาพลักษณ์เก่า สู่การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้รถเมล์ทันสมัยมากกว่าเดิม โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการที่สะดวกและปลอดภัยมากขึ้น

 

กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริบทสังคมทุกอย่างเปลี่ยนไป ทุกคนมีทางเลือกมากขึ้น แน่นอนว่าทำให้องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ ซึ่งปีนี้ก้าวเข้าสู่ปีที่ 47 ต้องเดินหน้าปรับตัวเพื่อให้ผู้ใช้บริการรถเมล์มีความสะดวกสบายและมีความปลอดภัยในการเดินทางมากขึ้น

 

สำหรับภารกิจหลักของ ขสมก. เรามุ่งให้ความสำคัญในการวางแผนเส้นทางการเดินรถให้ผู้ใช้บริการมีความสะดวกสบายมากที่สุด ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ชูกลยุทธ์  ‘4 เพิ่ม 4 ลด’ เริ่มจากเป้าหมายที่ 1 คือ การปล่อยรถ ให้มีความถี่ที่เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลา ที่สำคัญคือต้องตรงเวลาด้วย เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถเช็กเวลาเดินรถ และวางแผนการเดินทางในชีวิตประจำวันได้ 

 

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ขสมก. มีเส้นทางเดินรถจำนวน 108 เส้นทาง ครอบคลุมการให้บริการทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล โดยมีรถโดยสารประจำทางทั้งหมด 2,885 คัน ทั้งรถโดยสารธรรมดาและรถโดยสารปรับอากาศ ซึ่งมีอายุการใช้งานตั้งแต่ 5-25 ปีขึ้นไป แต่มีการซ่อมบำรุงรักษาตามมาตรฐานความปลอดภัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สามารถรองรับการใช้บริการของประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง 

 

ตามด้วยกลยุทธ์ที่ 2 ขสมก. เรามองว่าเส้นทางในเขตเมืองส่วนใหญ่จะเป็นรถเมล์คันสีแดง ซึ่งปล่อยมลพิษมากกว่ารถโดยสารปรับอากาศที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ (NGV) จึงเริ่มนำรถโดยสาร NGV ที่เป็นพลังงานสะอาดเข้ามาวิ่งในเขตเมือง ซึ่งเปิดวิ่งแล้ว 1 เส้นทาง คือ สาย 205 วิ่งจากเดอะมอลล์ไลฟ์สโตร์ ท่าพระ ไปคลองเตย ปัจจุบันมีประมาณ 20 คัน ถือว่าได้รับการตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี และต่อจากนี้จะพยายามเพิ่มเส้นทางการวิ่งมากขึ้นตามลำดับ เพื่อให้สอดรับกับนโยบายของ ขสมก. และกระทรวงคมนาคม ที่ตั้งเป้าจะลดมลพิษที่เกิดขึ้นบนท้องถนน

 

ยิ่งไปกว่านั้น ยังช่วยลดข้อจำกัดการชำระค่าโดยสาร รวมถึงกลยุทธ์ที่ 3 ขสมก. ได้ลงทุนจัดซื้อ ‘กระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ’ หรือที่เรียกว่า E-Ticket ที่มีหน้าจอแสดงข้อมูลราคาค่าโดยสารและสามารถพรินต์ตั๋วรถเมล์ได้ในตัว ซึ่งจะช่วยให้พนักงานเก็บค่าโดยสารได้รับความสะดวกมากขึ้น เพราะหากสังเกตจะเห็นว่าที่ผ่านมาพนักงานต้องถือทั้งกระบอกเก็บเงิน ทั้งสะพายเครื่องแตะบัตร (EDC) ถือว่าลำบากมาก และถ้าเกิดกรณีเครื่องเสียขึ้นมา ก็มีโอกาสที่จะทำให้เก็บค่าโดยสารได้ไม่ครบ



เพราะเครื่องเก็บค่าโดยสารแบบเดิมใช้มานานกว่า 4-5 ปี โดยมีธนาคารกรุงไทยเป็นผู้พัฒนาเครื่องให้มาใช้งานรองรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ผ่านมามีข้อจำกัดหลายอย่าง เช่น เมื่อมีผู้โดยสารขึ้นรถเมล์มาเป็นกลุ่ม 5 คน ก็ไม่สามารถออกตั๋ว 5 ใบพร้อมกันได้ ซึ่งถ้าเป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้บริการหนาแน่นก็จะทำให้เสียเวลาค่อนข้างมาก 

 

จนกระทั่งพนักงานได้เปลี่ยนมาใช้กระบอกเก็บค่าโดยสารอัจฉริยะ ซึ่งเป็นศูนย์รวมของการรับชำระค่าโดยสารทุกประเภทเอาไว้ในที่เดียว ทำให้พนักงานได้รับความสะดวกในการเก็บค่าโดยสาร และที่สำคัญผู้โดยสารก็จะกลับมาใช้บริการรถโดยสารมากขึ้น

 

และกลยุทธ์ที่ 4 ปัจจุบัน ขสมก. เดินหน้ามุ่งสู่การเป็น Smart Terminal ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ หรือการพัฒนาอู่รถเมล์ให้สามารถรองรับการให้บริการในหลายรูปแบบได้ โดยจะเริ่มรีโนเวตอู่บางเขนให้ทันสมัย ภายในบริเวณจุดพักคอยจะมีจอมอนิเตอร์สำหรับให้ผู้ใช้บริการเช็กเวลาเดินรถ 

 

เรียกได้ว่าต่อจากนี้ อู่บางเขนจะเป็นศูนย์รวมของการเชื่อมต่อการเดินทาง ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาจอดภายในอู่เพื่อเดินทางไปยังจุดหมายปลายทางได้ โดย ขสมก. จะจัดรถ Shuttle Bus ส่งขึ้นรถไฟฟ้าบริเวณรอบๆ และในอนาคตจะมีการเปิดพื้นที่ในเชิงพาณิชย์เพิ่มด้วย ซึ่งจะทำให้ ขสมก. มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกช่องทางหนึ่ง

 

ซึ่งหากมองไปที่ทำเลย่านบางเขนนั้นมีศักยภาพสูงในการเชื่อมต่อการเดินทาง ทั้งรถไฟฟ้าสายสีเขียวและรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่กำลังจะเปิดให้บริการในอนาคต 

 

สเต็ปถัดไป ขสมก. เตรียมรีโนเวตพื้นที่อู่รถเมล์มีนบุรี โดยจะแบ่งพื้นที่บางส่วนให้เอกชนเช่าและเตรียมพัฒนาพื้นที่รองรับเป็นจุดรับ-ส่ง จุดเชื่อมต่อในการเดินทาง เพราะในย่านมีนบุรีก็มีประชาชนอาศัยและสัญจรอยู่เป็นจำนวนมาก 

 

รวมถึงอู่หมอชิตซึ่งเป็นพื้นที่ที่ ขสมก. เช่ากับการรถไฟแห่งประเทศไทย มีพื้นที่กว้างประมาณ 22 ไร่ ขสมก. เตรียมพัฒนาให้เป็นจุดเชื่อมต่อการเดินทางของคนต่างจังหวัด ที่ลงรถทัวร์มาก็สามารถเดินทางต่อด้วยรถเมล์ได้ทันที 

 

ส่วนพื้นที่ที่เหลือจะสร้างเป็นสนามฝึกขับรถของพนักงาน เพื่อสร้างความชำนาญในการขับรถ ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุและสร้างความปลอดภัยในการบริการมากขึ้น

 

ทั้งหมดนี้ถือเป็นเป้าหมายใหญ่ที่ต้องมุ่งมั่นพัฒนา เพราะสุดท้ายแล้ว ขสมก. ไม่ได้เน้นแข่งขันกับใคร แต่โฟกัสที่การเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้บริการ และสามารถเชื่อมต่อการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะได้อย่างครอบคลุม ทั้งระบบล้อ ราง เรือ

 

ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. กล่าวต่อถึงนโยบายที่จะดำเนินการต่อไป คือ การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภายในองค์กร ซึ่งปัจจุบันค่าใช้จ่ายหลักๆ จะมี 3 กลุ่ม เริ่มตั้งแต่ 1. ค่าเหมาซ่อมที่ต้องจ่ายทุกปี โดยอยู่ที่ประมาณ 1,600 ล้านบาทต่อปี โดยเมื่อเราเช่ารถโดยสาร NGV มาใช้เดินรถ ก็จะช่วยลดต้นทุนค่าเหมาซ่อมลงได้ ตามด้วย 2. ค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงที่องค์กรต้องจ่ายเฉลี่ย 1,500 ล้านบาทต่อปี และ 3. ลดค่าใช้จ่ายพลังงานภายในสำนักงานตามนโยบายของภาครัฐ ด้วยการติดตั้งระบบหลังคาโซลาร์เซลล์ ตลอดจนการจ้าง Outsource เข้ามาทำงาน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับองค์กรได้เช่นกัน 

 

“ยุทธศาสตร์ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นแผนการขับเคลื่อนระยะสั้น ระยะกลาง ถ้าหากผ่านคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว ก็จะเร่งดำเนินการทันที ส่วนแผนงานระยะยาวนับเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างมาก คือเราต้องหาวิธีทำให้องค์กรสามารถเลี้ยงตัวเองได้ และไม่เป็นภาระให้กับภาครัฐ” กิตติกานต์ จอมดวง จารุวรพลกุล ผู้อำนวยการองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. ย้ำ

 

(PR NEWS)

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X