สำนักข่าว Reuters รายงานว่า ซาอุดีอาระเบียและสมาชิกกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่กับชาติพันธมิตร (OPEC+) ประกาศเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ทางกลุ่มเห็นพ้องต้องกันที่จะร่วมลดกำลังการผลิตน้ำมันลง 1.16 ล้านบาร์เรลต่อวัน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคมนี้เป็นต้นไปและลากยาวไปจนถึงสิ้นปี
นับเป็นความเคลื่อนไหวที่สร้างเซอร์ไพรส์ให้กับตลาด ขณะที่บรรดานักวิเคราะห์หวั่นเกรงว่าการตัดสินใจครั้งนี้จะทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวแพงขึ้น ส่วนสหรัฐอเมริกาออกโรงโต้ระบุว่าเป็นการตัดสินใจที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตา OPEC+ ประชุมจันทร์นี้ คาดคงกำลังการผลิตไว้เท่าเดิม หลังวิกฤตแบงก์ฉุดราคาน้ำมันต่ำสุดในรอบ 15 เดือน
- กลุ่ม OPEC+ ประกาศเดินหน้าลดกำลังผลิตน้ำมันดิบลง 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ไปจนถึงสิ้นปี 2023 เมินแรงกดดันจากสหรัฐฯ และชาติตะวันตก
- เปิด 5 เหตุผล ทำไมจีนเปิดประเทศแล้ว แต่ตลาดน้ำมันโลกยังนิ่ง
ตามการคำนวณของ Reuters คำมั่นสัญญาดังกล่าวจะทำให้ปริมาณกำลังการผลิตน้ำมันทั้งหมดของกลุ่ม OPEC+ ลดลงอยู่ที่ 3.66 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเทียบเท่ากับ 3.7% ของอุปสงค์ทั่วโลก
การตัดสินใจดังกล่าวมีขึ้นเพียงหนึ่งวันก่อนการประชุมออนไลน์ของ 13 คณะรัฐมนตรีชาติสมาชิก OPEC+ ซึ่งรวมถึงซาอุดีอาระเบียและรัสเซีย โดยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ทางกลุ่ม OPEC+ ได้ตกลงที่จะลดกำลังการผลิตน้ำมันที่ 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงสิ้นปี 2023 ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลสหรัฐฯ เนื่องจากเห็นว่าปริมาณน้ำมันที่ลดลงจะยิ่งทำให้ราคาน้ำมันยิ่งสูงขึ้น จนกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวลดลงเรื่อยๆ โดยราคาน้ำมันในช่วงเดือนมีนาคมปรับตัวร่วงลงแตะ 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำสถิติต่ำสุดในรอบ 15 เดือน ผลจากความกังวลว่าวิกฤตภาคธนาคารทั่วโลกจะส่งผลกระทบต่ออุปสงค์ กระนั้น การดำเนินการเพิ่มเติมโดยกลุ่ม OPEC+ เพื่อสนับสนุนตลาดโดยไม่ได้รับการคาดหมายในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ราคาน้ำมันดิบฟื้นตัวสู่ระดับ 80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ด้านหัวหน้าบริษัทการลงทุน Pickering Energy Partners กล่าวว่าการปรับลดกำลังการผลิตครั้งล่าสุดอาจทำให้ราคาน้ำมันสูงขึ้น 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่โบรกเกอร์น้ำมัน PVM คาดว่าราคาน้ำมันจะเพิ่มขึ้นทันทีเมื่อการซื้อขายเริ่มขึ้นหลังสุดสัปดาห์ โดยประเมินว่าราคาน้ำมันมีสิทธิ์เปิดตลาดสูงขึ้นถึง 3 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย ประเทศผู้ผลิตน้ำมันชั้นนำกล่าวว่าจะลดกำลังการผลิตลง 500,000 บาร์เรลต่อวัน ซึ่งทางกระทรวงพลังงานซาอุดีอาระเบียกล่าวว่าการลดกำลังการผลิตด้วยความสมัครใจเป็นมาตรการป้องกันล่วงหน้าที่มุ่งสนับสนุนเสถียรภาพของตลาดน้ำมัน
Amrita Sen ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการ Energy Aspects เห็นว่า ความเคลื่อนไหวของ OPEC ครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตามขั้นตอนล่วงหน้าในกรณีที่อุปสงค์อาจลดลง
การตัดสินใจล่าสุดของกลุ่ม OPEC+ ได้รับเสียงคัดค้านจากสหรัฐฯ ที่ออกมาโต้แย้งว่า ทั่วโลกขณะนี้กำลังต้องการราคาน้ำมันในระดับต่ำเพื่อสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และป้องกันไม่ให้ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินของรัสเซียหารายได้เพิ่มเพื่อเป็นทุนในสงครามยูเครน
รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐฯ กล่าวชัดเจนว่า การเคลื่อนไหวของ OPEC+ เป็นการกระทำที่ไม่ฉลาดและไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยโฆษกสภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐฯ กล่าวว่า สหรัฐฯ ไม่แนะนำให้ปรับลดกำลังการผลิตในเวลานี้ เนื่องจากความไม่แน่นอนของตลาด และว่าสหรัฐฯ ได้ชี้แจงเหตุผลดังกล่าวไว้อย่างชัดเจนแล้ว
แถลงการณ์ของ OPEC+ ระบุว่า การลดกำลังการผลิตโดยสมัครใจจะเริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไปจนถึงสิ้นปี โดยอิรัก หนึ่งในชาติสมาชิก OPEC เปิดเผยว่า ทางประเทศจะลดกำลังการผลิตลง 211,000 บาร์เรลต่อวัน
ด้านสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กล่าวว่าจะลดกำลังการผลิตลง 144,000 บาร์เรลต่อวัน ส่วนคูเวตประกาศลดกำลังการผลิต 128,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่โอมานประกาศลดกำลังการผลิต 40,000 บาร์เรลต่อวัน แอลจีเรียกล่าวว่าจะลดการผลิตลง 48,000 บาร์เรลต่อวัน และคาซัคสถานจะลดกำลังการผลิตลง 78,000 บาร์เรลต่อวัน
ส่วน Alexander Novak รองนายกรัฐมนตรีของรัสเซียกล่าวเมื่อวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ว่ารัฐบาลรัสเซียจะเพิ่มการปรับลดกำลังการผลิตที่ 500,000 บาร์เรลต่อวันโดยสมัครใจจนถึงสิ้นปี 2023 ซึ่งก่อนหน้านี้ในเดือนกุมภาพันธ์ ทางรัฐบาลกรุงมอสโกได้ประกาศการปรับลดกำลังการผลิตเพียงลำพังหลังจากที่ชาติตะวันตกประกาศจำกัดช่วงราคาขายของน้ำมัน
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากที่ทางรัสเซียประกาศปรับลดกำลังการผลิตน้ำมันของตนเองออกมา ทางการสหรัฐฯ ได้ออกมาแสดงความเห็นว่า ความเป็นพันธมิตรระหว่างรัสเซียกับชาติสมาชิก OPEC อื่นๆ กำลังสั่นคลอน อย่างไรก็ตาม คำประกาศล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 2 เมษายน ถือเป็นการแสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ของกลุ่ม OPEC+ ยังคงเหนียวแน่นเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าววงในจาก OPEC+ ระบุว่า ไม่ใช่ชาติสมาชิก OPEC+ ทั้งหมดที่จะเข้าร่วมการปรับลดกำลังการผลิตในครั้งนี้ เนื่องจากบางประเทศมีกำลังการอัดฉีดต่ำกว่าระดับที่ตกลงกันไว้ เนื่องจากขาดกำลังการผลิตอยู่แล้ว
อ้างอิง: