หากมองประเทศไทยเป็นองค์กรขนาดใหญ่ ‘ข้าราชการไทย’ ก็เปรียบได้กับพนักงานคนสำคัญที่มีหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรแห่งนี้ไปข้างหน้า
แม้ที่ผ่านมาหลายหน่วยงานรัฐจะพยายามปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของข้าราชการให้มีความทันสมัยเพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลกที่กำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ต้องยอมรับว่าการปรับตัวเหล่านั้นยังทำได้อย่างเชื่องช้า ภาพลักษณ์ข้าราชการไทยในสายตาของคนทั่วไปยังเต็มไปด้วยคำถามที่ไร้คำตอบ และหลายครั้งกลายเป็นความเบื่อหน่าย ไม่อยากข้องเกี่ยวกับระบบราชการไทย ทั้งๆ ที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ
เพื่อปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ของข้าราชการไทยและสร้างสรรค์ให้เกิดรูปแบบการทำงานใหม่ๆ ภายใต้โครงสร้างเดิม ภารกิจในการสร้าง ‘ข้าราชการสายพันธุ์ใหม่’ จึงเกิดขึ้น เป็นที่มาของ ‘โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่’ หรือ นปร. (Public Service Executive Debelopment Program – PSED) ที่เดินหน้าสร้างสรรค์บุคลากรรุ่นใหม่เพื่อเข้ารับราชการ และทำหน้าที่เป็น ‘ปลาต่างน้ำ’ ผสมผสานวิธีการทำงานรูปแบบใหม่ๆ เพื่อกระตุ้นคนทำงานเดิมๆ ให้การทำงานในภาพรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
THE STANDARD พูดคุยกับ ปรก หัศภาคย์ Trade Officer สังกัดกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ หนึ่งในผลผลิตที่มีคุณภาพของโครงการ นปร. ที่ผันตัวเองจากพนักงานในองค์กรเอกชนสู่บทบาทใหม่ในฐานะ ‘ข้าราชการไทย’ แบบเต็มตัว ซึ่งจะมาบอกเล่าประสบการณ์แบบคลุกวงใน และสายตาที่เปลี่ยนไปจากการทำงานราชการให้เราได้รับรู้
มุมมองที่เปลี่ยนไป กับประสบการณ์ทรงคุณค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียน
โครงการพัฒนานักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่หรือ นปร. เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. โดยตั้งเป้าดึงดูดคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถให้เข้าสู่ระบบราชการไทยเพื่อเป็นผู้นำในการขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลง หรือ Change Agent โดยใช้วิสัยทัศน์และความสามารถในการปฏิบัติราชการ 5 ประการ หรือ 5C ได้แก่ ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรม (Creativity and Innovation), การสร้างความร่วมมือในการทำงานเป็นทีม (Collaboration Teamwork), การเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงและสามารถขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง (Change Agent), การคิดวิเคราะห์และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา (Critical Thinking) และการสื่อสารและการใช้ภาษา (Communication and Language)
ซึ่งก่อนหน้านี้ปรกก็ไม่ต่างจากคนทั่วๆ ไปที่มีมุมมองเกี่ยวกับข้าราชการไทยในสายตาที่เต็มไปด้วยคำถามก่อนที่จะมาเข้าร่วมโครงการ นปร. และได้สัมผัสกับประสบการณ์การทำงานในฐานะข้าราชการไทยคนหนึ่ง
“ตอนเรียนปริญญาตรี ผมเรียนคณะรัฐศาสตร์ สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ก่อนจะไปเรียนต่อปริญญาโทด้านการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม ซึ่งหลังจากเรียนจบก็ยังไม่มั่นใจว่าอยากจะทำอะไร ในใจอยากรับราชการ แต่ไม่เคยรู้จักใครที่ทำงานในสายราชการมาก่อน จึงไม่ทราบว่าจะต้องเริ่มจากจุดไหน หรือควรจะเริ่มจากกรมไหน กระทรวงไหน จึงเริ่มต้นการทำงานกับบริษัทเอกชนในตำแหน่ง PR Marketing ซึ่งพอทำงานไปสักระยะก็ได้รู้จักกับโครงการ นปร. จึงลองสมัครดู และโชคดีที่ผมผ่านการคัดเลือกให้เข้าร่วมโครงการในรุ่นที่ 8 และรับราชการมาจนถึงปัจจุบัน”
โครงการ นปร. คือการบ่มเพาะข้าราชการสายพันธุ์ใหม่โดยใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้น 22 เดือน ซึ่งผู้เข้าร่วมต้องผ่านการฝึกฝนความรู้ทางวิชาการจากผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาวิชา การปฏิบัติราชการจากการเรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนและการบริหารจัดการหน่วยงานภาครัฐส่วนภูมิภาค ส่วนกลาง ในต่างประเทศ และหน่วยงานภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจ และการนำเสนอผลงานกลุ่มและผลงานส่วนบุคคลที่มีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ชาติหรือการปฏิรูปประเทศ ซึ่งปัจจุบันโครงการ นปร. เดินทางมาถึงรุ่นที่ 13 แล้ว และกำลังเปิดรับสมัครรุ่นที่ 14 เพื่อเติมเต็มความหวังให้ระบบราชการไทยต่อไป
จากระยะเวลาเกือบ 2 ปีที่เรียนรู้และคลุกคลีกับระบบราชการไทยผ่านโครงการ นปร. ทำให้ปรกได้เห็นภาพรวมของระบบราชการไทยแบบครบลูป ไล่ตั้งแต่การเข้าทำงานกับหน่วยงานส่วนภูมิภาคที่ได้ทำงานใกล้ชิดกับผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นสนามจำลองของทั้งประเทศที่ได้เห็นการทำงานขับเคลื่อนนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม ก่อนที่จะย้ายไปทำงานกับหน่วยงานราชการส่วนกลางที่ทำให้ได้ใกล้ชิดกับงานด้านการวางนโยบายและการขับเคลื่อนนโยบายระดับประเทศ ต่อด้วยการไปฝึกงานในฐานะ ‘ทีมประเทศไทย’ ในสถานเอกอัครราชทูตหรือสถานกงสุลในประเทศต่างๆ เพื่อมองภาพประเทศไทยในมุมกว้างบนเวทีโลก และปิดท้ายด้วยการเรียนรู้งานกับองค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ทำให้ได้เห็นมุมมองที่แตกต่างจากภาคเอกชนที่สะท้อนกลับมายังระบบราชการไทย
โดยปรกมองว่าระยะเวลาเกือบ 2 ปีในโครงการ นปร. ถือเป็นช่วงเวลาที่มีค่าอย่างมาก เพราะได้มองเห็นมุมมองที่หลากหลายจากหน่วยงานราชการหลายภาคส่วน อีกทั้งยังทำให้ภาพ ‘ข้าราชการ’ ที่เคยติดค้างอยู่ในใจเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง
“หลังจากที่เข้ามาในโครงการแล้ว ภาพที่เห็นก็คือข้าราชการไม่ได้เป็นเหมือนภาพที่หลายๆ คนอาจจะมองว่าเป็นงานเช้าชามเย็นชาม แล้วก็มีมนุษย์ป้าเยอะ ซึ่งเมื่อไปสัมผัสจริงๆ แล้วเราก็ได้เห็นว่าแต่ละหน่วยงานเขาก็มีข้าราชการในส่วนที่พยายามทำงานอย่างหนักเพื่อทำให้สามารถบรรลุเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่แต่ละหน่วยงานกำหนดไว้ ดังนั้นการทำงานก็ไม่ได้ค่อนข้างเก่าเหมือนในอดีตแล้ว สิ่งที่เรียนรู้ก็คือมันมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกเพื่อให้การทำงานในส่วนราชการมันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น”
ที่ยืนของ ‘คนรุ่นใหม่’ ในระบบราชการไทย
หากถามว่าโครงการ นปร. เหมาะกับใคร คนกลุ่มแรกที่ปรกนึกถึงคือ ‘คนรุ่นใหม่’ โดยเฉพาะกลุ่มคนที่ต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับประเทศไทยด้วยความสามารถและวิสัยทัศน์ที่ตัวเองมีอยู่
“ผมมองว่าโครงการนี้เหมาะสำหรับคนรุ่นใหม่อย่างมาก ซึ่งไม่จำกัดว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน แค่ได้เข้ามาร่วมในโครงการ อย่างน้อยๆ คุณจะได้เห็นวิธีการทำงานของกระบวนการราชการไทยตั้งแต่ส่วนกลางไปจนถึงส่วนภูมิภาคปลายทางว่าเขามีวิธีการทำงานและวิธีคิดอย่างไร ซึ่งผมเชื่อว่าทุกคนจะได้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ โดยที่ผู้ใหญ่ในระบบราชการก็พร้อมจะรับฟังความคิดเห็นที่มีประโยชน์จากมุมมองของคนรุ่นใหม่อย่างแน่นอน”
หนึ่งในจุดแข็งของโครงการ นปร. คือการรวบรวมคนรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติเบื้องต้น จบการศึกษาระดับปริญญาโท อายุไม่เกิน 30 ปี หรือระดับปริญญาเอก อายุไม่เกิน 35 ปี โดยไม่จำกัดวุฒิหรือสาขาวิชา ดังนั้นในโครงการจึงเต็มไปด้วยผู้คนจากหลากหลายวงการที่พร้อมจะขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคตด้วยมุมมองที่แตกต่าง เมื่อผสมผสานกับประสบการณ์จากข้าราชการเดิมของแต่ละหน่วยงาน นโยบายต่างๆ จึงถูกขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างมีประสิทธิภาพ
“การที่จะขับเคลื่อนนโยบายที่ทุกคนมองว่ามันเหมือนเป็นการวาดฝันให้เป็นจริง ผมคิดว่าบุคลากรคือส่วนสำคัญมากจริงๆ ถ้าเกิดว่าเรามีนโยบายมา แต่ว่าบุคลากรทำงานเชื่องช้า เช้าชามเย็นชาม มันก็ไม่มีทางที่นโยบายจะไปสู่พี่น้องประชาชนและทำให้เกิดผลจริงๆ ได้ ผมจึงคิดว่าการที่เรามีโครงการ นปร. ที่มีการเฟ้นหาข้าราชการคนรุ่นใหม่ที่มีไฟแล้วก็มีความรู้ความสามารถเข้ามาอยู่ในองค์กรราชการ ผมก็รู้สึกว่ามันคล้ายๆ เป็น Change Agent คือเริ่มเปลี่ยนจากตัวเอง เปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพ ทำงานแบบ Work-Life Balance ให้เป็น แล้วก็พยายามทำภารกิจที่ได้รับมอบหมายให้ได้ดีที่สุด ผมก็เลยคิดว่ามันก็เป็นสิ่งที่จะช่วยทำให้ภาพนโยบายหรือว่าสิ่งที่เป็นนามธรรมเหล่านั้นสามารถถ่ายทอดหรือสะท้อนออกมาเป็นรูปธรรมได้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าคงต้องใช้เวลา แต่ก็ไม่ใช่ว่าไม่มีแสงไฟที่ปลายอุโมงค์ มันมีครับ ต้องใช้เวลาในการเปลี่ยนแปลง” ปรกสะท้อนมุมมองที่เขามีต่อระบบราชการไทยในปัจจุบัน
นอกจากประสบการณ์อันมีค่าที่หาไม่ได้ในห้องเรียนแล้ว ในฐานะข้าราชการสายพันธุ์ใหม่ ปรกยังมองว่าการทำงานราชการยังเติมเต็มความภาคภูมิใจในฐานะประชาชนคนไทยด้วย
“ผมรู้สึกภาคภูมิใจทุกครั้งที่บอกคนอื่นว่าเป็นข้าราชการ เพราะในการทำงานแต่ละวัน ผมได้มองเห็นอุดมการณ์ของตัวเองค่อยๆ ขับเคลื่อนไปจนบรรลุเป้าหมาย ได้เห็นผลงานที่เราทำสร้างประโยชน์ให้กับประชาชนอย่างแท้จริง ที่สำคัญคือเราได้ใช้ความรู้ความสามารถของเราอย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า นี่คือความภาคภูมิใจของผม”
โครงการ นปร. กำลังดำเนินการเปิดรับสมัครรุ่นที่ 14 ตั้งแต่วันนี้ถึง 21 มกราคม 2563 โดยสามารถสมัครได้ทางเว็บไซต์ www.opdc.go.th หรือ www.igpthai.org หรือ opdc.thaijobjob.com
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์