×

ฟังทัศนะ สทนช. ‘โครงการผันน้ำยวม’ งบ 7 หมื่นล้านบาท แก้ปัญหาภัยแล้งได้จริง หรือเป็นแค่ตำน้ำพริกละลายเขื่อน? [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
24.03.2023
  • LOADING...

ข้อกังขาเรื่องความคุ้มค่าของ ‘โครงการผันน้ำยวม’ จะคุ้มการลงทุน 7 หมื่นล้านบาท (และอาจจะมีค่าใช้จ่ายซ่อนเร้นงอกออกมา) หรือไม่? 

 

ว่ากันตามรายงาน การผลักดันให้เกิดโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันแม่น้ำยวม เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพลตามที่กรมชลประทานชี้แจง จะสร้างความมั่นคงในเรื่องน้ำให้กับพื้นที่ลุ่มน้ำปิงและลุ่มเจ้าพระยา และสามารถช่วยแก้ไขหรือบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในลุ่มน้ำปิง (ท้ายเขื่อนภูมิพล) และลุ่มน้ำเจ้าพระยา ทั้งน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม และการท่องเที่ยวในปัจจุบันและอนาคต สนับสนุนการสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิตตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี 2561-2580)

 

 

นอกจากข้อชี้แจงที่ประชาชนอยากได้ยินจากกรมชลประทาน หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ก็ถูกตั้งคำถามด้วยเช่นกัน ในฐานะหน่วยงานที่ทำหน้าที่บูรณาการงาน ข้อมูล แผนงาน โครงการ และงบประมาณ ตลอดจนการติดตามประเมินผล และการควบคุมการปฏิบัติงานของทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ มองความคุ้มค่าจากมิติไหน 

 

พรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ฉายภาพสถานการณ์น้ำของเมืองไทยให้เห็นว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีน้ำท่าปีหนึ่งเฉลี่ย 2.1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร สามารถกักเก็บได้ประมาณ 8.2 หมื่นล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 40% เท่านั้น แต่ความต้องการใช้น้ำอยู่ที่ประมาณ 1.1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร โดยเฉพาะในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในแต่ละปีมีความต้องการใช้น้ำอยู่เกือบ 8 พันล้านลูกบาศก์เมตร เท่ากับว่ายังมีการขาดแคลนการใช้น้ำในกลุ่มพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาประมาณ 3-4 พันล้านลูกบาศก์เมตร 

 

พรชัย กันสิทธิ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพื้นที่เฉพาะและโครงการสำคัญ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)

 

“ต้องยอมรับก่อนว่าสถานการณ์น้ำในเมืองไทยแปรปรวนอย่างมาก หากฝนตกก็ตกต่อเนื่อง และต้องเจอฝนทิ้งช่วง ทำให้การคาดการณ์ปริมาณน้ำค่อนข้างลำบาก ปี 2565 โชคดีที่อ่างเก็บน้ำเก็บน้ำได้ค่อนข้างเยอะ แต่ใน 3-4 ปีข้างหน้ามีโอกาสที่จะเจอปรากฏการณ์เอลนีโญต่อเนื่องกัน จึงต้องคิดเรื่องการบริหารจัดการน้ำต่อจากนี้ คงไม่ได้คิดถึงแค่ปีนี้ แต่ต้องคิดไปถึงอนาคตว่าน้ำที่มีอยู่ตอนนี้จะจัดสรรอย่างไร”  

 

พรชัยตอบข้อซักถามถึงแนวทางแก้ปัญหาน้ำแล้งในเมืองไทย จำเป็นแค่ไหนที่จะต้องมีโครงการนี้ และจะช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่นั้น ได้มีการหยิบยกแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ฉบับปรับปรุงขึ้นมา พร้อมชี้แจงว่าเป็นแผนการปรับปรุงช่วงที่ 2 ในการดำเนินการปี 2566-2570 โดยมีกลยุทธ์เรื่องการผันน้ำข้ามลุ่ม เพิ่มปริมาณต้นทุนน้ำเพื่อความมั่นคงด้านน้ำ เนื่องจากความไม่แน่นอนของปริมาณน้ำต้นทุน 

 

“การแก้ปัญหาน้ำแล้งอยู่ในแผนแม่บทที่ว่านี้ โดยมีกลยุทธ์เรื่องต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการความต้องการ ภาคเกษตร หรือภาคอุตสาหกรรม และในเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพการพัฒนาแหล่งน้ำเดิม สำคัญเลยคือการจัดการในพื้นที่เกษตรน้ำฝน ซึ่งมีพื้นที่กว้างในประเทศไทย ก็ต้องพัฒนาเรื่องของระบบส่งน้ำกระจายให้ทั่วถึงมากขึ้น ตัวอย่างกลยุทธ์ที่อยู่ในแผนแม่บท

 

“การแก้ปัญหาน้ำทั้งระบบต้องดูหลายๆ มาตรการ หลายกลยุทธ์ประกอบกัน เพื่อให้การแก้ปัญหาน้ำครอบคลุมทั้งประเทศ” พรชัยกล่าวชี้ให้เห็นว่าโครงการผันน้ำยวมไม่ใช่โครงการที่สามารถแก้ปัญหาได้ทั้งหมด ทุกอย่างต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำภายในพื้นที่ และผู้ใช้น้ำเองก็ต้องช่วยกันเปลี่ยนพฤติกรรมประหยัดน้ำ

 

“อย่างการเพิ่มน้ำควรดำเนินการหรือไม่นั้น กรมชลประทานก็ต้องวิเคราะห์ให้เห็นความจำเป็น และผ่านคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติพิจารณาต่อว่า ถ้าประเมินทางเศรษฐศาสตร์มีความคุ้มค่าจะไปต่อได้หรือไม่ เรื่องความคุ้มค่าต้องมาดูว่าหลังจากผันน้ำแล้วจะบริการจัดการอย่างไร ขณะเดียวกันก็ต้องจัดการส่วนอื่นๆ ควบคู่กัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการหาแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ของตัวเองหลังจากที่มีการผันน้ำไปแล้ว อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญคือการประหยัดน้ำ เนื่องจากแหล่งเก็บน้ำในประเทศไทยที่มีศักยภาพลดลง” 

 

 

ในแง่การลงทุน 7 หมื่นล้านบาท คุ้มหรือไม่ระหว่างสิ่งที่ประเทศจะได้คืน กับผลกระทบที่คนบางกลุ่มรวมถึงทรัพยากรธรรมชาติที่ต้องเสียสละ 

 

พรชัยบอกว่า “หากมองในเชิงเศรษฐกิจภาพรวมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โครงการผันน้ำยวมถูกมองเป็นเรื่องของการันตีความมั่นคงด้านน้ำ ท่ามกลางภาวะภัยธรรมชาติของโลกที่เกิดขึ้น สภาพอากาศแปรปรวน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล ในมุมประชาชนและคนที่ได้รับผลกระทบเขาอาจมองในกรอบที่เขาอยู่ เช่น สูญเสียที่ดิน วิถีชีวิตเปลี่ยนไป สำหรับเขามันไม่คุ้ม แต่ในมุมมองเชิงนโยบายของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติต้องมาในหลายมิติ ภาพรวมต่อภาคกลาง ภาพรวมต่อลุ่มน้ำปิง มองเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ และคนลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาได้ประโยชน์แน่นอน รวมถึงปิงตอนล่างท้ายเขื่อนภูมิพล แต่แน่นอนว่าเราก็ต้องไม่ทิ้งผู้ที่ได้รับผลกระทบ ต้องมองไปคู่กัน หามาตรการเยียวยา ทางกรมชลประทานก็แจ้งว่าค่าเยียวยายังมีแน่ ส่วนผู้ได้รับผลกระทบข้างเคียงเรื่องเสียง เรื่องฝุ่น ก็ต้องมีมาตรการมารองรับในการดำเนินโครงการ

 

“แต่ก็ไม่อยากให้มองว่าโครงการนี้ต้องเป็นกรมชลประทานแก้ปัญหาฝ่ายเดียว เนื่องจากโครงการนี้คนในพื้นที่อนุรักษ์คือกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบ อาจจะต้องมองปัญหาอื่นแทรกไปด้วย นอกจากเรื่องที่ดินทำกินก็เรื่องชาติพันธุ์ สัญชาติ เรื่องเหล่านี้มันเป็นปัญหาอยู่ก่อนแล้ว ควรต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาร่วมด้วย”

 

 

ยังมีประเด็นเรื่องค่าน้ำจะสูงขึ้น เมื่อบวกต้นทุนเดิมและค่าใช้จ่ายซ่อนเร้นที่อาจเพิ่มมาใหม่ ทาง สทนช. ชี้แจงว่าค่าน้ำที่จะเกิดขึ้นนั้นเป็นไปตาม พ.ร.บ.น้ำ ในการจัดใช้น้ำแต่ละประเภท แยกขาดจากกันจากค่าใช้จ่ายของโครงการ ซึ่งจะไม่ได้นำมาบวกรวมกับค่าน้ำที่จะเก็บกับประชาชนอย่างแน่นอน 

 

“การผันน้ำเป็นหนึ่งในวิธีที่จะช่วยเสริมเรื่องน้ำต้นทุน เนื่องจากเขื่อนภูมิพลเป็นเขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา ผมคิดว่านี่เป็นโครงการที่ต้องดำเนินการ แต่ในความเป็นจริงเขื่อนเดียวคงไม่สามารถดูแลได้ทั้งลุ่มน้ำ พื้นที่ที่ห่างไกลแหล่งน้ำจึงต้องมีโครงการอื่นๆ เข้ามาเสริม ไม่ว่าจะเป็นระบบกระจายน้ำ หรือการสร้างแหล่งเก็บน้ำในชุมชน ส่วนในพื้นที่ที่หาแหล่งน้ำได้ยากจริงๆ อาจจะต้องดูเรื่องการปรับตัวของเกษตรกร หรือการปรับเปลี่ยนพืชให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ที่มีอยู่” 

 

คำถามที่ต้องย้อนถามคนไทยด้วยกัน และหากไม่มีโครงการผันน้ำยวมที่จะช่วยเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับเขื่อนภูมิพล ทุกคนพร้อมใจกันเปลี่ยนพฤติกรรมลดการใช้น้ำหรือไม่? และเกษตรกรพร้อมจะปรับเปลี่ยนด้วยหรือเปล่า?

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X