ก่อนจะมี 250 ส.ว. ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน ย้อนกลับไปวันนี้เมื่อ 73 ปีที่แล้ว ถือเป็นครั้งแรกที่ประเทศไทยมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยใช้ชื่อในขณะนั้นว่า ‘พฤฒสภา’
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน 2475 ไทยได้เลือกรูปแบบการปกครองโดยมีเพียง ‘สภาเดี่ยว’ หรือสภาผู้แทนราษฎรเท่านั้น ก่อนจะมีการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 โดยเปลี่ยนจากระบบสภาเดี่ยวมาเป็นสภาคู่ ทำให้เกิดพฤฒสภา หรือสภาสูง โดยระบุในมาตรา 24 ของรัฐธรรมนูญว่า
‘พฤฒสภาประกอบด้วยสมาชิกที่ราษฎรเลือกตั้งจำนวน 80 คน สมาชิกพฤฒสภาต้องไม่เป็นข้าราชการประจำ การเลือกตั้งสมาชิกพฤฒสภาให้ใช้วิธีลงคะแนนเสียงทางอ้อมและลับ’
นอกจากนี้ยังระบุหลักเกณฑ์ว่า สมาชิกพฤฒสภาต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปีบริบูรณ์ ก่อนจะมีการแก้ไขตามบทเฉพาะกาลให้มีอายุไม่ต่ำกว่า 35 ปี มีวิทยฐานะไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี หรือเทียบเท่ามาแล้วไม่ต่ำกว่า 5 ปี หรือเคยดำรงตำแหน่งทางราชการมาแล้วไม่ต่ำกว่าหัวหน้ากองหรือเทียบเท่า หรือเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมาแล้ว โดยให้มีวาระ 6 ปี แต่สามารถรับเลือกได้อีก
สำหรับการเลือกสมาชิกพฤฒสภา 80 คนแรก มีจำนวนมากที่เคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เคยถูกแต่งตั้งมาก่อนหน้านั้น และอีกจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งหลังการเลือกตั้งได้มีการประชุมพฤฒสภาเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต ในวันที่ 3 มิถุนายน 2489 โดยที่ประชุมได้เลือก วิลาศ โอสถานนท์ เป็นประธานพฤฒสภา และ ไต๋ ปาณิกบุตร เป็นรองประธานพฤฒสภา
ทั้งนี้ พฤฒสภาชุดนั้นมีอายุการทำงานเพียง 1 ปี 5 เดือน 16 วัน เพราะรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2489 ถูกยกเลิกจากการรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 ต่อมาจึงมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2490 โดยเปลี่ยนชื่อ ‘พฤฒสภา’ เป็น ‘วุฒิสภา’ และรัฐธรรมนูญฉบับต่อๆ มา จนถึงปัจจุบันก็ไม่ปรากฏคำว่า ‘พฤฒสภา’ อีกเลย
อ้างอิง: