×

ผลสำรวจแบงก์ชาติ พบคนไทยแค่ 38% มีเงินสำรองใช้เกิน 3 เดือน แต่ทักษะการเงินทุกด้านสูงกว่าค่าเฉลี่ยกลุ่มประเทศ OECD

28.10.2021
  • LOADING...
เงินสำรอง

นวพร มหารักขกะ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายบริหารความเสี่ยงองค์กร ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. ได้ร่วมกับสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจระดับทักษะทางการเงิน (Financial Literacy) ของคนไทยตามกรอบของ The Organization for Economic Co-operation and Development (OECD) เป็นครั้งที่ 8 ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างทุกจังหวัดทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 11,901 ครัวเรือน โดยพบว่าภาพรวมในปี 2563 ที่ผ่านมาคนไทยมีพัฒนาการระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นอยู่ที่ 71% เพิ่มจาก 66.2% ในการสำรวจครั้งก่อนในปี 2561 และสูงกว่าค่าเฉลี่ยการสำรวจทักษะทางการเงินครั้งล่าสุดของ OECD ในปี 2563 ที่ 60.5%

 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของทักษะทางการเงินทั้ง 3 ด้าน พบว่าคนไทยมีพัฒนาการดีขึ้นในทุกด้าน ดังนี้

 

  1. ด้านความรู้ทางการเงิน มีคะแนนอยู่ที่ 62.9% เพิ่มจาก 55.7% ในปี 2561 ปรับตัวดีขึ้นในทุกหัวข้อแต่ยังมีหัวข้อที่สามารถพัฒนาและส่งเสริมเพิ่มเติม ได้แก่ การคำนวณดอกเบี้ยเงินฝากทบต้น การกระจายความเสี่ยงในการลงทุน และมูลค่าของเงินตามกาลเวลา 

 

  1. ด้านพฤติกรรมทางการเงิน มีคะแนนอยู่ที่ 71.1% เพิ่มจาก 67.8% ในปี 2561 โดยหัวข้อการจัดสรรเงินก่อนใช้และศึกษาข้อมูลจากแหล่งที่น่าเชื่อถือมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาก อย่างไรก็ดี หัวข้อการบริหารจัดการเงินเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาเงินไม่พอใช้มีคะแนนลดลง 

 

  1. ด้านทัศนคติทางการเงิน มีคะแนนอยู่ที่ 82% เพิ่มจาก 78% ในปี 2561 มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะทัศนคติในเรื่องการวางแผนเพื่ออนาคตในระยะยาวเป็นหัวข้อที่มีพัฒนาการจากปี 2561 มากที่สุด ซึ่งความไม่มั่นคงทางรายได้จากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิดน่าจะมีส่วนทำให้ประชาชนตระหนักถึงความสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือกับเหตุการณ์ในอนาคตมากขึ้น

 

สำหรับการสำรวจทัศนคติและพฤติกรรมการออม พบว่าสัดส่วนผู้มีเงินออมในกลุ่มตัวอย่างเพิ่มขึ้นเป็น 74.7% ในปี 2563 จาก 72% ในปี 2561 และคนส่วนใหญ่มีความตระหนักเรื่องการออมเงินเพื่อใช้ในยามฉุกเฉิน และการออมเพื่อการเกษียณ ซึ่งการแพร่ระบาดของโรคโควิดน่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้ประชาชนตระหนักถึงความจำเป็นของการเก็บเงินสำรองมากขึ้น

 

อย่างไรก็ดี มีเพียง 38% ของกลุ่มตัวอย่างที่มีเงินสำรองอยู่ได้เกิน 3 เดือนหากต้องหยุดงานกะทันหัน แสดงให้เห็นว่ายังมีความจำเป็นต้องส่งเสริมการออมให้บรรลุเป้าหมาย ทั้งนี้ แรงจูงใจสำคัญในการออมมาจากการมีเป้าหมายหรือแผนที่ชัดเจนที่จะต้องใช้เงินในอนาคต แต่มีเพียง 19.7% ที่จัดสรรเงินเพื่อออมก่อนนำเงินไปใช้จ่ายจึงอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายการออมไม่สำเร็จ

 

นวพรกล่าวว่า เมื่อพิจารณาระดับทักษะทางการเงินตามมิติช่วงวัยพบว่า ทุกวัยมีพัฒนาการที่ดีขึ้นในทุกด้านสอดคล้องกับภาพรวมของประเทศ โดย Gen Y มีระดับทักษะทางการเงินดีที่สุดเมื่อเทียบกับวัยอื่น เนื่องจากมีคะแนนด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงินสูง แต่มีคะแนนทัศนคติทางการเงินค่อนข้างน้อย 

 

รองลงมาคือ Gen X โดยทัศนคติทางการเงินเป็นหัวข้อที่มีคะแนนสูงสุดเมื่อเทียบกับช่วงวัยอื่น Gen Z มีคะแนนทักษะทางการเงินค่อนข้างน้อย โดยมีคะแนนด้านพฤติกรรมและทัศนคติทางการเงินน้อยที่สุดในทุกช่วงวัย แต่มีพัฒนาการของระดับทักษะทางการเงินดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับคะแนนปี 2561 โดยเฉพาะด้านความรู้และพฤติกรรมทางการเงิน และ Baby Boomer ขึ้นไป มีคะแนนทักษะทางการเงินน้อยที่สุดโดยมีคะแนนด้านความรู้น้อยกว่าช่วงวัยอื่น

 


ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

Twitter: twitter.com/standard_wealth

Instagram: instagram.com/thestandardwealth

Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising