ข้อมูลสถิติในปี 2023 จากตลาดหลักทรัพย์และ Statista บริษัทข้อมูลการตลาดและผู้บริโภคชั้นนำของโลก พบว่าคนไทยมีการซื้อของออนไลน์สูงเป็นประวัติการณ์ ด้วยมูลค่าถึง 7 แสนล้านบาท โดยหากเทียบให้เห็นภาพชัดๆ กับยอดขายของร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่ใหญ่ที่สุดในไทย และมีสาขารวมกันมากกว่า 14,000 แห่งทั่วประเทศ
สถิติยังสอดคล้องกับของ McKinsey ที่คาดการณ์ว่ารายได้ช่องทางอีคอมเมิร์ซไทยจะเติบโตมากถึง 25% ต่อปีไปอีกประมาณ 3 ปีข้างหน้า ซึ่งเป็น 7 เท่าของ GDP การเติบโตของเศรษฐกิจของปีนี้ที่ 2% โดยหมวดหมู่ที่โตมากที่สุดคือ หมวดอาหารและเครื่องดื่ม และรองมาคือ หมวดสุขภาพและความงาม
ชวพล ฟ้าอำนวยผล นักกลยุทธ์การตลาดอีคอมเมิร์ซและดิจิทัล เล่าให้ฟังว่าจากประสบการณ์ที่คลุกคลีอยู่ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ, ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และสตาร์ทอัพมากว่า 15 ปี เชื่อว่า Marketplace เป็นเครื่องมือการตลาดที่ทำเงินได้มหาศาล
“ที่ผ่านมาผมดูแลทั้งแบรนด์ชั้นนำมากกว่า 10 แบรนด์ รวมถึงร้านค้าเล็กๆ ที่เริ่มจากศูนย์บนช่องทางออนไลน์ ซึ่งผมได้เปิดร้านค้าและทำการตลาดให้บน Lazada และ Shopee ผ่านไป 2 ปี ปัจจุบันร้านค้าดังกล่าวมียอดขายสูงถึง 7-8 หลักต่อเดือน ผมจึงเชื่อมั่นว่า ไม่ว่าจะเป็นแบรนด์องค์กร (Brand) หรือร้านค้า (Online Seller) หากมีความรู้ความเข้าใจ วิเคราะห์พฤติกรรมลูกค้าได้ รู้เทรนด์ทันเกม และนำเทคนิคต่างๆ ในการทำตลาดออนไลน์มาปรับใช้ ก็สามารถสร้างรายได้อีกมากมายมหาศาล”
ปี 2024 ถือเป็นปีที่การตลาดออนไลน์มาแรง ยอดขายน่าจะแซงปีที่แล้ว จึงได้คัดเลือก 4 กลยุทธ์เด็ดๆ ในปี 2024 เพื่อสร้างรายได้กันอีกช่องทาง ได้แก่
ลุย TikTok เต็มกำลัง ใครเริ่มก่อนได้เปรียบ ด้วยเหตุผลหลักๆ ที่ว่า
- ปี 2024 อีคอมเมิร์ซบน TikTok จะเติบโตเร็วที่สุดเทียบกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซอื่นๆ เพราะพลังของ KOL ที่สามารถกระตุ้นยอดขายได้เร็วกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่า
- เครื่องมือที่แบรนด์ควรให้ความสำคัญสำหรับปี 2024 คือโปรแกรม TikTok Affiliate ซึ่งจะทำให้ผู้บริโภคซื้อง่ายยิ่งขึ้น โปรแกรมส่งฟรี (TikTok Free Shipping) นอกจากนั้น ค่าคอมของ TikTok ที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ (Minimal Commission) จะทำให้แบรนด์หรือร้านค้าออนไลน์มีกำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย
- คนไทยชอบรับข่าวสารด้วยวิดีโอมากกว่าการอ่าน และ TikTok เป็นแพลตฟอร์มวิดีโอที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในประเทศไทย
- TikTok Live เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการกระตุ้นยอดขาย เพราะสามารถเข้าถึงผู้ชมได้อย่างใกล้ชิดและสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วม
- ค่าโฆษณาบน TikTok ต่ำกว่าแพลตฟอร์มอื่นๆ เช่น Facebook ถึง 10 เท่า
- TikTok กลายเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมในทุกกลุ่มเป้าหมาย ไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่ม ยกตัวอย่างแบรนด์ที่อยู่ในกลุ่ม Premium Mass หรือ Premium ก็ขายดีบน TikTok ด้วย เช่น Samsung Thailand, Estée Lauder, Yves Saint Laurent, Kiehl’s และ Dyson สรุปคือเริ่มเปิด TikTok ก่อนได้เปรียบ
ใช้ Marketplace อย่าง Lazada และ Shopee อย่างชาญฉลาด
- ควรจัดโปรโมชันในช่วง CBMO (Crazy Brand Mega Offer) เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่จะรอคอยเพื่อซื้อสินค้าในช่วงนี้ ทำให้ร้านค้ามีโอกาสเพิ่มยอดขายได้ถึง 30-40% ในเวลาเพียง 2 ชั่วโมง ตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตี 2 ของวัน D-Day เช่น 11.11, 12.12 เป็นต้น
- แบ่งงบประมาณทำ CPAS (Collaborative Performance Advertising Solution) เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เคยเข้ามาดูสินค้าบนแพลตฟอร์ม หรือ Add to Cart
- ให้ความสำคัญกับ ROAS (Return on Ad Spend) หรือรายได้จากค่าโฆษณาที่ยิงออกไป อธิบายง่ายๆ คือ ยิงโฆษณา 1 บาท จะได้ยอดขายกี่บาท คือถ้ากำหนด ROAS = 5 หมายความว่า ยิงโฆษณา 1 บาท ควรจะได้ยอดขายคืนมา 5 บาท
- ต้องคำนวณ Breakeven ROAS เป็นตัวเลขที่สำคัญมาก เพราะจะบ่งบอกว่าร้านค้าจำเป็นต้องได้ยอดขายคืนมาเท่าไรจากค่าโฆษณา 1 บาท จึงจะคุ้มทุน ยกตัวอย่าง ครีมกันแดด มีราคาขายปลีกอยู่ที่ 100 บาท มีต้นทุนขาย (COGS) อยู่ที่ 35 บาท ค่าธรรมเนียมแพลตฟอร์ม 5 บาท และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5 บาท รวมเป็นต้นทุนทั้งหมด 40 บาท
- หากแบรนด์ต้องการให้ไม่ขาดทุน จะต้องคำนวณโดยเอา ราคาขาย (100 บาท) หารด้วย ต้นทุนทั้งหมด (40 บาท) จะได้ Breakeven ROAS เท่ากับ 2.5 แสดงว่า เวลาแบรนด์หรือร้านค้ายิงโฆษณา 100 บาท ต้องได้ยอดขายคืนมา 250 บาท จึงจะไม่ขาดทุน
เริ่มทำ DTC (Direct-to-Consumer) หรือเว็บไซต์ Brand.com ของตัวเอง
- จากการสำรวจของ Google พบว่า ผู้บริโภคเริ่มสนใจซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ Brand.com เพิ่มขึ้น เพราะผู้บริโภคเชื่อว่า การซื้อจาก Brand.com จะได้บริการหลังการขายที่ดีกว่า การรับประกันที่แพลตฟอร์มออนไลน์ไม่มีให้ มีความมั่นใจว่าสินค้าเป็นของแท้ และประสบการณ์การซื้อที่ดีกว่า
- ช่วยให้แบรนด์สามารถขายสินค้าราคาแพงกว่าช่องทางอื่นๆ ได้ 20% และไม่ต้องเสียค่าคอมมิชชันให้กับแพลตฟอร์ม
- ช่วยให้แบรนด์มีข้อมูลและข้อมูลเชิงลึกของลูกค้าได้โดยตรง โดยไม่ต้องพึ่งพาบริษัทค้าปลีกหรือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสามารถมาทำ Customer Insight และ CRM ได้ภายหลัง
ใช้ AI เป็นเครื่องมือช่วยสร้างคอนเทนต์ใหม่ๆ เช่น Bard ซึ่งเป็น AI ตัวใหม่ของค่าย Google ที่ฉลาดไม่แพ้กับ ChatGPT 4.0 หรือ ChatGPT แบบ Premium หรือ Copilot ของ Microsoft ซึ่งอีกไม่นานเกินรอจะมี Google Gemini ตัวใหม่ที่พัฒนาได้เจ๋งมากขึ้น เพิ่มความเร็วในการแก้ปัญหา สามารถทำภาพ ทำ Report ให้ข้อมูล และพัฒนาด้านการเขียนโค้ดมากขึ้นไปอีกขั้น
ด้านของร้านค้าหรือผู้ประกอบการรายย่อยก็มี 4 เทคนิคเสริมหากต้องการนำสินค้ามาลงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ได้แก่
- ต้องทำให้ลูกค้าหาสินค้าเราให้เจอ – โดยใช้คำค้นหาที่ลูกค้าใช้ ไม่ใช่คำที่เราใช้ เช่น คำว่า ‘กางเกงยีนส์สาวอวบ’ จะค้นเจอง่ายกว่า คำว่า ‘ยีนส์ไซต์ใหญ่’ เพราะเป็นคำค้นหายอดฮิตของลูกค้า และควรใส่คำค้นหาที่อธิบายคุณสมบัติของสินค้าให้ชัดเจน และสื่อถึงประโยชน์ของสินค้า
- ทำภาพให้หยุดที่ปลายนิ้ว – โดยใช้สีสันสะดุดตา ใช้ภาพที่มีองค์ประกอบโดดเด่น หรือดึง Pain Points ของลูกค้าขึ้นมา เช่น เหมาะสำหรับผิวแพ้ง่าย ไม่ระคายเคือง
- ยิงโฆษณาบน Lazada และ Shopee ก่อน – กรณีที่ขายสินค้าบนสองแพลตฟอร์มนี้เป็นหลัก เพราะจะได้ผลตอบแทนจากค่าโฆษณา (ROAS) ที่ดีกว่า และประหยัดเงินมากกว่าบน Facebook
- ใช้เทคนิค Bundle Deal และ Add-on Deal – เพื่อเสนอส่วนลดพิเศษเมื่อซื้อสินค้าร่วมกันหลายชิ้น
สิ่งสำคัญที่มักมองข้ามคือ การเปลี่ยนชื่อสินค้าบน Marketplace ให้เข้ากับเทศกาลก็ช่วยกระตุ้นยอดขายได้ เช่น ของขวัญปีใหม่ ชุดเทศกาลสงกรานต์ หรือปรับภาพและแจกของแถมให้เข้ากับเทศกาลฟุตบอลยูโร (ช่วงเดือนมิถุนายน 2024) หรือกีฬาโอลิมปิก (ช่วงเดือนกรกฎาคม 2024) เป็นต้น