อุตสาหกรรมหนังสือเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาตั้งแต่การระบาดรอบแรก ถึงจะเจ็บพอตัว แต่ก็สร้างบทเรียนให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ โชนรังสี เฉลิมชัยกิจ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) ในวันที่รัฐบาลประกาศให้งดการจัดงานใหญ่ หลังการระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3
คอหนังสือไม่เหงา เตรียมตระกร้าให้พร้อมช้อป ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ Online (Dejavu)’ ไม่เลื่อน!
ตามกำหนดการเดิม ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 19’ ในคอนเซปต์ ‘อ่านเท่’ เตรียมเปิดบูธเพื่อพบปะนักอ่านในวันที่ 17-23 เมษายนนี้ ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) ไปพร้อมๆ กับการจัด ‘งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติออนไลน์’ บนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com ที่กินระยะเวลานานกว่าหน่อยคือตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2564
แต่เพื่อความปลอดภัยและห่วงใยของสมาคม จึงประกาศเลื่อนจัดงานหนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 แบบ On Ground ออกไปก่อน แต่ ‘สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ Online (Dejavu)’ บนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com ยังได้ไปต่อ เพราะไม่อยากให้คอหนังสือต้องอยู่บ้านกันแบบเหงาๆ สามารถเข้าไปช้อปได้แล้วตั้งแต่วันนี้
สัปดาห์หนังสือแห่งชาติ Online (Dejavu) ครั้งนี้ทางสมาคมอัดฉีดโปรโมชันเอาใจนักอ่านให้ช้อปออนไลน์บนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com พร้อมโปร 3 เด้ง ได้แก่
เด้ง 1: โค้ดส่วนลดสูงสุด 100 บาท
- จากหน้าแรกของ ThaiBookFair.com โดยมีตั้งแต่ 30, 50, 100 บาท ให้เลือกเก็บตามยอดซื้อ 300, 500 และ 1,000 บาท
- จากสำนักพิมพ์ที่เปิดร้านบนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com โดยตรง มอบส่วนลด 100 บาท เมื่อซื้อครบ 500 บาท
เด้ง 2: ส่งฟรี! ไม่มีขั้นต่ำ 200 ออร์เดอร์แรกต่อวัน
เด้ง 3: พบส่วนลดสูงสุดจากสำนักพิมพ์ต่างๆ ถึง 60%
พลิกวิกฤตเป็นโอกาส เปิดตลาดหนังสือไทยผ่านโลกออนไลน์
ถือเป็นความท้าทายอีกครั้งของสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย (PUBAT) เมื่อต้องรับมือกับเหตุการณ์เช่นนี้ แต่โชนรังสีบอกว่า ทางสมาคมมีการเตรียมตัวรับมือที่พร้อมกว่าปีที่ผ่านมาแม้จะมีการระบาดระลอกใหม่ การจัดงานออนกราวด์ต้องเลื่อนไป แต่ออนไลน์ยังต้องเดินหน้าจัดเหมือนเดิม
ปี 2563 รายได้ของทั้งอุตสาหกรรมหายไปประมาณ 40% จากร้านหนังสือ ในส่วนของสำนักพิมพ์ ตัวเลขยอดที่หายไปก็ไม่ต่างกัน เนื่องจากช่วงต้นปีเป็นช่วงที่สำนักพิมพ์เตรียมตัวผลิตสินค้าใหม่ สุดท้ายไม่มีช่องทางที่จะกระจายสินค้า งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติปี 2563 ก็ปรับรูปแบบมาจัดออนไลน์แทน
“ปี 2563 เราไม่สามารถจัดงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติได้ ช่วงแรกเรายังประเมินสถานการณ์ไม่ได้ว่าโรคระบาดนี้จะรุนแรงขนาดไหน แต่ใช่ว่ายอดจะหายเป็นศูนย์ เพราะหลายสำนักพิมพ์ที่ใช้เครื่องมือออนไลน์ก็ยังมียอดบ้าง เพียงแต่ต้องปรับตัว สื่อสารกับนักอ่าน เรามองเป็นโอกาสให้พลิกสถานการณ์ จะเรียกได้ว่าเป็นการพลิกสถานการณ์ของวงการหนังสือที่แรกของโลกก็ได้ เราตัดสินใจเดินหน้าสร้างโครงสร้าง Infrastructure แบบออนไลน์ได้สำเร็จ ด้วยความร่วมมือของเพื่อนสมาชิกและผู้ที่อยู่เบื้องหลังการทำดิจิทัลก่อนเริ่มงานเพียง 3 สัปดาห์
“จากจุดนั้นเอง ตลอดปี 2563 สมาคมก็ใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือมาโดยตลอด เริ่มจากการนำดิจิทัลมาช่วยขายหนังสือในลักษณะ E-Commerce เนื่องจากสมาชิกส่วนใหญ่ของสมาคมผู้จัดพิมพ์ยังเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ออกมาในรูปเล่ม ในขณะที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ก็ต้องปรับตัวมองหาช่องทางใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์มของสำนักพิมพ์เอง หรือจับมือกับ E-Commerce ยักษ์ใหญ่อย่าง Lazada และ Shopee ทำให้สมาชิกมองเห็นและมีความเข้าใจเชิงลึกในการใช้ดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง
“ตลอดปี 2563 เราพบว่า บางสำนักพิมพ์ที่เดินตามแนวทางนี้ได้รับผลกระทบที่เบาลง สำนักพิมพ์ปรับตัวกันเยอะ ยอดขายผ่านออนไลน์เพิ่มขึ้น 3-5 เท่า แม้จะไม่ได้มาเติมเต็มภาพใหญ่ แต่เห็นแนวโน้มที่ดีชัดเจน สิ่งที่เห็นคือนักเขียนหรือคนสร้างคอนเทนต์หันมาทำการตลาดด้วยตัวเอง สร้างฐานแฟนคลับ ทำให้เขาสื่อสารกับแฟนคลับได้อย่างใกล้ชิด เข้าใจผู้บริโภคมากขึ้น และผลิตผลงานหรือคอนเทนต์ได้ตรงใจแฟนคลับมากขึ้น ก็จะเห็นว่ามีการทำพรีออร์เดอร์มากขึ้น ทำ Limited ก็มากขึ้น ตรงนี้จะช่วยให้เขาคุมค่าใช้จ่ายได้ คือผลิตไปตามจำนวนที่สั่งได้เลย ทางสำนักพิมพ์เองก็ต้องปรับเรื่องของการให้บริการ ตอบเร็ว ส่งไว ทำให้ตลาดหนังสือออนไลน์คึกคักขึ้น
“สมาคมเองก็ทำการตลาดเชิงโครงสร้างร่วมกับแพลตฟอร์มใหญ่ และยังเป็นการตลาดภายในเครื่องมือของเราเอง ก็อยากให้เพื่อนสำนักพิมพ์ที่ยังไม่ได้เปิดร้านออนไลน์กับเว็บไซต์ ThaiBookFair.com ต่อให้คุณมีเฟซบุ๊กหรือไอจีอยู่แล้ว แต่การมีร้านที่เป็น E-Commerce เต็มตัว ก็ได้เปิดช่องทางที่มีการตลาดให้พร้อม มีโปรโมชัน มีคูปองที่เราเตรียมไว้ให้ ก็เหมือนจัดงานหนังสือ เพียงแต่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจาก On Ground มาเป็น Online เท่านั้นเอง”
ตลาดหนังสือไทยยังโตได้ เพราะคอนเทนต์ยังจำเป็น ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบไหน
“เด็กเดี๋ยวนี้หันมาอ่านหนังสือกันเยอะขึ้นนะ อ่านในรูปแบบดิจิทัลก็ถือเป็นการอ่านอย่างหนึ่ง หรือเรียนรู้ผ่านการฟังก็เยอะ ถึงแม้จะมีวิธีการเข้าถึงความรู้มากมาย แต่คอนเทนต์ในรูปแบบหนังสือจะยังอยู่ต่อไป แต่เล่มไหนจะฮอตฮิตจนต้องซื้อเก็บมันอยู่ที่การตลาดของคนที่สร้างคอนเทนต์ด้วย ในต่างประเทศจะเห็นว่านักเขียนและสำนักพิมพ์จะมีการบูรณาการ เขียหนังสือเล่มก็จริง แต่ก็ทำ Talk สั้นๆ ในยูทูบ เพื่อพูดถึงคอนเทนต์ในหนังสือและขายไปในตัว
“ปีนี้เชื่อว่านักอ่านคนไทยอยู่ในช่วงของการค้นหาบางอย่าง บางคนค้นหาการเปลี่ยนผ่านของชีวิต บางคนค้นหาอาชีพใหม่ บางคนต้องปรับธุรกิจ การแสวงหาเหล่านั้น หนังสือจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเขาได้ แนวหนังสือที่จะช่วยเรื่องเยียวยาหัวใจให้คลายเครียด หนังสือที่ช่วยสร้างทักษะในการทำงาน ก็น่าจะเป็นเทรนด์ที่กำลังมา”
ที่มาของ #อ่านเท่ สู่นิทรรศการในงาน On Ground บอกเล่า 49 เรื่องเล่าเท่ๆ จากการอ่านหนังสือของ 49 Reading Idols
“จริงๆ แล้วทางสมาคมอยากจัดงานในคอนเซปต์ ‘อ่านเท่’ ตั้งแต่ปีที่แล้ว เราอยากให้มีฟีลของวัยรุ่นที่สนุกสนานและได้สาระไปด้วย พอพูดถึงวัยรุ่นก็นึกถึงความเท่ คำว่าวัยรุ่นไม่ได้หมายถึงอายุอย่างเดียว แต่หมายถึง Young at Heart และความเท่ในที่นี่คือ เท่ที่ได้แสดงออก ได้นำเสนอตัวเองในมุมที่คนอื่นชื่นชอบ หรือมุมที่เราชื่นชมตัวเอง ทุกวันนี้คนใช้โซเชียลมีเดียส่วนหนึ่งก็เพื่อบอกเล่าสิ่งที่ตัวเองเป็น เช่นเดียวกัน เราอยากให้เขานำเสนอความเท่จากการอ่าน ที่ทำให้เขาก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ เราจึงเลือก Reading Idols 49 คน ทุกเพศ ทุกวัย ทุกอาชีพ ที่ประสบความสำเร็จด้านใด ด้านหนึ่ง โดยมีหนังสือบันดาลใจและมีวรรคทองที่เขาได้จากการอ่านหนังสือ อาจจะเป็นวรรคทองพลิกชีวิตมาบอกเล่า ซึ่งนิทรรศการนี้สามารถดูได้ในงาน On Ground เราใช้ชื่อนิทรรศการว่า ‘เพราะฉันอ่าน ฉันจึง…’ อยากให้ทุกคนแวะไปดู เพราะอาจจะได้แรงบันดาลใจดีๆ กลับไป
“เชื่อว่ามีนักอ่านมากมายที่โหยหาการมาเดินงานสัปดาห์หนังสือ ทางสมาคมไม่ได้มองการจัดงานสัปดาห์หนังสือเป็นการจัดงานเพื่อขายหนังสือหารายได้อย่างเดียว แต่มันคือเครื่องมือในการกระตุ้นเรื่องการอ่าน และทำให้เกิดการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างสำนักพิมพ์กับนักอ่าน หรือสำนักพิมพ์ด้วยกันเอง คนที่มาเดินงานหนังสือ นอกจากมาหาหนังสือใหม่ หลายคนก็มาเก็บตกหนังสือที่หาไม่ได้ที่ไหน อีกกลุ่มหนึ่งก็ชอบมาเลือกหนังสือที่คุ้ม ได้ส่วนลดเยอะ หรือบางกลุ่มมางานหนังสือเพราะชอบมาเก็บสะสมของที่ระลึกที่มีจำกัดของแต่ละสำนักพิมพ์ ในขณะที่คุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลูกๆ มีนิสัยรักการอ่าน ก็พามาซึมซับบรรยากาศ ปีนี้นอกจากนิทรรศการ ‘เพราะฉันอ่าน ฉันจึง…’ โซนหนังสือเด็กก็น่าสนใจ เรายกลานกิจกรรมเข้ามาอยู่ในงาน เรียกว่า ‘ลานกิจกรรมอ่านเท่ มหัศจรรย์นิทานพัฒนาสมอง’ จะมีกิจกรรม DIY ให้เด็กๆ มาร่วมทำในแต่ละวัน
“อีกมุมหนึ่งเราก็คาดหวังให้เพื่อนสมาชิกได้มาออกงานเพื่อใช้งานนี้เป็นตลาดหนังสือ สร้างรายได้ และได้พบปะนักอ่าน ส่วนนักอ่านเองก็จะได้มองหาไอดอลของเขาและหาหนังสือสักเล่มที่พลิกชีวิต ในมุมของสมาคม เรากำลังทดลองการตลาด ทั้งเรื่องการจัดเก็บฐานข้อมูลการอ่าน หรือการนำดิจิทัลมาผสมผสาน หวังว่าเครื่องมือเหล่านี้จะเป็นพื้นฐานของโครงสร้างการทำงานในอุตสาหกรรมหนังสือ ไปจนถึงกลไกของสมาคม ที่สำคัญก็หวังว่าการจัดกิจกรรมที่ส่งผลกระทบต่อสังคม จะส่งผลต่อความรู้สึกนึกคิดของคนไทย หรือส่งเสียงไปถึงภาครัฐให้ตระหนักรู้และส่งเสริมการสร้างทุนมนุษย์จากการอ่านอย่างจริงจัง”
นักอ่านหน้าเก่าและหน้าใหม่ ระหว่างที่รอสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ชวนไปช้อปหนังสือออนไลน์พร้อมส่วนลดสุดพิเศษมากมายบนเว็บไซต์ ThaiBookFair.com ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน – 5 พฤษภาคม 2564 ก่อน แฟนหนังสือที่อยากมาเก็บตก พบปะนักเขียน หรือชมนิทรรศการต่างๆ ภายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 49 และงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 19 อดใจรออีกนิด สถานการณ์คลี่คลายเมื่อไร ได้เจอกันอีกครั้งแน่นอนที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค (BITEC) หรือติดตามกำหนดการต่างๆ ได้จากเพจ Thai Book Fair