คำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 กลายเป็นเงื่อนล็อกทุกพรรคการเมืองด้วยเนื้อหาที่ได้วางมาตรการสำคัญไว้ว่า ‘ห้ามพรรคการเมืองหาเสียงผ่านช่องทางออนไลน์’ ครั้งนั้นหลายพรรคการเมืองพร้อมใจกันพาเหรดออกมาแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางที่ไม่เห็นด้วย โดยให้เหตุผลว่าพื้นที่เหล่านี้คือช่องทางสื่อสารที่สำคัญในโลกสมัยใหม่
ล่าสุดในงานเสวนา ‘หาเสียงเลือกตั้งผ่านโซเชียลมีเดียอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมาย’ ซึ่งจัดขึ้นในวันนี้ โดยมี ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ น้อยเล็ก ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นวิทยากรคนสำคัญ และมีผู้ดำเนินรายการคือ รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงความคิดเห็นและตอบคำถามถึงแนวทางการหาเสียงออนไลน์ และนี่คือการสรุปบางส่วนที่น่าสนใจ
ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ เริ่มต้นด้วยการบอกว่าการหาเสียงผ่านช่องทางออนไลน์หรือช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้เพิ่งมีในครั้งนี้ เพราะการเลือกตั้งที่ผ่านมาก็มีการหาเสียงผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ระเบียบ กกต. ก็มี และเวลานี้กำลังกลายเป็นความกังวล จึงขอว่าอย่าไปกังวลมาก เพราะการหาเสียงผ่านโซเชียลเป็นเพียงช่องทางหนึ่งเท่านั้น เนื่องจากมูลฐานความผิดมาจากเนื้อหาของการหาเสียงมากกว่า เช่น การไปหาเสียงใส่ร้าย ข่มขู่ หลอกหลวง หรือการสัญญาว่าจะให้ แจกเงิน แจกสิ่งของ แสดงมหรสพ เหล่านี้หากเผยแพร่ผ่านโซเชียลก็ย่อมมีความผิดอยู่แล้ว แต่อาจต้องระวังเรื่อง พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ เพิ่มขึ้นด้วย
อย่างไรก็ตาม ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ บอกว่าสิ่งที่น่ากังวลกว่าก็คือการติดตามตัวผู้กระทำความผิด เพราะโซเชียลเป็นเหมือน ‘ระบบจักรวาล’ ประเทศไทยเป็นจุดเล็กนิดเดียวที่ไม่สามารถไปควบคุมจักรวาลได้ เมื่อมีผู้กระทำความผิดอาจจะตามหาตัวได้ยาก แต่ได้วางแนวทางการหาเสียงไว้แล้ว โดยแบ่งพื้นที่เป็น 3 โซนคือ
- พื้นที่สีขาว สำหรับผู้สมัคร พรรคการเมือง รวมทั้งหัวคะแนน มีไว้เพื่อหาเสียงผ่านช่องทางนี้ โดยจะต้องมาแจ้งต่อ กกต. ในแต่ละพื้นที่ว่าจะหาเสียงในโซเชียลผ่านช่องทางใดบ้าง เช่น เฟซบุ๊ก และอื่นๆ โดยจะรวบรวมข้อมูลเพื่อแจ้งต่อประชาชนให้ติดตามได้ ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกช่องทางที่มีอยู่ในโลกนี้ กล่าวคือเป็นช่องทางที่เป็นทางการของพรรค
- พื้นที่สีเทา อาจจะเป็นช่องทางที่เกิดขึ้นจากกองเชียร์และกองแช่ง เป็นพื้นที่ที่ กกต. ยอมรับว่าควบคุมลำบาก หากฝ่ายใดได้รับความเสียหายก็สามารถแจ้งต่อเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามกฎหมายได้
- พื้นที่สีดำ เป็นพื้นที่ไร้การควบคุม และยิ่งต้นตออยู่ต่างประเทศก็ยิ่งตามไปดำเนินคดีได้ยาก
ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ เปิดเผยอีกว่าการควบคุมนั้นได้มีการพูดคุยกับผู้ให้บริการเฟซบุ๊กแล้ว ซึ่งมีข้อตกลงที่จะช่วยควบคุมดูแลด้วย แต่ทางเฟซบุ๊กยังคงแบ่งรับแบ่งสู้ โดยจะพิจารณาเฉพาะคำร้องขอที่เป็นไปตามหลักสากล รวมทั้งไลน์ ช่องทางสื่อสารที่เป็นที่นิยมของคนไทยด้วย เราได้ขอความร่วมมือกับเขาไป พร้อมกับประสานไอซีที กสทช. และตำรวจปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี เมื่อมีความผิดจะได้ติดตามตัวได้ถูกต้อง ทุกฝ่ายให้ความเห็นตรงกันว่าสามารถจับผู้กระทำความผิดได้เพียงระดับหนึ่ง คงไม่สามารถทำได้ทั่วโลก แต่จะต้องป้อนความรู้ให้ประชาชนรับทราบว่าข้อมูลที่ถูกต้องจะอยู่ในพื้นที่สีขาวที่เป็นของจริงเท่านั้น
ร้อยตำรวจเอก ชนินทร์ ยอมรับว่า กกต. ก็ไม่สามารถตอบได้ว่าจะเริ่มการหาเสียงผ่านโซเชียลได้เมื่อไร เพราะอยู่ในภาวะที่ไม่ปกติ เป็นช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านทางการเมือง พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ทุกอย่าง เพียงแต่ต้องได้รับอนุญาตจาก คสช. ซึ่งส่วนตัวมองว่า คสช. ก็ได้เริ่มขยับขยายผ่อนคลายมาบ้างแล้ว การหาเสียงเป็นไปไม่ได้ เพราะจะมีปัญหาการได้เปรียบเสียเปรียบ เนื่องจากยังมีพรรคที่จดแจ้งไม่แล้วเสร็จ และการเปิดรับสมัครหรือตัวผู้สมัครก็ยังไม่นิ่ง มองว่าหลังมีพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งก็น่าจะผ่อนคลายหรือปลดล็อกทั้งหมด
THE STANDARD ถามผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและคดีของ กกต. ว่าจะใช้ดุลพินิจและกติกาอย่างไรเพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจถึงกระบวนการตรวจสอบต่างๆ รวมทั้งกรณีที่มีการขอความร่วมมือกับเฟซบุ๊กและไลน์ ผู้อำนวยการชี้แจงว่าประชาชนที่ใช้สื่อเหล่านี้อยู่ อยากจะสื่อสารว่าหากใช้สื่อสารพูดคุยกันปกติก็เป็นเรื่องธรรมดา แต่หากมีการพูดคุยกันที่เป็นพฤติการณ์ที่ส่อให้เห็นว่าเป็นการหาเสียงและโดยเนื้อหามีความผิดก็ต้องถูกดำเนินคดี ส่วนการกระทำความผิดที่ต้องเจอ 3 เด้งคือ ประมวลกฎหมายอาญา พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ก็เป็นปกติหากเป็นความผิด แต่ในช่วงเลือกตั้งก็เพิ่มกฎหมายเลือกตั้งเข้ามา ประชาชนธรรมดาอาจจะเข้าข่ายกองเชียร์ และหากพรรคการเมืองมีส่วนรู้เห็นก็มีความผิด
ภาพประกอบ: Nisakorn R.
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์