×

เปิดมุมมอง ‘คนรุ่นใหม่’ สู่เวที One Young World 2018 พร้อมสานฝันเยาวชนเพื่อร่วมเปลี่ยนแปลงประเทศไทยและโลกไปสู่ความยั่งยืน [PR NEWS]

โดย THE STANDARD TEAM
25.12.2018
  • LOADING...

ในยุคที่ทุกอย่างเคลื่อนตัวอย่างรวดเร็วด้วยเทคโนโลยี สิ่งที่ยังคงความสำคัญอยู่คือการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน SDGs (The Sustainable Development Goals) ที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสรรค์ให้สังคมยังคงขับเคลื่อนไปโดยไม่ละทิ้งปัญหาสำคัญของโลก โครงการระดับโลก One Young World 2018 เวทีแห่งพลังความเชื่อมั่นและแรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ชวนคนรุ่นใหม่ ‘Lead2030’ ร่วมผลักดันเป้าหมายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ทางซีพีสานฝันปันโอกาสส่งเยาวชนเข้าร่วมในเวทีระดับโลกนี้ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 สนับสนุนให้ผู้นำรุ่นใหม่จากกลุ่มธุรกิจต่างๆ ในเครือเจริญโภคภัณฑ์และผู้นำเยาวชนจากองค์กรภายนอก ด้วยความเชื่อมั่นในพลังของคนรุ่นใหม่ที่จะสามารถเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ไปสู่ความยั่งยืนที่สอดคล้องกับหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มุ่งมั่นเพื่อทุกชีวิตตามยุทธศาสตร์ 3 Hs ได้แก่ Heart: มุ่งมั่นทำธุรกิจด้วยใจ, Health: มุ่งมั่นสร้างสังคม, Home: มุ่งมั่นเพื่อสิ่งแวดล้อม

 

 

มุมมองคนรุ่นใหม่กับปัญหาการศึกษาจากไทยถึงเวทีโลก

วันนี้ได้มีโอกาสถอดความคิดของเยาวชนตัวแทนจากไทยที่สะท้อนมุมมองของผู้นำรุ่นใหม่ที่มีต่อการแก้ปัญหาและการพัฒนาโลกจากเวที One Young World 2018

 

แพม-ชนากานต์ กิตติจารุจิตต์ กับความสนใจในประเด็นเทคโนโลยีที่สร้างความเท่าเทียมทางการศึกษา

“สำหรับแพม นวัตกรรมที่รู้สึกสนใจมากคือ plenary session ของการศึกษาค่ะ ประเด็นสำคัญคืออินเทอร์เน็ตสามารถทำให้เกิดความเท่าเทียมกันในการศึกษาได้จริงหรือเปล่า เพราะในทุกวันนี้เราเห็นว่าอินเทอร์เน็ตมีการพัฒนาไปไกลมาก แต่เรายังเห็นว่ามีเด็กจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับหรือยังเข้าไม่ถึงการศึกษาอยู่ ทำให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า Tele Story ที่เป็นเหมือนโปรแกรมให้เราสามารถใช้โทรศัพท์เพื่อให้เข้าถึงระบบหนังสือเสียงได้ เหมือนเป็นการลดช่องว่างให้กับพ่อแม่ที่อาจไม่รู้หนังสือ แต่สามารถอ่านหนังสือให้ลูกฟังได้ มันทำให้เราเข้าถึงความรู้ได้อย่างไม่จำกัด และด้วยประเด็นนี้ทำให้เราหันกลับมามองปัญหาในไทยเองว่ามีส่วนที่คล้ายกัน อย่างในระบบโรงเรียน บางทีอินเทอร์เน็ตเข้าถึงแล้ว แต่ครูอาจยังขาดความรู้ในการใช้งานเพื่อจะนำความรู้มาสอนให้กับเด็กๆ ทำให้พลาดในการสอนเพื่อให้เด็กได้เข้าถึงความรู้ และจากไอเดียของ Tele Story ทำให้เราคิดว่าเอามาต่อยอดได้ อย่างบริษัทในเครือฯ ของเรามี True Corporation ก็สามารถเอามาประยุกต์ใช้เพื่อให้เข้าถึงการศึกษาได้ อาจต้องมีการศึกษาในประเด็นนี้เพิ่มเติมเพื่อหาหนทางในการต่อยอดพัฒนาแก้ปัญหาได้จริงๆ

 

และอีกสิ่งที่สำคัญที่มองเห็นคือเรื่องของข้อมูล ที่หากระบบการศึกษาในบ้านเราได้เอามาใช้จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ในการเรียนการสอน ถ้าข้อมูลมีมากพอจะสามารถเอาไปประมวลผลออกมาเป็นหลักสูตรการสอนได้ อย่างแพมทำงานอยู่ CPG อยากพัฒนาร่วมกับ True เราก็สามารถทำได้ เพราะเครือเราก็มีทรัพยากรเยอะอยู่แล้ว เหมือนกับเป็นการทำงานร่วมกันกันระหว่างเครือด้วย แล้วพัฒนาส่งต่อเพื่อออกไปใช้งานได้จริง

 

บาส-ณัฐวัชร์ สหะศักดิ์มนตรี มุมมองเกี่ยวกับปัญหาด้านสุขภาพ หนึ่งแกนสำคัญที่ทั้งประเทศไทยและในระดับนานาชาติกำลังให้ความสำคัญ

สำหรับผม ประเด็นที่น่าสนใจคือโรคบางโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่พอไม่ได้ป้องกัน มันทำให้เกิดการสูญเสียจนอาจเสียชีวิตได้ ตัวอย่างในประเทศฝรั่งเศสที่ฉีดวัคซีนป้องกันจนสามารถลดอัตราการเสียชีวิตที่คำนวณไว้คร่าวๆ เป็นล้านคน ประเด็นเรื่องความรู้ในการป้องกันโรคจึงเป็นจุดสำคัญ ในประเทศไทยหรือประเทศอื่นๆ ทั่วโลก บุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลนมาก ถ้าประชาชนมีความรู้ในการดูแลป้องกันตัวเองในเบื้องต้นจะทำให้เราสามารถโฟกัสการทุ่มงบประมาณและบุคลากรในการรักษาไปกับโรคที่เกิดขึ้นกะทันหัน อาจเป็นจากไวรัสที่ไม่สามารถตั้งตัวหรือป้องกันได้ หากเราลดเรื่องของการตายหรือการเสียชีวิตจากโรคที่เราสามารถป้องกันได้ก่อนจะเป็นเรื่องที่ดีมาก และถือเป็นการดูแลและป้องกันอย่างยั่งยืน

 

โอกาสที่ได้มาร่วมโครงการ One Young World 2018 ครั้งนี้ผมชอบไอเดียของ RB เป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์สุขภาพ เช่น Dettol และถุงยางอนามัย Durex คือเขาเป็นองค์กรที่ทำตามแนวคิดเรื่องป้องกันดีกว่ารักษา คือการไปดูแลป้องกันที่จุดเริ่มต้น ปัญหาสุขภาพมักมาพร้อมกับปัญหาความยากจน เช่น ปัญหาขาดแคลนห้องน้ำ ซึ่งมันเป็นเรื่องของสุขลักษณะ บางทีมันทำให้สุขลักษณะไม่ถูกต้อง แล้วมันก็ทำให้เกิดการติดเชื้อ ท้องร่วง ท้องเสีย อหิวาตกโรค แนวคิดของเขาคือพยายามผลักดันให้เกิดห้องน้ำ เพราะว่าทุกวันนี้คนประมาณแค่ 1 ใน 3 ของโลกเท่านั้นเองที่มีการเข้าถึงห้องน้ำที่ถูกสุขลักษณะและมีห้องน้ำที่อนามัยถูกต้อง เขาก็จะพยายามผลักดันให้ในพื้นที่ที่ห่างไกลมีห้องน้ำ รวมถึงมันก็เหมือนเป็นโครงการของเขาที่เป็นเขต Shared Value ด้วย คือเขาก็ขายผลิตภัณฑ์ที่ทำความสะอาดห้องน้ำด้วย มีห้องน้ำมาก ผลิตภัณฑ์เขาก็ขายออกไป แล้วพอขายออกไป เขาก็เอาเงินตรงนี้กลับมาหมุนเวียนใหม่ เป็นการลงทุนและทำธุรกิจแบบยั่งยืน

 

อย่างเครือซีพีของเรามีผลิตภัณฑ์เป็นอันดับหนึ่งในประเทศไทย เราสามารถจัดหาห้ทุกที่ได้ทั้งหมด ซึ่งถ้าเกิดเรามาเริ่มตรงนี้ เราควรจะเป็นคนนำกระแสเรื่องอาหารสุขภาพ ทุกวันนี้คนใช้ผลิตภัณฑ์ของเราค่อนข้างเยอะเป็นหลักแสนหลักล้านคน ถ้าเราผลักดันตรงนี้ให้คนเริ่มเข้าถึงอาหารสุขภาพได้ง่ายขึ้น มันก็จะเป็นจุดเล็กๆ ในการเริ่มต้นให้คนไทยหันมาใส่ใจสุขภาพแล้วก็ต่อยอดไปได้เรื่อยๆ ครับ

 

นอกจากปัญหาด้านสุขภาพกายแล้ว เยาวชนผู้นำยังคงมีความสนใจในเรื่องปัญหาสุขภาพจิตด้วย ไหม-มนัสวี ศุระศรางค์ จะมาร่วมแชร์ประสบการณ์และแนวคิดที่ได้รับจากเวทีนี้

“ไหมได้มีโอกาสเข้าไปในส่วนของเวทีย่อยที่พูดถึงเรื่องของภาวะซึมเศร้า เรารู้สึกว่าเหมือนมาคอนเฟิร์มในสิ่งที่เราทำอยู่คือเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพจิต ตอนแรกเรายังไม่แน่ใจทิศทางว่าที่เราทำมันถูกต้องไหม หรือมันมีไอเดียอะไรที่เพิ่มมากกว่านี้ ปรากฏว่าไม่ว่าจะเป็นสปีกเกอร์จากอินเดียหรือจากแถบแอฟริกาใต้ คือเขาทำในสิ่งที่เหมือนเรา การแก้ไขปัญหามันเริ่มจากจุดเล็กๆ ก่อน ยังไม่ทำในจำนวนคนที่มากไป เพราะไอเดียสำคัญเรามองว่ามันต้องให้เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วค่อยขยายออกไปอย่างมีพลัง สิ่งสำคัญที่ได้จากการเข้าร่วมครั้งนี้คือคุณภาพสำคัญมากกว่าปริมาณ ซึ่งมันเป็นสิ่งที่ไหมทำอยู่แล้ว ไอเดียที่เราทำที่ไทยจึงเหมือนเป็นสิ่งที่จุดประกายว่าเรามาถูกทางแล้ว สิ่งที่ทำคือคลับที่ชื่อว่า ‘ดูใจ’ เป็นโปรเจกต์ที่ทำร่วมกับเพื่อนปริญญาโท เราคิดหัวข้อขึ้นมาแล้ว ใครที่สนใจก็สามารถมาร่วมพูดคุยและแชร์ประสบการณ์กันได้

 

สิ่งแรกที่เราต้องปรับเพื่อจะแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิตคือเราต้องปรับทัศนคติก่อนว่าคนที่มีปัญหาทางจิตไม่ใช่คนป่วยที่จะกันออกไปจากชีวิต แต่กลุ่มคนที่มีปัญหาคือคนที่เราต้องให้ความสนใจที่จะพูดคุยกับพวกเขาเพื่อค้นพบทางออกให้เขา พูดให้เข้าใจง่ายคือการไปพบจิตแพทย์ไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อเราเจอภาวะทางจิตใจที่รู้สึกเป็นปัญหา เราสามารถไปหาจิตแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาได้

 

สำหรับการทำงานโปรเจกต์ของไหมที่ผ่านมาคือเราทำงาน แต่ยังไม่ได้เผยแพร่ออกไปมากนัก ในการไปร่วมโครงการ One Young World 2018 ครั้งนี้ทำให้เราได้คอนเน็กชันจากคนที่สนใจในปัญหาเหล่านี้เหมือนกันจากประเทศอื่นๆ และประเด็นสำคัญที่ไหมได้จากเวทีนี้คือการแก้ปัญหาในทุกๆ เรื่องมันต้องแก้ไปพร้อมๆ กันในทุกด้าน ทั้ง 5 ด้านที่มีมันต้องไปด้วยกัน การที่คุณจะพัฒนาสุขภาพอย่างเดียว แต่ว่าคนไม่มีการศึกษามันก็ไปไม่ได้ เราเห็นความเชื่อมโยงว่าต้องพัฒนาและแก้ปัญหาไปพร้อมๆ กันจึงจะเกิดความยั่งยืน

 

ปัญหาความยากจนในทัศนะของเยาวชนผู้นำ นัน-ณัฐนันท์ เอมอมรจิต

นันสนใจประเด็นปัญหาความยากจน สิ่งที่ได้จากการเข้าร่วมโครงการ One Young World 2018 ที่จุดประกายความคิดให้นันคือการได้ร่วมกับคนเกือบ 1,800 คนจากหลากหลายประเทศ เราได้คุยกับคนจากหลายที่ ซึ่งเขามีความสนใจแตกต่างกัน เราได้เจอคนที่เป็นทีมงานของ Muhammad Universe Center ซึ่งเป็นองค์กรที่เขาเรียกว่าเป็นจุดเริ่มต้นของไมโครไฟแนนซ์ คือการให้คนยากจนกู้ยืม คนที่ยากจนมากๆ ที่ไม่มีเครดิตเลยเขาไม่ได้มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน แต่อยากจะช่วยเหลือ เลยเข้าไปทำงานเป็นอาสมัครให้กับ Muhammad Universe Center ซึ่งเป็นจุดที่เรารู้สึกว่าคนในประเทศเขาให้ความสำคัญกับเด็กรุ่นใหม่ ประเทศเขาให้ความสำคัญในการแก้ไขปัญหานี้ อาสาสมัครตัวเองเข้าไปทำงาน ได้ใกล้ชิดกับคนที่อยากจะขับเคลื่อนสังคมจริงๆ ทำให้เรามีแรงบันดาลใจอยากกลับมาต่อยอดการทำงานของตัวเองที่ไทย

 

ตัวอย่างที่สนใจมากคือคนที่ทำงานเป็น Marketing Manager ที่ Facebook เขาได้เข้าร่วมแคมเปญของ One Young World ปีที่แล้ว แล้วก็กลับมาสร้างแคมเปญให้ทุกคนประกวดโครงการ Social Business ของตัวเองเข้ามา โดย Facebook จะปันเงินให้ผู้ชนะ ซึ่งวิธีคิดของเขาคืออย่าไปคิดว่าเราไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ แต่คนรุ่นใหม่ทุกคนสามารถเปลี่ยนแปลงโลกและสังคมให้ดีขึ้นได้ แม้ว่าจะเป็นจุดเล็กๆ ก็ตาม

 

 

นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของแง่มุมที่เหล่าเยาวชนตัวแทนของไทยได้รับจากการเข้าร่วมโครงการนี้

 

ด้าน ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้พูดไว้ในเรื่องของการให้โอกาส มีประเด็นที่น่าสนใจคือในอดีตศุภชัยได้พลาดหลายอย่างที่สำคัญในชีวิต เนื่องจากมุ่งมั่นแต่การทำงาน จึงทำให้มุมมองในชีวิตแคบไปอย่างน่าเสียดาย เลยอยากเป็นผู้มอบโอกาสให้กับคนรุ่นใหม่ ดังนั้นการเข้าร่วมประชุม One Young World จึงเป็นโอกาสที่จะทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความตระหนักรู้และขยายมุมมองให้กว้างขึ้น

 

และในครั้งนี้ยังได้เกิดการรวมตัวของกลุ่มผู้นำเยาวชนในการดำเนินงานโครงการต่อต้านความรุนแรงทางเพศขึ้นเป็นครั้งแรก เพื่อใช้ความมุ่งมั่นและองค์ความรู้ต่างๆ ที่มี เข้าไปจัดการกับปัญหาความรุนแรงเกี่ยวกับเพศทั้งในระดับพื้นที่และในระดับโลก โดยกลุ่มผู้นำเยาวชนการต่อต้านความรุนแรงทางเพศต่างเห็นพ้องตรงกันว่าความรุนแรงเกี่ยวกับเพศทุกรูปแบบคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งปัจจุบันมี 1 ใน 3 ของผู้หญิงและเด็ก รวมถึง 1 ใน 6 ของผู้ชายและเด็กชายทั่วโลกต้องเผชิญกับความรุนแรงเกี่ยวกับเพศในชีวิต และผลวิจัยล่าสุดยังพบว่าปัญหาเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้นในประเทศที่กำลังพัฒนา และถือว่าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินด้านมนุษยชน

 

ด้าน กมลนันท์ เจียรวนนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารองค์กร Voice Foundation for Vulnerable Children หนึ่งในแกนนำกลุ่มผู้นำเยาวชนต่อต้านความรุนแรงทางเพศ ได้แลกเปลี่ยนมุมมองปัญหาความรุนแรงทางเพศที่ยังเกิดขึ้นทุกวันไว้น่าสนใจ

 

“ถึงฉันจะภูมิใจที่เป็นคนไทย แต่ฉันไม่ภูมิใจที่เห็นเด็กขอทานไร้สัญชาติบนถนนซึ่งถูกกักขังควบคุมโดยผู้ที่เอาเปรียบ เด็กไร้สัญชาติมีความเสี่ยงต่อการถูกค้ามนุษย์ ใช้แรงงานเด็ก และความรุนแรงทางเพศ สิ่งนี้เป็นเรื่องน่าเศร้าที่เด็กๆ ที่ไร้สัญชาติต้องประสบ และสิ่งเหล่านี้ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเด็กเหล่านี้คืออนาคตของเรา ฉันมุ่งมั่นที่จะทำให้ชีวิตของเด็กเหล่านี้ดีขึ้น แต่ในขณะที่ยังทำอะไรไม่ได้มาก ฉันก็จะเป็นกระบอกเสียงให้กับพวกเขา”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • One Young World Summit คือการประชุมสุดยอดผู้นำรุ่นใหม่ระดับโลกเพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองต่อปัญหาสำคัญในด้านต่างๆ ที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน
  • One Young World Summit มีการจัดประชุมมาแล้วทั้งสิ้น 8 ครั้ง ครั้งแรกจัดขึ้นในปี 2010 ที่กรุงลอนดอน หลังจากนั้นได้มีการจัดประชุมนี้อย่างต่อเนื่องที่ซูริก สวิตเซอร์แลนด์, พิตต์สเบิร์ก สหรัฐอเมริกา, โจฮันเนสเบิร์ก แอฟริกาใต้, ดับลิน สาธารณรัฐไอร์แลนด์, กรุงเทพฯ ไทย, ออตตาวา แคนาดา, โบโกตา โคลอมเบีย ตามลำดับ
  • การประชุม One Young World Summit ครั้งต่อไป ซึ่งเป็นครั้งที่ 10 มีกำหนดจัดขึ้น ณ กรุงลอนดอน อังกฤษ ระหว่างวันที่ 22-29 ตุลาคม 2019
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X