“ลุงแก้อะไรไม่ได้ ถ้าอยากแก้ก็แค่ออกจากบ้านไป”
หนึ่งในประโยคที่ถูกพูดออกมาไม่กี่ครั้ง ผ่านปากของ ‘ไพลิน’ (รับบทโดย วี-วีรยา จาง) ลูกสาวคนที่ 4 จากบ้าน ‘แม่มุก’ (รับบทโดย แหม่ม-คัทลียา แมคอินทอช) ที่ตามปกติจะเก็บตัว นั่งเล่นเกมอยู่เงียบๆ ไม่ค่อยพูดจา แต่ถ้าพูดออกมาเมื่อไรจะแปรสภาพเป็นมีดที่กรีดลงไปกลางใจ ‘ลุงตั้ม’ ผู้แสนดี (รับบทโดย ดู๋-สัญญา คุณากร) และทำให้เธอดูเป็นเด็กมีปัญหาที่ไม่ค่อยน่ารักอยู่เสมอในซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ
นอกจากลุ้นความสัมพันธ์ของพี่น้องคนอื่นๆ ที่กำลังเข้มข้น หอมกรุ่นกลิ่นดราม่าลอยมาแต่ไกล โดยเฉพาะคู่ ‘ตะวันตัดเพชร’ โดย จูเน่-เพลินพิชญา โกมลารชุน และ เฌอปราง อารีย์กุล ที่กำลังเดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่
ไพลินคือตัวละครที่ดูเหมือนจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นน้อยที่สุด แต่สิ่งที่เธอเก็บซ่อนเอาไว้ใต้ผมหน้าม้าและแว่นสายตาหนาเตอะนั้นเป็นความรู้สึกที่เจ็บปวดและหนักหนาเกินกว่าที่จะควรถูกแปะป้ายว่าเป็นเด็ก ‘มีปัญหา’ เพียงเพราะคำพูดและท่าที่ทีแสดงออกมา
เวลาสิบกว่าปีหลังจากแม่มุกแยกทางกับพ่อภูมิ (รับบทโดย เบียร์-ธิตินันท์ ชุ่มภาณี)นานเพียงพอที่จะทำให้สมาชิกในครอบครัวคนอื่นๆ ‘มูฟออน’ จากความรู้สึกนั้น และพาชีวิตตัวเองไปเผชิญกับปัญหาความสัมพันธ์รูปแบบอื่นๆ เพชรต้องเรียนรู้ความรักคนละรูปแบบที่มอบให้ครอบครัว, ตะวันต้องตามหาใครสักคนที่สามารถหยุดเธอได้
พลอย (รับบทโดย ปัญ-ปัญสิกรณ์ ติยะกร) ต้องข้ามผ่านความไม่มั่นใจในตัวเองกับความรักที่ไม่สามารถเปิดเผย, น้องเล็กสุดอย่าง แพรวพราว (รับบทโดย มิวนิค-นันท์นภัส เลิศนามเชิดสกุล) ต้องต่อสู้กับความรู้สึกว่ากำลังจะถูกแย่งความรัก, เบบี้ (รับบทโดย ฟ้อนด์-ณัฐทิชา จันทรวารีเลขา) ต้องสู้กับความรู้สึกถูกต่อต้านและความไม่เก่งของตัวเอง รวมทั้งมุกที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานกับความรักครั้งที่ 3 และต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ลูกๆ ยอมรับให้ได้
เหลือเพียงไพลินคนเดียวที่ไม่สามารถพาตัวเองมูฟออนจากความสัมพันธ์ครั้งก่อน ที่ไม่ใช่แค่คนรักธรรมดา แต่เป็น ‘พ่อ’ แท้ๆ ที่แม้รู้ว่าไม่มีทางเป็นไปได้ แต่เธอก็ยังคิดถึง และอยากให้คืนวันเก่าๆ ที่พ่อและแม่อยู่ด้วยกันกลับคืนมาเสมอ
ความยากในการมูฟออนของไพลินอยู่ที่ ถ้าเป็นความรักตามปกติ เมื่อเลิกรากันไป สักวันหนึ่งเราจะเปลี่ยนสถานะซึ่งกันและกันเป็นคนรักเก่า แต่ความรักระหว่างไพลินกับภูมินั้นไม่มีวันเปลี่ยนสถานะเป็น ‘พ่อเก่า’ หรือ ‘ลูกเก่า’ ได้ ทุกคนจะยังคงสถานะ ‘พ่อ-ลูก’ ที่ผูกพันกันจนวันตาย
เมื่อสถานะไม่เปลี่ยน ไพลินเลยเลือกที่จะ ‘รอ’ ให้พ่อและแม่กลับมารักกันด้วยความหวัง รอชนิดปิดหัวใจไม่ให้ใครเข้ามา แม้ว่าลุงตั้มจะแสนดีขนาดไหน ไพลินก็ไม่เหลือพื้นที่ในหัวใจให้อยู่ดี
ถึงแม้จะไม่ค่อยมีเวลาให้ และพี่น้องคนอื่นๆ เริ่มเห็นปัญหาเหมือนกันว่าภูมิอาจจะไม่ใช่พ่อที่สมบูรณ์แบบ แต่เราก็ยังเห็นไพลินพยายามติดต่อพ่อตลอดเวลา พยายามชวนพ่อกลับมาทุกครั้งที่มีโอกาส และรู้สึกดีใจมากๆ ทุกครั้งที่ได้เจอกันแม้จะเป็นช่วงเวลาไม่นานก็ตาม
ผิดกับลุงตั้ม ที่อีกไม่กี่เดือนข้างหน้าเขาอาจมีสถานะเหมือน ‘พ่อคนใหม่’ ของไพลิน แต่เธอก็ปฏิบัติตัวกับเขาอย่างไร้ตัวตน ไม่ชื่นชมอาหารที่ลุงตั้มตั้งใจทำ บางครั้งก็อยากทำอาหารกินเอง บางก็ครั้งก็ถึงขนาดปฏิเสธความตั้งใจนั้นไปเลย
รวมทั้งอีกหนึ่งปัญหาที่เรารู้สึกว่า ‘หนัก’ กับความรู้สึกของไพลินมากที่สุด คือการเรียนหมอไม่ไหวและตัดสินใจดรอปไว้ 1 ปี ในขณะที่พ่อแม่แท้ๆ พยายามบอกให้ไพลินกลับมาตั้งใจเรียนใหม่ แต่ลุงตั้มที่อยู่ด้วยกันไม่นานกลับเป็นคนเดียวที่เข้าใจ และแนะนำให้ไพลินเปลี่ยนมาเรียนเกี่ยวกับเกมที่เธอชอบแทน
ความเศร้าของฉากนี้คือ ไพลินไม่เคยได้รับสิ่งนี้จากพ่อและแม่ของเธอมาก่อน แต่กลายเป็นว่าเธอต้องได้ยินประโยคที่เธออยากฟังที่สุดออกมาจากปากคนที่เธอเกลียดที่สุด ความเก็บกด บิดเบี้ยวที่สะสมเอาไว้ ทำให้ไพลินตัดสินใจตอบแทนความหวังดีนั้นด้วยประโยคที่ว่า
“ลุงเลิกมายุ่งกับหนูสักทีได้ไหม”
เป็นประโยคแห่งความแข็งกร้าวที่ก่อตัวขึ้นมาจากบาดแผลร้าวลึกที่อยู่ในหัวใจ การไม่สามารถมอบความรักให้กับคนที่หวังดีกับเราได้ คือความเจ็บปวดที่สุด ไม่ต่างอะไรจากการถูกปฏิเสธจากคนรัก หรืออาจจะมากกว่านั้นด้วยซ้ำไป
ไพลินแบกเรื่องเหล่านี้ไว้กับตัวมาตลอด แม้จะรักและอยากทำตามหัวใจตัวเองมากเท่าไร แต่ไพลินก็รักแม่เกินกว่าที่จะนำความรู้สึกของตัวเองไปแลกและทำให้แม่ไม่สบายใจ
เท่าที่เปิดเผยออกมาในซีรีส์ เราไม่เคยเห็นไพลินต่อว่าตั้มต่อหน้ามุก ตอนที่ขอไปอยู่กับพ่อ ก็ไม่ได้บอกปัญหาที่มีกับลุงตั้ม แค่บอกว่าอยากไปอยู่กับพ่อแล้วก็ลากันแบบเงียบๆ
เมื่อกลับมาอยู่กับพ่อจริงๆ ได้ไม่นาน ภาพกล่องข้าวที่ถูกวางไว้บนชั้นรองเท้า, ข้อความที่ขึ้นว่าอ่านแล้วแต่ไม่ตอบ และ ‘น้องชาย’ ของพ่อและแฟนใหม่ที่กำลังจะลืมตาขึ้นมาดูโลกก็ย้ำความจริงอันแสนเจ็บปวดให้เธออีกครั้งว่าทุกคนกำลังมูฟออนไปข้างหน้า เหลือเพียงเธอคนเดียวที่พาตัวเองออกไปไหนไม่ได้สักที
นำไปสู่ฉากสำคัญตอนที่ไพลินย้ายไปอยู่ที่หอของทราย (รับบทโดย เจน-กุลจิราณัฐ อินทรศิลป์) เซฟโซนอีกที่หนึ่งในชีวิต แล้วแม่ตามมาหาพร้อมข้าวต้ม 1 ถุง และประโยคที่ว่า
“แม่เอาข้าวต้มมาฝาก ไว้หิวเมื่อไรก็แบ่งกันกินกับทราย อยากกลับบ้านเมื่อไรก็ค่อยกลับไปบ้านเรานะลูก”
เป็นคำพูดเรียบง่าย มีแต่ความเข้าใจ ไร้ซึ่งการบีบคั้น ที่เรารู้สึกว่านี่คือประโยคที่อธิบายคอนเซปต์ ‘บ้าน’ ในซีรีส์ One Year 365 วัน บ้านฉัน บ้านเธอ ได้ดีที่สุด
เพราะสถานที่ที่เราจะเรียกว่าบ้านได้อย่างเต็มปาก ไม่ใช่สถานที่ที่เราต้องอยู่ทุกวัน แต่เป็นพื้นที่ปลอดภัย ที่รอให้เรากลับไปได้อย่างสบายใจได้ทุกเวลา
เราไม่รู้ว่า ‘ข้าวไข่เจียว’ ของลุงตั้มที่ไพลินยอมกินตอนกลับมาบ้านจะช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขาได้มากเท่าไร
แต่อย่างน้อยที่สุดการที่ไพลินมีสมาชิกในครอบครัวที่น่ารัก มีบ้านที่แสนอบอุ่นรอให้ ‘กลับ’ ไปเสมอ จะเป็นพื้นที่สำคัญที่ช่วยให้เธอมูฟออนพาตัวเองไปข้างหน้าเพื่อพบกับเรื่องราวและเผชิญหน้ากับปัญหาอีกมากมายที่รออยู่
เพื่อที่ว่าสักวันหนึ่ง ‘ไพลิน’ เม็ดนี้จะได้ส่องแสงเปล่งประกายตามแบบของตัวเองได้อย่างสดใสและสวยงาม
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า