×

หนึ่งสัปดาห์รัฐประหารในเมียนมา คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดกับไทย สิ่งที่เราต้องเท่าทัน

08.02.2021
  • LOADING...

ผ่านไปหนึ่งสัปดาห์ หลังกองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนของ ออง ซาน ซูจี พร้อมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นเวลา 1 ปี ท่ามกลางความตึงเครียดและความไม่แน่นอนทางการเมืองที่เกิดขึ้น จากนี้ไปจะเป็นอย่างไรต่อยังเป็นคำถามที่น่าคิด และไทยซึ่งมีพรมแดนติดกันควรเตรียมรับมือกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอย่างไร    

 

หนึ่งสัปดาห์รัฐประหารเมียนมา เรารู้อะไรแล้วบ้าง

เช้ามืดเวลา 03.00 น. เศษๆ ของวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2020 ทหารของกองทัพเมียนมาเข้าควบคุมตัวผู้นำรัฐบาล นักการเมืองของพรรคร่วมรัฐบาล ซึ่งมีพรรคสันนิบาตชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) เป็นแกนนำ รวมถึงมุขมนตรีของรัฐและเขตที่เป็นเครือข่ายของพรรค NLD โดยคาดการณ์ว่าในรอบแรกมีผู้ถูกควบคุมตัวราว 30 คน โดยในปฏิบัติการครั้งนี้มีการตัดสัญญาณโทรศัพท์มือถือและยับยั้งการเข้าถึงสื่อต่างๆ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญทางการทหารมองว่ากองทัพใช้ยุทธวิธีเดียวกันกับ ‘Kill Switch’ ซึ่งกองทัพเคยใช้ในการปราบปรามเหตุการณ์ความไม่สงบในรัฐยะไข่และรัฐฉิ่น

 

หลังจากนั้นกองทัพได้ใช้มาตรา 70-73 ของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2008 เพื่อประกาศว่าประธานาธิบดีเมียนมาคนปัจจุบัน วิน มินต์ ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จึงแต่งตั้งรองประธานาธิบดี มิน ส่วย (ซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยกองทัพ) ให้ปฏิบัติหน้าที่แทน และอาศัยความตามมาตรา 415-420 ในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน (State of Emergency) และถ่ายโอนอำนาจทั้งบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไปให้กองทัพ ซึ่งนำโดย พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ทำหน้าที่หัวหน้าคณะบริหารแผ่นดิน ในขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติหรือสภา Hluttaw ถูกยุบไปโดยอัตโนมัติ และสำหรับฝ่ายตุลาการให้ใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีความ

 

หลังจากนั้น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ได้ประกาศว่าจะจัดตั้งรัฐบาลดูแลความสงบภายในประเทศเป็นระยะเวลา 1 ปี ก่อนที่จะให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอีกครั้ง และมีการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่จำนวน 11 คนแทนที่คณะรัฐมนตรีชุดเดิม (จำนวน 24 คน) โดยมีกิจการสำคัญที่ต้องมีรัฐมนตรี ได้แก่ การต่างประเทศ การสาธารณสุข กลาโหม ความมั่นคงภายใน กิจการชายแดนและชนกลุ่มน้อย และการคลัง

 

จนถึงปัจจุบันมีการประมาณการกันว่าในระหว่างสัปดาห์แรกมีผู้ที่ถูกกองทัพควบคุมตัวประมาณ 400 ราย แต่ส่วนใหญ่ได้รับการปล่อยตัวแล้ว ยกเว้น 2 คนที่ยังถูกจับตัวอยู่อย่างแน่นอนคืออดีตที่ปรึกษาแห่งรัฐ ออง ซาน ซูจี และอดีตประธานาธิบดี วิน มินต์ ในขณะที่หลายๆ พื้นที่ยังคงมีการตัดสัญญาณโทรศัพท์ อินเทอร์เน็ต และมีการควบคุมการเข้าถึงสื่อออนไลน์โซเชียลมีเดียต่างๆ

 

ด้านประชาชนที่สนับสนุนอดีตรัฐบาลพลเรือนที่มีพรรค NLD เป็นแกนนำได้ออกมาแสดงการอารยะขัดขืนบนโลกออนไลน์และการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น การนัดหมายเวลาในการเคาะถ้วย ถัง กาละมัง หม้อ และกดแตรรถยนต์ คล้ายๆ กับการขับไล่สิ่งชั่วร้ายให้ออกไปจากบ้านเมืองในทุกๆ วัน เวลา 20.00 น. รวมทั้งชาวเมียนมาที่อยู่ในต่างประเทศก็ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรูปแบบต่างๆ 

 

ล่าสุดมีการนัดชุมนุมของประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหารในย่างกุ้งและเมืองใหญ่ แต่ก็ถูกสลายการชุมนุมอย่างรวดเร็ว 

 

หลายประเทศในโลกตะวันตกออกแถลงการณ์เรียกร้องในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ นั่นคือให้กองทัพยกเลิกการทำรัฐประหารและยอมรับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2020 โดยบางประเทศขู่จะทำการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับเมียนมา ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านของเมียนมาอย่างจีนและสมาชิกอาเซียนนั้นเข้าใจและยอมรับถึงบริบทและเงื่อนไขทางสังคม การเมือง และเศรษฐกิจภายในเมียนมา และไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายใน โดยประเทศกลุ่มนี้ขอให้รัฐบาลเมียนมาชุดใหม่ภายใต้การนำของ มิน อ่อง หล่าย กระทำการโดยนึกถึงผลประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก และหวังว่าเมียนมาจะกลับสู่แนวทางการปฏิรูปประชาธิปไตยได้ในเร็ววัน

 

 

คาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย

ระยะฉับพลัน ประเทศไทยจะเผชิญหน้ากับความสุ่มเสี่ยง 4 ประการ

1. ประชาชนเมียนมา โดยเฉพาะในบริเวณรัฐต่างๆ ที่มีชนกลุ่มน้อยเป็นประชากรส่วนใหญ่ คนเหล่านี้เคยมีประสบการณ์ในอดีตที่ทำให้พวกเขาไม่มีทางเชื่อว่ากองทัพจะครองอำนาจเพียง 1 ปี และที่ผ่านมาเมื่อกองทัพเถลิงอำนาจ พวกเขามักจะถูกย่ำยี ประกอบกับการระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างมาก นั่นทำให้พวกเขามีแนวโน้มที่จะอพยพตนเองเข้ามาหางานทำในประเทศไทยเพิ่มมากยิ่งขึ้น ดังนั้นฝ่ายความมั่นคงของไทยต้องเข้มงวดการเคลื่อนย้ายคนในบริเวณชายแดนอย่างมาก ทั้งนี้เนื่องจากไทยกับเมียนมามีพรมแดนติดกัน 2,401 กิโลเมตร ดังนั้นการตรวจคนเข้าเมืองอย่างรัดกุมและการควบคุมไม่ให้กลุ่มธุรกิจสีเทาที่นำพาคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย อันจะทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 คือสิ่งที่ไทยต้องให้ความสำคัญอย่างสูงสุดและเร่งด่วน

2. กองกำลังของชนกลุ่มน้อยในบริเวณชายแดนหลายกลุ่มเริ่มกลับมาติดอาวุธอีกครั้ง ซึ่งทำให้สถานการณ์บริเวณชายแดนอาจเกิดความตึงเครียด โดยเฉพาะหากกองทัพเมียนมาเร่งปราบปราม ซึ่งจะทำให้ชนกลุ่มน้อยติดอาวุธเหล่านี้หนีข้ามชายแดนเข้ามาในประเทศไทย และในอดีตไทยเองเคยใช้ขบวนการชนกลุ่มน้อยเหล่านี้ในรูปแบบรัฐกันชน ถึงแม้ว่าในระยะหลังไทยจะไม่ได้มีนโยบายดังนั้นแล้ว และทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ดีมาก ดังนั้นกองกำลังชนกลุ่มน้อยเหล่านี้จะกลายเป็นความสุ่มเสี่ยงครั้งใหม่

3. แรงกดดันจากต่างประเทศที่ต้องการกดดันประเทศไทยให้ร่วมคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจและต่อต้านการรัฐประหารในเมียนมา ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเรามีจุดยืนคือไม่ต้องการเข้าไปแทรกแซงกิจการภายในประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งผู้ประกอบการชาวไทยจำนวนมากก็ยังมีธุรกิจจำนวนมากที่ต้องพึ่งพิงการค้าการลงทุนในประเทศเมียนมา และอีกประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือความมั่นคงทางพลังงาน เนื่องจากประเทศไทยต้องพึ่งพาก๊าซธรรมชาติจำนวนมากจากเมียนมา ดังนั้นการมีความขัดแย้งระหว่างกันของประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดผูกพันกันมาก อันเป็นผลมาจากแรงกดดันของประเทศที่อยู่อีกซีกโลกหนึ่งซึ่งไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียมากนักจะทำให้ไทยอยู่ในฐานะลำบาก

4. แรงกระเพื่อมในมิติการเมืองภายในประเทศ โดยกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ต่อต้านรัฐบาลในประเทศไทยจะใช้เหตุการณ์ในเมียนมาเป็นข้ออ้างในการออกมาชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมือง ซึ่งนอกจากสุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการปะทะและการแพร่ระบาดของโรคแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงต่อการสร้างความร้าวฉานในมิติความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของไทยกับเพื่อนบ้านอีกด้วย

 

ระยะ 1-2 ปีต่อจากนี้

เนื่องจากเกิดการรัฐประหาร หมายความว่าความสัมพันธ์ระหว่างโลกตะวันตกกับเมียนมาจะมีรูปแบบที่ตกต่ำลง การค้าการลงทุนจากตะวันตกจะลดลง ซึ่งนั่นหมายถึงการเข้าถึงสินค้าและบริการของคนเมียนมาจะลดลง และจะกลายเป็นโอกาสให้ผู้ประกอบการไทยมีโอกาสเข้าไปทำการค้าการลงทุนกับเมียนมาได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งการค้าชายแดนของไทยในอดีตก็มีองค์ความรู้ในการค้าขายกับเมียนมาในช่วงเวลาที่เมียนมาปิดประเทศมาอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างเพื่อนบ้านจะทำให้เรามีโอกาสขยายมูลค่าการค้าการลงทุนในเมียนมามากยิ่งขึ้น ซึ่งนี่คือสิ่งที่เป็นผลประโยชน์ของไทยที่เราต้องการมากที่สุด โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจภายในประเทศอยู่ในภาวะตกต่ำอันเป็นผลมาจากโควิด-19

 

ระยะยาว

ผู้เขียนเชื่อว่าเมียนมาคงไม่สามารถกลับไปปิดประเทศเหมือนในทศวรรษที่ 1970-2000 ได้อีกต่อไป ทั้งนี้เนื่องจากประเทศได้มีการเดินหน้าปฏิรูปไปแล้วทั้งระบบการเมืองและระบบเศรษฐกิจ ประกอบกับประชาชนเมียนมาสามารถเข้าถึงสื่อต่างๆ ได้มากยิ่งขึ้น ดังนั้นเชื่อว่ากองทัพคงต้องหาแนวทางในการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบภายในประเทศเพื่อให้เมียนมายังคงสามารถเดินหน้าการปฏิรูปต่อไปได้ในระยะยาว โดยที่กองทัพยังสามารถที่จะมีบทบาทในการควบคุมการทำงานของรัฐบาลพลเรือนได้ แต่คำถามที่สำคัญคือกองทัพจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินกิจกรรมเหล่านี้นานแค่ไหน และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพในช่วงเปลี่ยนผ่านจะเป็นอย่างไร

 

หากกองทัพใช้เวลาเนิ่นนานจนเกินไป และความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับกองทัพจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ นั่นอาจนำไปสู่สถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุด นั่นคือการแทรกแซงกิจการภายในของเมียนมาโดยประเทศมหาอำนาจผ่านการส่งกองกำลังรักษาสันติภาพเข้ามา ซึ่งแน่นอนว่าสถานการณ์การสู้รบในประเทศที่มีรั้วติดกันกับประเทศไทยไม่ใช่สิ่งที่ไทยต้องการอย่างแน่นอน แต่ไทยก็ต้องเตรียมพร้อม

 

แต่หากเส้นทางการปรองดองระหว่างกองทัพกับภาคการเมืองในประเทศสามารถเกิดขึ้นได้อย่างราบรื่น ฝ่ายไทยทั้งรัฐและเอกชนก็คงต้องจับตาดูความสัมพันธ์ครั้งใหม่นี้ พร้อมกับกฎเกณฑ์กฎระเบียบใหม่ในเมียนมาให้ดี เพื่อแสวงหาผลประโยชน์ของไทยและเมียนมาร่วมกันอย่างยั่งยืน

 

อย่าลืมว่าไม่ว่าจะอย่างไรประเทศไทยกับเมียนมาก็มีพรมแดนยาว 2,401 กิโลเมตรจากภาคเหนือสู่ภาคใต้ของไทย และเราไม่สามารถยกประเทศไทยหนีออกไปจากเพื่อนบ้านได้ ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีและรักษาผลประโยชน์ของไทยจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด 

 

สำหรับการวิเคราะห์สาเหตุของการเกิดการรัฐประหารในเมียนมา ผู้เขียนเคยอธิบายไว้แล้วในโพสต์ Facebook ส่วนตัว Piti Srisangnam ดังนี้

 

ว่าด้วยสถานการณ์ใน #เมียนมา

 

เราต้องเข้าใจ #สมการแห่งอำนาจ ในเมียนมา

 

เท่าที่ผมพอจะเข้าใจคือเดิม NLD และกองทัพต่างก็ต้องหวังพึ่งซึ่งกันและกัน แต่ในระยะหลังกองทัพเองก็ไม่ได้มีความเป็นเอกภาพมากนัก

 

ในอดีตกองทัพสนิทสนมกับจีนด้วยผลประโยชน์หลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะเรื่องการเข้าถึงทรัพยากร แต่ในระยะหลังเมื่อเมียนมาเปิดประเทศ ต่างชาติกลุ่มใหม่เข้ามามากขึ้น ประกอบกับสถานการณ์เรื่องชนกลุ่มน้อยโกก้างในรัฐฉานติดชายแดนจีนทำให้หลายฝ่ายมองจีนเป็นภัยความมั่นคง

 

อีกด้านของพรมแดนทางตะวันตก ปัญหาเรื่องเบงกาลี-โรฮีนจา ที่ชาติตะวันตกเข้ามาแทรกแซงก็ทำให้หลายๆ ฝ่ายในประเทศกังวล

 

เมื่อกองทัพคบจีนก็น่ากังวล รัฐบาลคบตะวันตกก็น่ากังวล ดังนั้นกองทัพกับรัฐบาลที่เคยต้องพึ่งพากันเหมือนเครื่องหมายหยิน-หยางที่ต่างกัน ตรงกันข้ามกัน แต่ต้องอยู่ด้วยกัน ถ่วงดุลกัน จึงเสียสมดุล

 

ประกอบกับในกลุ่มกองทัพเอง ระหว่างกลุ่มอาวุโสกับกลุ่มรุ่นใหม่ก็ดูจะไม่เป็นเนื้อเดียวกัน เมื่อก่อนอาจจะอยู่ด้วยกันได้ แต่ภายหลังเองหลังจากที่กองทัพบางหน่วยได้รับการสนับสนุนจากอินเดีย (ซึ่งเป็นพันธมิตรสหรัฐฯ ในยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก และเป็นคู่กรณีกับจีน) โดยเฉพาะเรื่องเรือดำน้ำ เช่นเดียวกับที่รัฐบาลเองก็ได้รับการสนับสนุนเรื่องวัคซีนโควิด-19 จากอินเดีย

 

นั่นทำให้ดุลอำนาจและการพึ่งพาระหว่างจีน ตะวันตก และผู้เล่นใหม่คืออินเดียเสียสมดุล และสมดุลเดิมระหว่าง NLD และกองทัพ (ซึ่งมี USDP เป็นตัวแทน) ก็เสียสมดุล เพราะกองทัพมีความแตกตัวออกเป็นกลุ่มๆ ได้แก่ กลุ่มนายทหารอาวุโส (สนิทจีน) กลุ่มทหารรุ่นใหม่ที่ยอมรับ NLD มากขึ้น และกลุ่มทหารที่ต้องการคบคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่จีน

 

และต้องอย่าลืมว่าเมื่อช่วงกลางปีของปีที่แล้ว นายพลอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ก็เพิ่งจะแต่งตั้งนายทหารรุ่นใหม่ให้มีตำแหน่งระดับนายพล และมีหน้าที่คุมกำลังและคุมอาวุธยุทโธปกรณ์ โดยเฉพาะตำแหน่งที่หลายฝ่ายจับตาคือตำแหน่งของ นายพล เขียวสวาร์ลิน ซึ่งถือเป็นนายพลที่อายุน้อยที่สุดในกองทัพเพียง 49 ปี และยังเป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 35 ซึ่งถือว่าเด็กมาก และเป็นการแต่งตั้งข้ามหัวรุ่นพี่จำนวนมาก เพราะตำแหน่งในระดับนี้ปกติน่าจะเป็นตำแหน่งของนายพลที่เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นที่ 24-27 ไม่ใช่ข้ามมารุ่น 35 แต่แน่นอนว่าเขียวสวาร์ลินคือเด็กสร้างของ มิน อ่อง หล่าย ที่จะทำให้เขาแน่ใจว่าหลังจากที่เกษียณอายุ เขาจะไม่ถูกเช็กบิลแน่ๆ เราเห็นรอยร้าวชัดเจนในกองทัพ

 

และจากประวัติศาสตร์ เมื่อเสถียรภาพในกองทัพไม่มี การออกมาแสดงกำลังมักจะเกิดขึ้น เช่น หลังเหตุการณ์ 8888 ทหารฝ่ายเนวินถูกโค่นโดยฝ่ายตานฉ่วย หรือในช่วงทศวรรษที่ 2000 ที่ตานฉ่วยก็โค่นตัวแทนของตนเองอย่าง โซ่วิ่น-หม่องเอ แล้วแต่งตั้งเต็งเส่ง

 

และในอนาคตอันใกล้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด มิน อ่อง หล่าย ก็กำลังจะเกษียณอายุ ในเดือนกรกฎาคมนี้ ดังนั้นสำหรับกองทัพเมียนมาแล้ว การที่จะต้องกระชับอำนาจ ถ้าจะต้องทำ ก็ต้องรีบทำตอนนี้

 

ภาพปก: Varuth Pongsapipatt / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

ภาพ: Yuttachai Kongprasert / SOPA Images / LightRocket via Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X