×

ผลวิจัย UNESCO ชี้ เด็ก 1 ใน 3 ของโลกถูก Bully หวั่นส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้

03.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 MINS READ
  • ผลการศึกษาขององค์การ UNESCO พบว่าเยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ของโลกเคยมีประสบการณ์ถูกแกล้ง หรือ Bully มาก่อน
  • ในภาพรวม เด็กผู้ชายมีประสบการณ์ถูกล้อหรือแกล้งมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่ในประเทศที่มีปัญหา Bully ขั้นรุนแรง เด็กผู้หญิงจะถูก Bully มากกว่าเด็กผู้ชาย
  • นอกจากนี้ยังพบว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจของพ่อแม่เด็กก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กถูกแกล้ง โดยเฉพาะเยาวชนที่มีฐานะยากไร้ ขณะที่เด็กผู้อพยพก็เผชิญปัญหาถูก Bully มากกว่าเด็กท้องถิ่นในประเทศที่ร่ำรวย

ผลการศึกษาชิ้นใหม่โดยสถาบันสถิติศาสตร์ (UIS) ขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO บ่งชี้ว่าเยาวชนเกือบ 1 ใน 3 ทั่วโลกเคยมีประสบการณ์ถูกล้อ รังแก แกล้ง หรือถูก Bully มาก่อน ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าวิตก เพราะตอกย้ำปัญหาใหญ่ที่ส่งผลลบต่อความสามารถในการเรียนรู้ของเด็ก

 

รายงานยังพบว่าเยาวชนที่มีฐานะยากไร้และเกิดในครอบครัวผู้อพยพมีแนวโน้มถูก Bully มากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ขณะที่เด็กผู้ชายมีประสบการณ์ถูกล้อมากกว่าเด็กผู้หญิง แต่ในประเทศที่มีปัญหา Bully ขั้นรุนแรง เด็กผู้หญิงจะถูก Bully มากกว่าเด็กผู้ชาย

 

 

ข้อมูลดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งจากตัวชี้วัดสำคัญซึ่งใช้ติดตามความคืบหน้าของเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในข้อที่ 4 (SDG 4) ซึ่งรวมถึงการอัปเดตฐานข้อมูลการศึกษาทั่วโลกของ UIS ประจำปีการศึกษาที่สิ้นสุดในปี 2017

 

ทางสถาบันตระหนักดีว่าการล้อหรือแกล้งกันในโรงเรียนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของเด็ก นอกจากนี้ยังทำให้คนที่ถูกกลั่นแกล้งรู้สึกไร้ค่าและมีส่วนต่อการตัดสินใจออกจากโรงเรียนกลางคันด้วย ดังนั้น UIS จึงใช้ตัวชี้วัด 4.a.2 ซึ่งเป็นหมวดย่อยใน SDG 4 ในการติดตามสถานการณ์การ Bully ในโรงเรียนต่างๆ ทั่วโลก

 

รายงานระบุว่าโรงเรียนควรเป็น ‘เซฟโซน’ หรือสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก เพราะการศึกษาที่มีคุณภาพขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของเด็กๆ อย่างไรก็ตาม ผลการสำรวจแสดงให้เห็นว่าการ Bully เกิดขึ้นกับเด็กทั่วโลกตั้งแต่เด็กวัยรุ่นในทาจิกิสถานที่มีอัตราการ Bully ต่ำที่สุดที่ 7% ไปจนถึงมากสุดที่ 74% ในประเทศซามัว อีกทั้งบ่งชี้ให้เห็นถึงความแพร่หลาย ไม่ว่าจะในภูมิภาคหรือประเทศที่มีระดับรายได้ต่างกันเพียงใด ยกตัวอย่างเช่น 44% ของเด็กวัยรุ่นในอัฟกานิสถานเคยถูกล้อหรือแกล้งมาก่อน ขณะที่เยาวชนในแคนาดา แทนซาเนีย และอาร์เจนตินา มีอัตราการถูก Bully อยู่ที่ 35%, 26% และ 24% ตามลำดับ

 

ทั้งนี้ข้อมูลในรายงานฉบับนี้มาจากการรวบรวมผลสำรวจภายในโรงเรียน โดยแบ่งเป็นโพลจากทีม Global School-based Student Health Survey (GSHS) ซึ่งติดตามประวัติสุขภาพทางกายและจิตใจของเยาวชนอายุระหว่าง 13-17 ปีในภูมิภาคที่มีรายได้ต่ำ ส่วนโพลจากทีม Health Behavior in School-age Children (HBSC) จะโฟกัสไปที่เด็กอายุระหว่าง 11-15 ปีใน 42 ประเทศ ซึ่งอยู่ในทวีปยุโรปและอเมริกาเหนือเป็นส่วนใหญ่

 

อย่างไรก็ดี การสำรวจข้างต้นมีข้อจำกัด เนื่องจากเด็กที่ถูกล้อบางคนไม่กล้าเปิดเผยประสบการณ์หรือเรื่องราวการถูก Bully ในโรงเรียน ซึ่งทำให้ตัวเลขที่ได้อาจคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง

 

เมื่อพิจารณาแยกตามเพศ พบว่าเด็กผู้ชายมักถูกล้อหรือแกล้งมากกว่าเด็กผู้หญิง โดยข้อมูลจากการสำรวจระบุว่าเด็กผู้ชาย 32% เคยมีประสบการณ์ถูก Bully เทียบกับเด็กผู้หญิงที่ถูกแกล้ง 28%

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองเจาะลึกไปที่ 10 ประเทศที่มีเด็กรายงานการถูกแกล้งมากที่สุด กลับพบว่าเด็กผู้หญิงมีอัตราการถูก Bully มากกว่าเด็กผู้ชายเล็กน้อยที่ 65% ต่อ 62% ซึ่งอาจบ่งชี้ได้ว่าประเทศที่มีปัญหาการ Bully อย่างแพร่หลาย เด็กผู้หญิงอาจได้รับผลกระทบมากกว่าเด็กผู้ชาย

 

 

สำหรับปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อปัญหาการ Bully นั้น งานวิจัยพบว่าสถานภาพทางสังคมและเศรษฐกิจ ตลอดจนสถานะผู้อพยพ มีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กถูกล้อหรือกลั่นแกล้งด้วย โดยข้อมูลจาก HBSC ระบุว่าเด็กในยุโรปและอเมริกาเหนือที่มีพ่อแม่ร่ำรวย หน้าที่การงานดี หรือมีการศึกษาดี มีโอกาสล้อหรือแกล้งเพื่อนในโรงเรียนมากกว่าเด็กกลุ่มอื่น ขณะที่เด็กยากจนมากถึง 40% เคยถูกล้อหรือแกล้ง

 

นอกจากฐานะทางสังคมและเศรษฐกิจแล้ว เด็กผู้อพยพหรือเกิดในครอบครัวผู้อพยพที่อาศัยในประเทศที่มั่งคั่งมีความเสี่ยงถูก Bully มากกว่าเด็กท้องถิ่น

 

ซิลเวีย มอนโตยา ผู้อำนวยการ UIS ของ UNESCO ระบุในรายงานว่าผลการศึกษาที่ได้นี้จะเป็นกุญแจสำคัญไปสู่การเปลี่ยนแปลง เพราะให้ภาพที่ชัดเจนว่าใครที่ตกเป็นเหยื่อของการถูก Bully นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นหนทางแก้ไขโดยภาครัฐ องค์การระหว่างประเทศ และองค์การไม่แสวงผลกำไร (NGO) เพราะเราสามารถเข้าถึงกลุ่มเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือมากที่สุดได้

 

ขณะเดียวกัน สถาบัน UIS ก็กำลังทำงานร่วมกับพาร์ตเนอร์ในแวดวงการศึกษาอย่างใกล้ชิดเพื่อจัดหาเครื่องมือที่จำเป็นในการช่วยให้บรรลุเป้าหมาย SDG 4 ซึ่งก็คือโอกาสการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพของเยาวชนทั่วโลก ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับเป้าหมายย่อย SDG 4.a. ที่มุ่งติดตามสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนโดยรวม รวมถึงโฟกัสตัวชี้วัดย่อย ซึ่งแบ่งเป็น 4.a.1 สิ่งอำนวยความสะดวกทางการศึกษา, 4.a.2 การติดตามพฤติกรรมการกลั่นแกล้งภายในโรงเรียน และ 4.a.3 การศึกษาปัญหาความรุนแรงภายในโรงเรียน

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง: UNESCO

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising