วันนี้ (24 ตุลาคม) ที่ทำเนียบรัฐบาล เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการฯ, นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข, นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รวมถึงกรรมการจากภาคส่วนต่างๆ ทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรุงเทพมหานคร สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ สมาคมโรงพยาบาลเอกชน สำนักงานสภาองค์กรของผู้บริโภค และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เข้าร่วมประชุม
เศรษฐากล่าวว่า รัฐบาลมีนโยบายขับเคลื่อนการสาธารณสุขของประเทศ โดยยกระดับระบบบริการสุขภาพด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล และสร้างระบบสาธารณสุขที่เหมาะสมสำหรับทุกคนบนแผ่นดินไทย มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง เข้าถึงระบบบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ซึ่งวันนี้เป็นการประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งแรก เพื่อขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพ
โดยเฉพาะการสร้างและพัฒนาระบบสาธารณสุขให้มีประสิทธิภาพ สร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระยะยาวให้เกิดความเท่าเทียม เป็นธรรม และเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน โดยมีการหารือ 5 ประเด็นเร่งด่วนตามนโยบายยกระดับ 30 บาท ที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งในและนอกระบบสาธารณสุข ได้แก่ บัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่, มะเร็งครบวงจรและการให้วัคซีน HPV, สถานชีวาภิบาล, การเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขต กทม. และสุขภาพจิต / ยาเสพติด ซึ่งเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลที่ได้ให้คำมั่นไว้กับประชาชน
เศรษฐากล่าวว่า ที่ประชุมยังได้เห็นชอบให้มีการแต่งตั้ง ‘คณะกรรมการบริหารการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ’ ทำหน้าที่ติดตามและกำกับการดำเนินงานให้เป็นไปอย่างบูรณาการและมีประสิทธิภาพ โดยให้แพทองธารเป็นประธาน และมีกรรมการจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดความมั่นคงทางสุขภาพในระยะยาวของประเทศ ให้คนไทยแข็งแรง ประเทศชาติมั่นคง นำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันด้านอุตสาหกรรมการแพทย์และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจที่เข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป
นอกจากนี้ ยังได้เห็นชอบตามที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเสนอให้พิจารณาแต่งตั้งผู้แทนในคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ เพิ่มเติม 2 ตำแหน่ง คือ นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน และนายกสภาการแพทย์แผนไทย
ด้านแพทองธารกล่าวว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยทุกคนมาตั้งแต่ปี 2544 ปัจจุบันครอบคลุมประชาชนมากกว่าร้อยละ 99.6 ช่วยให้เข้าถึงบริการมากขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายทางสุขภาพ และลดจำนวนครัวเรือนที่ยากจนจากรายจ่ายด้านสุขภาพได้ แต่ยังต้องพัฒนาต่อเนื่อง โดยแก้ไขจุดที่เป็นปัญหาและความทุกข์ของประชาชน คือ ความเหลื่อมล้ำในการรับบริการ ความแออัด และระยะเวลารอคอยการรักษา โดยเฉพาะโรงพยาบาลในเขตเมือง ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลและนวัตกรรมมาใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการ ตั้งแต่ส่งเสริมป้องกัน ตรวจวินิจฉัย ดูแลรักษา นัดหมาย ส่งต่อ และเชื่อมโยงจัดการฐานข้อมูลทั้งหมด
เพื่อมุ่งสู่ก้าวต่อไปคือ ยกระดับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ารักษาได้ทุกที่ ให้ประชาชนทุกระดับสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเข้ารับบริการสุขภาพได้ทุกหน่วยบริการ ไม่ว่าจะเป็นของรัฐ เอกชน คลินิก และร้านขายยาใกล้บ้าน รวมทั้งพัฒนาคุณภาพการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว มีทางเลือกที่เหมาะสม ลดขั้นตอนบริการ ตอบสนองต่อปัญหาและความต้องการ โดยยึดหลัก ‘ผู้รับบริการเป็นศูนย์กลาง’ เช่น นัดหมายออนไลน์ ใบรับรองแพทย์อิเล็กทรอนิกส์ ดูแลผู้ป่วยที่บ้าน พื้นที่ห่างไกล ให้เข้าถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ทันท่วงที ไร้ข้อจำกัด ผ่านระบบ Telemedicine การส่งยาและเวชภัณฑ์ไปยังบ้านผู้ป่วย ซึ่งทั้งหมดนี้ทุกภาคส่วนต้องร่วมมือกันจึงจะยกระดับหลักประกันสุขภาพฯ ของไทยให้ดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เรื่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะนำร่องใน 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส ที่สามารถเข้ารับบริการได้ทุกเครือข่าย ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหลังจากนี้จะเร่งพัฒนาระบบบันทึกข้อมูล ระบบยืนยันตัวตน และเชื่อมโยงข้อมูลเครือข่ายบริการ ทั้งโรงพยาบาล คลินิก ร้านยา และแล็บที่สนใจเข้าร่วม ซึ่งจะทำให้ สปสช. สนับสนุนงบประมาณและจ่ายชดเชยให้หน่วยบริการได้เร็วขึ้น โดยจะได้รับงบประมาณเหมาจ่ายรายหัวล่วงหน้า กรณีผู้ป่วยนอกจะจ่ายชดเชยใน 3 วัน และผู้ป่วยในจ่ายชดเชยทุก 7-14 วัน รวมถึงจะมีการเพิ่มคู่สาย สายด่วน 1330 ทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยนัดหมายบริการ ยืนยันตัวตน การไปรับยาใกล้บ้าน โดยเพิ่มอาสาสมัคร เช่น พยาบาลเกษียณ หรือคนพิการ เข้าร่วมบริการประชาชน
นพ.ชลน่าน กล่าวต่อว่า เรื่องมะเร็งครบวงจรจะครอบคลุมทั้งงานส่งเสริมป้องกัน คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษา และดูแลผู้ป่วย โดยจะมีการคิกออฟทีม Cancer Warrior ทั้งระดับกระทรวง ระดับเขตสุขภาพ และระดับจังหวัด ปลายเดือนตุลาคมนี้ เพื่อดูแลประชาชนทุกจังหวัดให้มีความรู้และตระหนักในการป้องกันโรคมะเร็ง โดยเฉพาะ 5 มะเร็งสำคัญ คือ มะเร็งตับ มะเร็งท่อน้ำดี มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก, คิกออฟฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในหญิงอายุ 11-20 ปี 1 ล้านโดส วันที่ 8 พฤศจิกายน 2566 และคิกออฟคัดกรองพยาธิใบไม้ในตับฟรี 1 แสนคน ภายในเดือนพฤศจิกายน 2566
นอกจากนี้จะเพิ่มการเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยด้วยเทคโนโลยี PET/CT และ SPECT/CT Scan การแพทย์เฉพาะบุคคล การรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และรังสีรักษาให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ ใช้เวลาเดินทางไม่เกิน 2 ชั่วโมง ส่วนสถานชีวาภิบาล ดูแลผู้ป่วยที่มีภาวะพึ่งพิง ติดบ้าน ติดเตียง ผู้ป่วยที่รับการดูแลแบบประคับประคอง ตั้งแต่ระยะแรกจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการที่มีมาตรฐานมากขึ้น เพิ่มคุณภาพชีวิต ลดภาระค่าเดินทาง ลดความกังวลของครอบครัว จะพัฒนาคนเพื่อรองรับระบบชีวาภิบาลเพิ่มขึ้น 5,000 คน สร้างระบบชีวาภิบาลในทุกโรงพยาบาล บริการที่บ้าน ชุมชน และ Telemedicine รวมทั้งจัดตั้งสถานชีวาภิบาลในชุมชน เช่น วัดคำประมง จังหวัดสกลนคร และขยายสิทธิให้ครอบคลุมทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ โดยเป้าหมาย 100 วันแรกจะจัดตั้งสถานชีวาภิบาลทุกเขตสุขภาพและใน กทม. 7 เขต มีการจัดบริการ Hospital at Home หรือ Home Ward ทุกจังหวัด โดยจะเปิดสถานชีวาภิบาลต้นแบบในเดือนธันวาคม 2566
สำหรับการเพิ่มการเข้าถึงบริการในเขตกรุงเทพมหานคร 50 เขต 50 โรงพยาบาล จะนำร่องโรงพยาบาลประจำเขตดอนเมือง ระยะที่ 1 โดยยกระดับโรงพยาบาลทหารอากาศ (สีกัน) เป็นโรงพยาบาลทุติยภูมิขนาด 120 เตียง ยกระดับศูนย์บริการสาธารณสุข 60 รสสุคนธ์ มโนชญากร เป็นโรงพยาบาลผู้ป่วยนอกเฉพาะทางร่วมกับโรงพยาบาลแม่ข่าย และเตรียมพร้อมโรงพยาบาลราชวิถี 2 เป็นโรงพยาบาลรับส่งต่อผู้ป่วย คาดว่าจะเปิดให้บริการทั้ง 3 ส่วนได้ภายในเดือนธันวาคม 2566
ขณะที่เรื่องสุขภาพจิตและยาเสพติด ยึดหลักการ ‘เพื่อนแท้มีทุกที่’ ให้ประชาชนเข้าถึงบริการคุณภาพตั้งแต่ระยะแรก และสามารถกลับไปใช้ชีวิตในชุมชนได้ โดยจัดตั้งมินิธัญญารักษ์ทุกจังหวัดเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการบำบัดรักษาฟื้นฟูผู้ป่วยยาเสพติด ตามหลักการเปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย ซึ่งปัจจุบันมีมินิธัญญารักษ์แล้ว 35 จังหวัด 64 โรงพยาบาล มีกลุ่มงานจิตเวชทุกอำเภอ และมีหอผู้ป่วยจิตเวชทุกจังหวัด นอกจากนี้จะส่งเสริมสุขภาพจิตเชิงรุกในชุมชน ค้นหากลุ่มเสี่ยงในชุมชน บริการฉุกเฉินจิตเวช เพิ่มการเข้าถึงบริการจิตเวชทางไกล และการฟื้นฟูผู้ป่วยระยะยาวในชุมชน / สังคม