×

One For The Road วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (2565) ความปรารถนาครั้งสุดท้ายของชายหนุ่มผู้ด้อยโอกาสในชีวิต

10.02.2022
  • LOADING...
One For The Road

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • One for the Road ของ ‘บาส นัฐวุฒิ’ เป็นผลงานอำนวยการสร้างของ หว่องกาไว ผู้กำกับชั้นครู ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของหนังขึ้นหิ้งว่าด้วยความอ้างว้างเดียวดายหลายต่อหลายเรื่อง (ที่แน่ๆ In the Mood for Love ของเขายังคงเป็นหนึ่งในหนังโรแมนซ์ที่ซาบซึ้งที่สุดตลอดกาล) ส่วนที่ชวนให้หมายเหตุก็คือ One for the Road เป็นส่วนผสมที่สวยสดงดงามและลงตัว หรือถ้าจะเปรียบให้เข้ากับสิ่งที่หนังเรื่องนี้บอกเล่า มันก็เป็นค็อกเทลแก้วใหม่ที่รสชาติกลมกล่อมและผสานสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองคนได้อย่างน่าตื่นตา
  • กระนั้นก็ตาม ดีเอ็นเอของหว่องกาไวที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของ One for the Road ก็น่าจะได้แก่สัมผัสอันสุดแสนโรแมนติกที่หนังถ่ายทอดผ่านห้วงคิดคำนึงของตัวละครที่ปนเประหว่างความจริง ความฝัน จินตนาการ ความทรงจำ และผ่านความมุ่งมาดปรารถนาที่ดูเป็นเรื่องสูงส่งและยิ่งใหญ่เกินกว่าคนใกล้ตายจะสามารถบรรลุมรรคผลได้จริงๆ จังๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของตัวละคร แต่ได้แก่การหาหนทางแก้ไขไถ่ถอนความผิดบาปและการชำระล้างจิตใจ เพื่อว่า ‘การเดินทางไกล’ ของเขาจะได้ปลอดโปร่งโล่งสบาย หรือแม้กระทั่งอยู่ในการรำลึกถึงของคนข้างหลัง

 

One For The Road

 

วูดดี้ อัลเลน เป็นคนทำหนังนิวยอร์กเกอร์ที่ได้ชื่อว่าหมกมุ่นและพร่ำพูดถึงเรื่องความตายมากที่สุดคนหนึ่ง และเมื่อครั้งที่เขาขึ้นไปกล่าวสุนทรพจน์ในงานมอบรางวัลเกียรติคุณแห่งความสำเร็จแด่ ไดแอน คีตัน นักแสดงคู่บุญ ซึ่งจัดโดยสถาบันภาพยนตร์อเมริกัน หรือ AFI เขาเปรียบความตายว่ามันเหมือนกับการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ในโรงพยาบาล

 

หมายความว่ามันไม่ได้มีอะไรน่าหวาดหวั่นพรั่นพรึงเหมือนกับที่ใครๆ วาดภาพไว้ใหญ่โต เพราะหมอจะฉีดยาให้คุณเคลิ้มหลับไปอย่างสงบสุขและสบาย และเอาเข้าจริงๆ แล้ว การเตรียมเนื้อเตรียมตัวช่วงหลายๆ วันก่อนหน้านั้น (ซึ่งหมายถึงการดีท็อกซ์ล้างลำไส้โน่นนี่วุ่นวาย) ต่างหากที่มันยุ่งยากและทุกข์ทรมาน

 

ไม่มากไม่น้อย นั่นแหละคือชีวิตของคนเรา

 

โครงหลักของหนังเรื่อง One for the Road หรือชื่อภาษาไทยว่า วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ ของ นัฐวุฒิ พูนพิริยะ (ฉลาดเกมส์โกง) บอกเล่าเรื่องของชายหนุ่มผู้ซึ่งอยู่ในช่วงตระเตรียมตัวเองสำหรับการ ‘ส่องกล้องลำไส้ใหญ่’ และความพยายามที่จะจัดการทุกสิ่งทุกอย่างให้ลงตัวและพรักพร้อม ก็ฉายภาพให้เห็นว่าชีวิตของตัวละครในเรื่องมันช่างวายป่วงและยุ่งเหยิงจริงๆ

 

อย่างที่รับรู้กันมาตั้งแต่ต้นว่า หนังเรื่อง One for the Road ของ ‘บาส นัฐวุฒิ’ เป็นผลงานอำนวยการสร้างของหว่องกาไว ผู้กำกับชั้นครู ผู้ซึ่งเป็นเจ้าของหนังขึ้นหิ้งว่าด้วยความอ้างว้างเดียวดายหลายต่อหลายเรื่อง (ที่แน่ๆ In the Mood for Love ของเขายังคงเป็นหนึ่งในหนังโรแมนซ์ที่ซาบซึ้งที่สุดตลอดกาล) ส่วนที่ชวนให้หมายเหตุก็คือ หนังเรื่อง One for the Road เป็นส่วนผสมที่สวยสดงดงามและลงตัว หรือถ้าจะเปรียบให้เข้ากับสิ่งที่หนังเรื่องนี้บอกเล่า มันก็เป็นค็อกเทลแก้วใหม่ที่รสชาติกลมกล่อมและผสานสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ของทั้งสองคนได้อย่างน่าตื่นตา

 

พูดง่ายๆ ในแง่เทคนิค One for the Road เป็นหนังที่ทั้งกระฉับกระเฉงและฉูดฉาดด้วยลูกเล่นทางด้านภาพและการลำดับภาพที่เต็มไปด้วยชีวิตชีวา และสไตล์อันโฉบเฉี่ยวแบบนี้เป็นสิ่งที่เราพบเห็นมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่นัฐวุฒิทำหนังเรื่อง Countdown เป็นอย่างน้อย ทำนองเดียวกัน เนื้อหาที่ว่าด้วยลูกคนรวยใจแตกและใช้ชีวิตดำดิ่งและเสเพล เรื่องของการทรยศหักหลัง การโกหกหลอกลวง ไปจนถึงการสำรวจด้านมืดตัวละคร ก็นับเป็นลายเซ็นของเขาด้วยเช่นกัน

 

กระนั้นก็ตาม ดีเอ็นเอของหว่องกาไวที่แทรกซึมอยู่ในทุกอณูของ One for the Road ก็น่าจะได้แก่สัมผัสอันสุดแสนโรแมนติกที่หนังถ่ายทอดผ่านห้วงคิดคำนึงตัวละครที่ปนเประหว่างความจริง ความฝัน จินตนาการ ความทรงจำ และผ่านความมุ่งมาดปรารถนาที่ดูเป็นเรื่องสูงส่งและยิ่งใหญ่เกินกว่าคนใกล้ตายจะสามารถบรรลุมรรคผลได้จริงๆ จังๆ ซึ่งนั่นไม่ใช่แค่เรื่องรักๆ ใคร่ๆ ของตัวละคร แต่ได้แก่การหาหนทางแก้ไขไถ่ถอนความผิดบาปและการชำระล้างจิตใจ เพื่อว่า ‘การเดินทางไกล’ ของเขาจะได้ปลอดโปร่งโล่งสบาย หรือแม้กระทั่งอยู่ในการรำลึกถึงของคนข้างหลัง

 

แต่เอาเข้าจริงๆ แล้ว การพยายามแยกแยะว่าอะไรและตรงไหนเป็นของใครก็เป็นเรื่องป่วยการ และในฐานะคนดู พลังดึงดูดของหนังส่วนหนึ่งได้แก่การวางกรอบการเล่าเรื่องที่นอกจากคาดเดาไม่ได้ง่ายๆ แล้ว ยังเต็มไปด้วยลูกล่อลูกชน

 

หมายความว่าในเบื้องต้น พล็อตหนังก็ดูเหมือนจะเป็นอย่างที่เกริ่นก่อนหน้า ชายหนุ่มชื่ออู๊ด (ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์) ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคมะเร็ง ร้องขอให้บอส (ธนภพ ลีรัตนขจร) เพื่อนรักจากนิวยอร์ก ช่วยขับรถพาเขากลับไปพบหน้าค่าตาอดีตคนรักของตัวเองซึ่งไม่ได้มีคนเดียว นัยว่าเพื่อร่ำลาเป็นครั้งสุดท้ายและโดยที่เขาไม่ต้องการให้คนเหล่านั้นรับรู้ แต่จนแล้วจนรอด ทัวร์เยี่ยมแฟนเก่า(ส์)ก็เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสะสางบางเรื่องที่เจ้าตัวรู้สึกติดค้างใครต่อใคร

 

และในขณะที่หนังทำให้ผู้ชมเข้าใจว่าพวกเรากำลังเฝ้าติดตามเรื่องของอู๊ดไปจนถึงที่สุดของมัน จุดหักเหช่วงครึ่งหลังก็พลิกผันเนื้อหาไปอีกทาง และมันทำให้หนังยิ่งมีลำดับชั้นของความหมายที่ซับซ้อนมากขึ้น

 

สั้นๆ ง่ายๆ นี่ไม่ใช่แค่เรื่องของอู๊ดผู้ซึ่งล้มป่วยด้วยโรคร้ายเพียงอย่างเดียว ทว่ามันก็เป็นเรื่องของบอส ชายหนุ่มซึ่งเป็นลูกคนมีเงินที่ดูตื้นเขิน ไร้แก่นสาร หมกมุ่นแต่เรื่องหญิง และดำเนินชีวิตทิ้งๆ ขว้างๆ อย่างคนที่ไม่สนห่-เหวอะไร เป็นไปได้ว่าหลายคนน่าจะเฝ้ามองตัวละครนี้ด้วยสายตาหมั่นไส้หรือต่อต้าน หรือไม่ก็คิดแบบเดียวกับอู๊ด นั่นคือสงสัยว่าการมีชีวิตที่แสนสบาย ไม่ต้องเดือดร้อนเรื่องเงินทองนี่มันเป็นอย่างไร

 

ยิ่งเมื่อคำนึงว่าในกรณีของอู๊ด ผู้ซึ่งในช่วงที่เป็นเด็กเสิร์ฟในนิวยอร์ก เขาไม่มีโอกาสได้กลับไปเผาศพพ่อผู้วายชนม์ด้วยซ้ำ เพราะชีวิตของเขาไม่ง่ายดายขนาดนั้น นั่นก็ยิ่งทำให้บอสเป็นตัวละครที่ผู้ชมเว้นระยะห่างทางสังคมมากขึ้น และบางที อะไรก็อาจจะดูไม่เย้ยหยัน เจ็บปวดขื่นขมเท่ากับการที่วันเวลาของคนหนึ่งกำลังเหือดหายไปเรื่อยๆ และเขาพยายามใช้ส่วนที่ร่อยหรออย่างกระเบียดกระเสียร แต่อีกคนกลับเผาผลาญมันอย่างสุรุ่ยสุร่าย กระทั่งไม่เห็นคุณค่า และนับเป็นอีกครั้งที่ประเด็นความเหลื่อมล้ำทางฐานะเศรษฐกิจและชนชั้น ความไม่ยุติธรรมของชีวิต เล่นบทบาทสำคัญในหนังของนัฐวุฒิ

 

แต่ก็นั่นแหละ คาแรกเตอร์เสือผู้หญิงและลูกคนมีอันจะกินของบอสก็เป็นเปลือกนอกที่ห่อหุ้ม และมันถูกใช้เพื่อกลบเกลื่อนเรื่องแต่หนหลังซึ่งโยงใยกับครอบครัวและบางเรื่องที่เรียกอย่างอื่นไม่ได้นอกจากบาดแผลที่ใครไปคุ้ยเขี่ยก็จะอักเสบกลัดหนองขึ้นมาทันที และดูเหมือนชายหนุ่มอย่างบอสมีสองทางเลือก ทำตัวเหลวแหลกไปเรื่อยๆ เหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น หรือใช้ประโยชน์จากโอกาสและแต้มต่อที่มีมากกว่าคนอื่นอย่างคุ้มค่า เพื่อว่าอย่างน้อยมันจะได้ไม่เหยียบย่ำความรู้สึกของคนที่ชีวิตของเขาขาดตกบกพร่อง เพราะสุดท้ายแล้ว คนเราไม่ได้อยู่เพียงลำพังในโลกใบนี้

 

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนให้ One for the Road เป็นหนังที่โลดแล่นในความรู้สึกของผู้ชมอย่างน่าประทับใจ ได้แก่กลวิธีทางด้านภาพดังที่เอ่ยถึงข้างต้น ผ่านงานออกแบบการสร้าง (พัชร เลิศไกร) และงานถ่ายภาพ (ภาเกล้า จิระอังกูรกุล) ที่ทั้งมีเสน่ห์และโรแมนติก และหนึ่งในห้วงเวลาที่จับใจสุดๆ ก็คือตอนที่อู๊ดได้โบกมือลาพ่อของเขา (ธเนศ วรากุลนุเคราะห์) อย่างเป็นทางการสักที ซึ่งต้องปรบมือให้กับจินตนาการและวิสัยทัศน์ของคนทำหนังที่ช่วยดลบันดาลให้มันกลายเป็นโมเมนต์ที่ตราตรึงท่ามกลางเสียงเพลง Father & Son ของ แคท สตีเวนส์ อันสุดแสนไพเราะ หรืองานลำดับภาพ (ชลสิทธิ์ อุปนิกขิต) ที่ไม่เพียงพาผู้ชมไปรับรู้เบื้องหน้าเบื้องหลังของตัวละคร แต่หลายครั้งหลายครา ช็อตเล็กช็อตน้อยที่สอดแทรกก็ช่วยอธิบายถึงความคาดหวังลึกๆ ของตัวละคร หรือบางเรื่องที่ไม่เคยเลือนหายไปจากความทรงจำ

 

 

และส่วนที่ไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือการแสดงของนักแสดง แง่มุมหนึ่งที่ควรบันทึกไว้ ณ ที่นี้ก็คือ นี่เป็นหนังที่ทั้งนักแสดงนำและสมทบสวมบทบาทกันได้คล่องแคล่วลื่นไหลทุกคน (โอเค อาจจะยกเว้นพวกเอ็กซ์ตร้าฝรั่งในร้านเหล้าที่เหมือนจะดูเด๋อๆ หน่อย) และคนแรกที่ต้องชื่นชมในความอุทิศและทุ่มเทอย่างน่าทึ่งก็คือ ณัฐรัตน์ ที่ต้องลดน้ำหนักสิบเจ็ดกิโลกรัมเพื่อรับบทคนที่เป็นโรคร้าย และยิ่งผู้ชมได้เห็นอู๊ดในแบบ ‘บีฟอร์แอนด์อาฟเตอร์’ ซึ่งดูน่าตกใจมากๆ สังขารที่ทรุดโทรมของชายหนุ่มก็เปรียบได้กับสัญญาณเตือนภัยที่บอกคนดูว่าเวลาของเขาเหลือน้อยแล้ว แต่กายภาพก็เรื่องหนึ่ง ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเขากับธนภพก็ทำให้ผู้ชมต้องคะเนความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองอยู่พอสมควร มันดูเหมือนแนบแน่น แต่ก็นั่นแหละ อะไรบางอย่างทำให้รู้สึกได้ถึงช่องว่างที่มองไม่เห็น

 

แต่ไม่ว่าจะอย่างไร นักแสดงทั้งสองคนรับมือกับฉากอารมณ์หนักๆ ได้อย่างเข้าถึง ‘อินเนอร์’ ตัวละคร และมันทำให้ผู้ชมสัมผัสได้ถึงความมีเลือดเนื้อและชีวิตของทั้งสองคน ความเดือดดาล ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความรู้สึกคับแค้น

 

อีกสองคนที่ต้องกล่าวถึงเป็นพิเศษ คนหนึ่งก็คือ พลอย หอวัง ในบท อลิซ แฟนสาวผมแดงคนแรก ผู้ซึ่งปฏิเสธที่จะพบกับอู๊ดอีกครั้ง แต่หลังจากทนถูกคะยั้นคะยอไม่ได้ การรียูเนียนก็เผยให้เห็นความห่วงหาอาทรระหว่างคนทั้งสอง และทั้งตัวบทและการแสดงของพลอยทำให้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า สถานะของตัวละครนี้ไม่ได้เป็นแค่แฟนคนหนึ่งของอู๊ด แต่หญิงสาวก็มีวิถีชีวิตของตัวเอง และฉากที่เจ้าตัวพูดด้วยสีหน้าเจื่อนๆ ว่าเธอต้องลดเพดานความฝันจากการเปิด ‘แดนซ์อคาเดมี’ สำหรับคนหนุ่มสาวเป็นโรงเรียนลีลาศสำหรับคนสูงวัย แถมล่าสุด ยังเพิ่งเลิกกับแฟนนิสัยห่วยแตก ก็ยิ่งทำให้เธอเป็นตัวละครที่น่าสงสารสุดๆ และมันชวนให้สงสัยว่าการเลิกรากับอู๊ดเมื่อครั้งกระนั้นสร้างแรงกระเพื่อมมาถึงตอนนี้หรือไม่

 

คนที่สองก็คือ วิโอเลต วอเทียร์ ในบท พริม ผู้ซึ่งก็มีความใฝ่ฝันของตัวเองให้วิ่งไล่ไขว่คว้า ทว่าฐานะเศรษฐกิจอันจำกัดจำเขี่ยของตัวละครก็เชื้อเชิญให้ความยุ่งยากที่ประดังเข้ามากลายเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกมากขึ้น แอ็กติ้งของวิโอเลตทั้งดูสมจริงและเป็นธรรมชาติมากๆ และในลักษณะไม่แตกต่างจากอลิซ เรื่องของพริมที่ผู้ชมรับรู้เพียงน้อยนิด ลงเอยด้วยการปล่อยให้ผู้ชมได้แต่จินตนาการกันไปต่างๆ นานาถึงส่วนที่คนทำหนังละไว้

 

รวมๆ แล้ว One for the Road เป็นหนังดราม่าที่โน้มน้าวชักจูง และลงเอยด้วยความรู้สึกซาบซึ้งตรึงใจ และถึงแม้ว่าเมื่อนึกทบทวนสิ่งที่คนทำหนังบอกเล่าจะเป็นเรื่องที่เสกสรรค์ปั้นแต่งขึ้น แต่มันก็ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการหยอกล้อให้พวกเราคนดูอดจินตนาการเทียบเคียงไม่ได้ว่า ถ้าหากพระเจ้าอนุญาตหรือเงื่อนไขชีวิตเอื้ออำนวย พวกเราจะทำอะไรบ้าง หรือมองย้อนกลับไปในอดีตของตัวเองอย่างไรบ้างก่อนที่ ‘วันส่องกล้องลำไส้ใหญ่’ จะมาเยือน

 

วันสุดท้าย..ก่อนบายเธอ (พ.ศ. 2565)

กำกับ: นัฐวุฒิ พูนพิริยะ

นักแสดง: ธนภพ ลีรัตนขจร, ณัฐรัตน์ นพรัตยาภรณ์, พลอย หอวัง, ศิรพันธ์ วัฒนจินดา, วิโอเลต วอเทียร์, ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, ธเนศ วรากุลนุเคราะห์, รฐา โพธิ์งาม ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X