วันที่ 1 เมษายนนับเป็นวันประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นประกาศชื่อรัชศกใหม่ ‘เรวะ’ ต้อนรับสมเด็จพระจักรพรรดิพระองค์ใหม่ซึ่งจะเสด็จขึ้นครองราชย์ในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019
แต่ก่อนที่จะเข้าสู่รัชศกใหม่ ค่ำคืนของวันที่ 31 มีนาคมได้มีการเปิดศักราชใหม่ของวงการศิลปะการป้องกันตัว (MMA) ในประเทศญี่ปุ่นที่สนามกีฬาซูโม่ เรียวโกกุ โคะกุกิกัง (Ryogoku Kokugikan) ภายในกรุงโตเกียว
เมื่อ ONE Championship องค์กรกีฬาศิลปะป้องกันตัวระดับโลกที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในเอเชีย ได้มาเปิดศึกครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ A New Era โดยที่มาของชื่อนี้ นอกจากจะเป็นครั้งแรกที่แชมป์โลกทั้งหมด 4 รุ่นจาก 16 คู่ขึ้นชกในรายการเดียวแล้ว การแข่งขันเมื่อคืนวันที่ 31 มีนาคมยังเป็นสัญลักษณ์ของการเข้าสู่ยุคฟื้นฟูของวงการศิลปะการป้องกันตัวของประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย
ทำไมต้องญี่ปุ่น
ในช่วงเวลาไม่กี่วันก่อนที่ศึก ONE Championship: A New Era จะเริ่มต้นขึ้น THE STANDARD ได้มีโอกาสลงพื้นที่สำรวจกรุงโตเกียว เมืองหลวงของประเทศญี่ปุ่น ที่กำลังเดินเครื่องอย่างเต็มสปีดเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกอย่างโอลิมปิก 2020
ป้ายตามสถานีรถไฟ เส้นทางการจราจร และบทสนทนากับคนญี่ปุ่นเริ่มมีการใช้ภาษาอังกฤษสื่อสารมากขึ้นเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการต้อนรับแฟนกีฬาจากทั่วโลกอีกครั้ง หลังจากที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกชาติแรกของเอเชียเมื่อปี 1964
ภายในงานแถลงข่าวก่อนการแข่งขัน A New Era เมื่อวันที่ 28 มีนาคม สื่อมวลชนจากหลายประเทศทั่วโลกเดินทางเข้าร่วมทำข่าวศึก ONE Championship ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่นที่โรงแรมเดอะ ริทซ์-คาร์ลตัน โตเกียว THE STANDARD ได้มีโอกาสสัมภาษณ์ ชาตรี ศิษย์ยอดธง ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารใหญ่ของ ONE Championship ถึงสาเหตุที่ตัดสินใจนำพา ONE มาสู่ญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก
“ผมเป็นลูกครึ่งไทย-ญี่ปุ่น และญี่ปุ่นมีประวัติศาสตร์ศิลปะการป้องกันตัวที่ยาวนาน แต่ในช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมศิลปะการป้องกันตัวเริ่มตกต่ำลง แต่ตอนนี้ถ้ามองไปที่ญี่ปุ่น เราจะเห็นเด็กๆ ยังฝึกซ้อมยูโด คาราเต้ หรือไอคิโด ทำให้ผมเชื่อว่าหลังจาก ONE Championship: A New Era ด้วยคุณค่าที่เรายึดมั่น ด้วยฮีโร่ที่จุดประกายความหวัง ความแข็งแกร่ง ความฝัน และแรงบันดาลใจ เราจะสร้างยุคสมัยใหม่ที่ยิ่งใหญ่ของศิลปะการป้องกันตัวในญี่ปุ่น”
ยุคตกต่ำของศิลปะการป้องกันตัวในญี่ปุ่น
หากจะกล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมญี่ปุ่นถึงต้องการยุคสมัยใหม่ของศิลปะการป้องกันตัว สาเหตุหลักนั้น ฮิเดยูกิ แอนดี้ ฮาตะ ซีอีโอของ ONE Championship ในญี่ปุ่น เผยว่าที่ผ่านมารายการกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะศิลปะการป้องกันตัว K-1 ศิลปะการต่อสู้ที่ดัดแปลงจากมวยไทยเป็นคิกบ็อกซิ่งประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนักจนต้องยื่นล้มละลายไปแล้วเมื่อกลางปี 2011
“ศิลปะการป้องกันตัวในญี่ปุ่นเคยประสบความสำเร็จมาก เรามีทั้งมวยปล้ำและ K-1 และด้วยสถานการณ์ทางการเงินส่งผลให้อุตสาหกรรมตกต่ำลงไปมาก และนี่เป็นโอกาสที่เราจะเริ่มต้นใหม่
“หนึ่งในความท้าทายที่เราพบเจอในญี่ปุ่นคือการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) แม้ว่าอาจจะเป็นเรื่องที่หลายคนในเอเชียได้ยินแล้วตกใจว่าญี่ปุ่นกำลังมีปัญหานี้ แต่ธุรกิจกีฬาเป็นสิ่งที่ใหม่มากสำหรับญี่ปุ่น ดังนั้นการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนจะเป็นตัวอย่างสำหรับอุตสาหกรรมต่อจากนี้
“ที่ ONE Championship เรามีระบบนิเวศทางธุรกิจ (Ecosystem) ที่ประสบความสำเร็จในระดับเอเชียและกำลังนำมาใช้ในญี่ปุ่น เช่น การจับมือกับอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การจับมือกับ Dentsu ในด้านของเอเจนซีพาร์ตเนอร์กับสื่อโทรทัศน์ญี่ปุ่น จับมือกับองค์กรพัฒนานักกีฬาและมหาวิทยาลัยเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์โอกาสในอนาคต และสุดท้ายคือการจับมือกับผู้สนับสนุนต่างๆ เพื่อเป็นทุนสำหรับระบบทั้งหมด
“ถ้าเราทำสำเร็จ นี่จะเป็นตัวอย่างของความสำเร็จ ไม่ใช่แค่ความสำเร็จสำหรับนักกีฬา แต่เป็นโอกาสที่อุตสาหกรรมจะเติบโตขึ้นไปสู่อนาคต
“โอกาสที่สำคัญที่สุดตอนนี้สำหรับญี่ปุ่นคือการมองไปยังอนาคตหลังจากโอลิมปิก 2020 เพราะตอนนี้ทั่วโลกกำลังมองมาที่โตเกียวในฐานะเจ้าภาพ แต่สำหรับเราเอง เราจำเป็นต้องรักษาสิ่งต่างๆ เอาไว้หลังจบการแข่งขัน
“ONE Championship จึงเป็นโอกาสในการสร้างระบบที่มีความยั่งยืนเพื่อต่อยอดไปสู่โอลิมปิก 2020 และต่อไปเรื่อยๆ ทั้งจากมุมมองของนักกีฬาและผู้คนในอุตสาหกรรม”
A New Era ภายในสนามกีฬาซูโม่
แฟนกีฬาหลายพันคนทยอยเดินทางเข้าชมการแข่งขัน ONE Championship: A New Era ภายในสังเวียนเรียวโกกุ โคะกุกิกัง โดยนอกจากแสงสีบนเวทีและแฟนกีฬาที่เข้ามาชมแบบเต็มความจุของสนามที่ 11,000 คนแล้ว หากเรามองขึ้นไปด้านบนของเวที เราจะเห็นภาพนักกีฬาซูโม่ระดับตำนานของญี่ปุ่นมองลงมายังศึกมวยกรงที่เป็นโอกาสในการจุดประกายให้กับวงการศิลปะการป้องกันตัวในญี่ปุ่นครั้งนี้
การแข่งขันผ่านไปหลายคู่ด้วยความดุเดือด โดยไฮไลต์ในค่ำคืนนั้นยากที่จะบอกว่าคู่ใดคือคู่ที่ทุกคนรอคอย เพราะด้วยแชมป์โลก 4 รุ่นบวกกับ เอ็ดดี้ อัลบาเรซ และเดเมทริอุส จอห์นสัน สองนักชกที่ย้ายค่ายจาก UFC ศึกมวยกรงจากสหรัฐฯ มาร่วม ONE Championship ในเอเชียยังได้ลงประเดิมสนามในค่ำคืนนี้อีกด้วย
และสิ่งที่แฟนมวยหลายคนไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นก็เกิดขึ้นในศึก World Grand Prix รุ่นไลต์เวต รอบ 8 คนสุดท้าย เมื่อตัวท็อปจากสหรัฐฯ อย่างเอ็ดดี้ประเดิมไฟต์แรกด้วยการพบกับ ทิโมฟีย์ นาสติวกิน จอมเดือดจากรัสเซีย ผลคู่นี้ถือว่าช็อกวงการไม่น้อยเมื่อต้องจบลงตั้งแต่ยกแรก โดยเป็นฝั่งทิโมฟีย์ที่ระเบิดพลังสุดยอดไล่อัดเอ็ดดี้ตั้งแต่ต้นยก ก่อนที่ในช่วงนาทีสุดท้ายจะปล่อยหมัดชุดจนเอ็ดดี้เสียหลักลงไปกอง กำปั้นแดนหมีขาวไม่ปล่อยโอกาสทองให้หลุดมือ โผเข้าจ้วงซ้ำจนกรรมการเห็นท่าไม่ดี ต้องปรี่เข้าห้ามยุติการชก ส่งผลให้ทิโมฟีย์เป็นฝ่ายตีตั๋วเข้ารอบรองชนะเลิศต่อไป
ส่วนอีกหนึ่งเซอร์ไพรส์คือ ซงจิงหนาน แชมป์รุ่นสตรอว์เวตหญิงชาวจีน สามารถยัดเยียดความพ่ายแพ้ให้กับ แองเจลา ลี นักชกชาวสิงคโปร์ ดีกรีแชมป์รุ่นอะตอมเวตหญิงได้เป็นครั้งแรก แม้ว่าในยกที่ 4 แองเจลาจับซงจิงหนานล็อกแขนได้สำเร็จ แต่ระฆังหมดยกดังขึ้นเสียก่อน ยกสุดท้ายกลายเป็นยกปิดตำนานไร้พ่ายของแองเจลา เมื่อซงจิงหนานใช้แรงที่มียิงหมัดตรงเข้าท้องสาวสิงคโปร์ ก่อนที่แองเจลาจะออกอาการบาดเจ็บผ่านสีหน้าอย่างชัดเจน ซงจิงหนานจึงเข้าซ้ำด้วยการออกหมัดสลับเตะที่บริเวณท้อง จนกรรมการต้องยุติการแข่งขันเมื่อเห็นว่าแองเจลาหมดหนทางตอบโต้ใดๆ แล้ว ส่งผลให้ซงจิงหนานป้องกันแชมป์สตรอว์เวตหญิงไว้ได้อย่างยิ่งใหญ่
ขณะที่สองนักชกชาวไทยในรายการนี้ทั้ง ยอดแสนไกล ไอดับบลิวอี แฟร์เท็กซ์ และรถถัง จิตรเมืองนนท์ ก็สามารถรักษาสถิติไร้พ่ายที่คนละ 3 ไฟต์ไว้ในรายการนี้ได้สำเร็จ
ส่วนคู่เอกนั้นเป็นสิ่งที่แฟนกีฬาทั้งสนามรอคอย เมื่อผู้ท้าชิง ชินยะ อาโอกิ ฮีโร่ระดับตำนานขวัญใจเจ้าถิ่น วัย 35 ปี ขึ้นท้าชิงตำแหน่งแชมป์รุ่นไลต์เวตของ เอดูอาร์ด โฟลายัง ยอดฝีมือชาวฟิลิปปินส์
เสียงระฆังในสนามดังขึ้นพร้อมกับเสียงเชียร์จากแฟนมวยชาวญี่ปุ่นที่ตะโกนเป็นชื่ออาโอกิกันลั่นสนาม ก่อนที่อาโอกิจะใช้ทีเด็ดชิงล็อกแขนและคอของโฟลายังนานร่วมนาที จนกรรมการเริ่มเห็นว่าลมหายใจของโฟลายังกำลังจะหมดลงจึงยุติการชก ส่งผลให้เสียงเชียร์จากแฟนเจ้าถิ่นกระหึ่มขึ้นลั่นสนาม และทำให้อาโอกิกลายเป็นแชมป์รุ่นไลต์เวตคนใหม่
ในช่วงเวลานี้เองที่เราหันหน้าเข้าหาคนดูเพื่อสำรวจต้นทางของเสียงเฮดังกล่าว แต่สิ่งที่เราพบเห็นคือน้ำตาของแฟนกีฬาชาวญี่ปุ่นที่ไหลออกมาพร้อมกับการกระโดดกอดกันด้วยความดีใจ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของศึก ONE Championship ครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น
ท่ามกลางเสียงโห่ร้องและความดีใจของแฟนกีฬาเจ้าถิ่น เราเดินฝ่าผู้คนจำนวนมากกลับมายังห้องแถลงข่าว ซึ่ง ชาตรี ศิษย์ยอดธง กำลังแถลงเผยยอดตัวเลขออนไลน์ของ ONE Championship ในครั้งนี้ให้กับสื่อมวลชน โดยปรากฏว่านอกจากแฟนกีฬาจะเข้าชมเต็มความจุของสนามแล้ว ONE Championship ยังติดเทรนด์ทวิตเตอร์ของญี่ปุ่นและสหรัฐฯ นอกจากนี้ช่วงที่พีกที่สุดยังเป็นหัวข้อ 7 ใน 10 ของเทรนด์ทวิตเตอร์ในสหรัฐฯ อีกด้วย
หลังจากงานแถลงข่าวจบลง THE STANDARD ได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮิเดยูกิ แอนดี้ ฮาตะ ซีอีโอของ ONE Championship ในญี่ปุ่นอีกครั้ง เพื่อสอบถามว่าหลังจากรายการนี้จบลงแล้วเหมาะสมกับชื่อ A New Era หรือไม่
“แน่นอน ทุกคนที่มาในวันนี้และทุกคนที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยด้วยเกิดมุมมองใหม่ขึ้นหลังจากประสบการณ์นี้ รวมถึงผลของคู่เอกที่เป็นการจุดประกายการเริ่มต้นใหม่เหมือนกับชื่อ New Era
“เราได้เห็นเรื่องราวที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้นในคืนนี้ ทั้งการที่เอ็ดดี้พ่ายในยกแรก รวมถึงแองเจลา น้อยครั้งที่เราจะเห็นการแข่งขันที่เข้มข้นขนาดนี้ในญี่ปุ่น และแฟนกีฬาก็รู้สึกได้ถึงความตื่นเต้นของรายการนี้ ตลอดทั้งวันเราส่งข้อความสั้นๆ ที่บอกว่ายุคใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว
“สำหรับแฟนกีฬาชาวญี่ปุ่น แน่นอนว่าเป็นความรู้สึกดีที่สุด แต่สำหรับตัวผมเอง มันเป็นผลการแข่งขันที่ช่วยสร้างฮีโร่คนใหม่ในวงการ เพราะที่ผ่านมาอาโอกิอาจจะไม่ใช่นักมวยที่มีชื่อเสียงมากที่สุด แต่วันนี้ ONE Championship ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราสามารถสร้างฮีโร่ขึ้นใหม่ได้ในการแข่งขันของเรา”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์