×

On the Basis of Sex (2018) การล้มของโดมิโนตัวแรก สู่ปรากฏการณ์ #MeToo

28.01.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • On the Basis of Sex เป็นหนังไบโอพิก หรือหนังชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้ซึ่งในวัย 85 ปี คงไม่มีใครกล้าโต้แย้งหากจะกล่าวว่า เธอคือ ‘ผู้พิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’
  • การออกฉายของหนังเรื่อง On the Basis of Sex ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ #MeToo หรือการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศ ซึ่งสั่นคลอนสิ่งที่เรียกว่า Status Quo หรือสถานภาพของผู้ชายอเมริกันผิวขาวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
  • สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นในความสัมพันธ์กับประเด็นการกีดกันทางเพศก็คือ ความบกพร่องไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเท่ากับทัศนคติหรือหลักคิดพื้นฐานของคนออกกฎหมาย ที่ตั้งอยู่บนอคติทางด้านเพศหรือความเชื่อที่ว่า (สิทธิของ) ผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน

ประเมินจากจังหวะเวลาที่หนังเรื่อง On the Basis of Sex (2018) ผลงานกำกับของมิมิ ลีเดอร์ (Deep Impact, Pay it Forward) ออกฉายแบบจำกัดโรงในอเมริกาแล้ว อันได้ช่วงสัปดาห์สุดท้ายของปีกลาย ไม่มีข้อสงสัยว่าผู้สร้างคงแอบคาดหวังว่าหนังน่าจะมีโอกาสได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ ซึ่งเพิ่งประกาศรายชื่อไปเมื่อวันที่ 22 มกราคม

 

พูดแบบไม่ต้องขวยเขินเหนียมอายแทน คนทำหนังมีสิทธิ์อันชอบธรรมที่จะตั้งความหวังกับหนัง อย่างน้อยก็ในสาขาการแสดง อันได้แก่ เฟลิซิตี้ โจนส์ ในบทที่อาจกล่าวได้ว่า ทั้งกว้างในแง่ที่มันเปิดโอกาสให้โชว์ฝีไม้ลายมือทางการแสดงอันหลากหลาย และลึกในแง่ของบุคลิกตัวละคร ตลอดจนความขัดแย้งและกดดันที่ต้องเผชิญ หรือพูดง่ายๆ เหมือนกับถูกออกแบบตัดเย็บเพื่อการถูกเสนอชื่อชิงรางวัล

 

 

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่แต้มต่อหรือจุดแข็งของหนังเพียงอย่างเดียว On the Basis of Sex ยังเป็นหนังไบโอพิก หรือหนังชีวประวัติที่บอกเล่าเรื่องราวของ รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ผู้ซึ่งในวัย 85 ปี คงไม่มีใครกล้าโต้แย้งหากจะกล่าวว่า เธอคือ ‘ผู้พิพากษาของศาลสูงสุดสหรัฐฯ ที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ขณะที่ฟากอนุรักษ์นิยมในอเมริกาทั้งเกลียดชังและหวาดกลัวเธอ ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ถึงกับเรียกผู้พิพากษากินส์เบิร์กว่าเป็นความอัปยศของกระบวนการตุลาการ ทว่าฟากลิเบอรัล หรือเสรีนิยมกลับส่งเสียงเชียร์ และเธอคือไอคอนของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศมาอย่างยาวนาน บ้างถึงกับบอกว่าเธอเป็นบุคคลที่ใกล้เคียงกับการเป็นซูเปอร์ฮีโร่ที่สุดในโลกของความเป็นจริง

 

และว่ากันตามจริง ภาพใบหน้าของเธอก็ถูกนำไปตัดแปะบนตัวละครอย่าง Wonder Woman จากหนังชื่อเดียวกัน หรือ Black Widow จากหนังชุด Avengers หรือใครที่ตาไวก็น่าจะเห็นรูปภาพของผู้พิพากษากินส์เบิร์กปรากฏในหนังเรื่อง Deadpool 2 ในฐานะบุคคลที่ได้รับการพิจารณาให้มาร่วมทีมกับตัวเอกจอมกวน

 

อีกทั้งการออกฉายของหนังเรื่อง On the Basis of Sex ก็ยังถือเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการ #MeToo หรือการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านการคุกคามทางเพศ ซึ่งสั่นคลอนสิ่งที่เรียกว่า Status Quo หรือสถานภาพของผู้ชายอเมริกันผิวขาวอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และว่าไปแล้ว On the Basis of Sex มีส่วนเปิดเผยให้ผู้ชมได้เห็นสิ่งที่เรียกได้ว่ารูโหว่ในทางกฎหมาย อันส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำและการกดขี่ทางเพศที่แทรกซึมอยู่ในแทบทุกองคาพยพของสังคม

 

 

อารัมภบทมาอย่างยืดยาวก็เพื่อจะบอกว่า จนแล้วจนรอดหนังเรื่อง On the Basis of Sex กลับหลุดโผ ไม่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงอะไรเลย ซึ่งพูดตรงๆ ก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกแต่อย่างใด ปัญหาหรือข้ออ่อนด้อยของหนังเรื่อง On the Basis of Sex เป็นสิ่งที่มองเห็นได้อย่างชัดแจ้ง (และมันเป็นกรณีเดียวกับหนังชีวประวัติ เฟรดดี เมอร์คูรี เรื่อง Bohemian Rhapsody ของไบรอัน ซิงเกอร์ แต่เรื่องน่าประหลาดใจก็คือ หนังเรื่อง Bohemian Rhapsody กลับชนะทั้งรางวัลหนังยอดเยี่ยมของลูกโลกทองคำ และได้รับการเสนอชื่อชิงหนังยอดเยี่ยมของออสการ์ด้วย) และนั่นก็คือ หนังค่อนข้าง ‘พร่อง’ ในเรื่องความแยบยล ทั้งในความที่มันคาดเดาได้ง่ายดายเกินไป หลายครั้ง แก้ไขหรือหาทางออกให้กับปมขัดแย้งอย่างตื้นเขิน และด้วยแท็กติกที่ซ้ำซากจำเจ อีกทั้งในการนำพาผู้ชมเข้าไปมีส่วนร่วมกับแง่มุมทางด้านดราม่า มิติของตัวละครถูกลดทอนจากความเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ และกลายเป็นคาแรกเตอร์ที่มีบุคลิกตายตัว คนดูไม่ต้องยุ่งยากในการจำแนกแยกแยะว่าใครดีใครเลว ใครเป็นฝ่ายเขาฝ่ายเราตั้งแต่เริ่มต้น และดูเหมือนสิ่งที่ตัวละครเหล่านั้นขาดก็เพียงแค่ป้ายแขวนคอ

 

แต่พูดอย่างให้ความเป็นธรรม ทั้งๆ ที่หนังดูเหมือนติดอยู่ในกับดักของความไม่มีอะไรผิดแผกแตกต่างจากหนังแนวชีวประวัติอีกนับไม่ถ้วน สองส่วนเป็นอย่างน้อยที่ถือเป็นคุณค่าที่สำคัญและน่าจะช่วยทำให้ On the Basis of Sex ไม่ถึงกับเป็นหนังที่คนดูสามารถเพิกเฉยได้ด้วยประการทั้งปวง อย่างแรกสุดได้แก่ การที่มันทำหน้าที่คล้ายคลึงกันกับที่หนังเรื่อง Green Book (2018) บอกเล่าปัญหาการเหยียดสีผิวในอเมริกา และนั่นคือการปูพื้นให้ผู้ชมได้รับรู้ว่าสถานการณ์ของการแบ่งแยกและกีดกันทางเพศในสังคมอเมริกัน ซึ่งเป็นเรื่องจริง อยู่ในขั้นน่าอับอายขายหน้าเพียงใด

 

 

ไม่มากไม่น้อย ชีวิตในช่วงเริ่มต้นของรูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์ก ตามที่หนังของมิมิ ลีเดอร์บอกเล่า ก็น่าจะเป็นหลักฐานยืนยันชั้นดี เธอเริ่มต้นด้วยการเป็นนักศึกษาหญิง 1 ใน 9 คนท่ามกลางนักศึกษาชายหลายร้อยของโรงเรียนกฎหมายแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ในปี ค.ศ. 1956 หรือพูดอีกนัยหนึ่ง โลกกฎหมายเป็นโลกของผู้ชาย และไม่ต้องสงสัยว่าเธอพบเจอกับความยุ่งยากทุกขั้นตอน ตั้งแต่เรื่องหยุมหยิมปลีกย่อย อาทิ วิธีการแต่งเนื้อแต่งตัว เพราะขณะที่ยูนิฟอร์มของนักศึกษาชายได้แก่การใส่สูทผูกเนกไทเหมือนๆ กัน นักศึกษาหญิงกลับไม่มีแบบอย่างให้ยึดโยง อีกทั้งผู้ชมได้ยินเจ้าตัวเอ่ยในตอนท้ายเรื่องว่า ตึกเรียนของเธอไม่มีแม้แต่ห้องน้ำหญิง ไปจนถึงการที่อาจารย์ผู้สอนเลือกที่จะทำเป็นมองไม่เห็นการมีตัวตนอยู่ของเธอในห้องเรียน แถมรูธยังนำพาตัวเองไปมีปัญหากับคณบดีกริสโวลด์ (แซม วอเตอร์สตัน) ที่แสดงออกอย่างไม่ปิดบังว่าผู้หญิงไม่ควรเรียนกฎหมาย และตั้งคำถามในลักษณะแอบแฝงน้ำเสียงติเตียนว่า ทำไมรูธและนักศึกษาหญิงคนอื่นถึงมาแย่งเก้าอี้นั่งซึ่งน่าจะเป็นของนักศึกษาชาย

 

การกดขี่และความเหลื่อมล้ำทางเพศยังปรากฏในรูปของโอกาสที่ไม่ทัดเทียม ส่วนที่เรียกว่าเป็นตลกร้ายสุดๆ ก็คือ ทั้งๆ ที่รูธสำเร็จการศึกษาด้วยการเป็นที่หนึ่งของชั้นเรียน เธอกลับถูกสำนักงานกฎหมายแห่งแล้วแห่งเล่าปฏิเสธรับเข้าทำงาน สิ่งที่หนังละไว้ในฐานที่เข้าใจก็คือ หากรูธเป็นผู้ชาย เป็นไปได้อย่างยิ่งว่าเธอคงไม่ต้องแม้แต่เขียนใบสมัครด้วยซ้ำ เพราะบริษัทเหล่านั้นคงจะแห่มารุมจีบ และทีละน้อย ชื่อของหนังเรื่องนี้ค่อยๆ อธิบายตัวมันเอง

 

 

ส่วนที่สองที่ช่วยทำให้ On the Basis of Sex ไม่ได้ลงเอยด้วยการเป็นหนังแนวชีวประวัติจำพวกหลงละเมอเพ้อพก ได้แก่การที่หนังนำพาผู้ชมไปสำรวจแง่มุมทางด้านเทคนิคของตัวบทกฎหมายอย่างค่อนข้างลงลึก และน่าเชื่อว่านี่อาจจะเป็นหนังเรื่องล่าสุดที่บรรดาโรงเรียนกฎหมายในอเมริกา (หรือจริงๆ จะรวมคณะนิติศาสตร์ในบ้านเราด้วยก็ได้) ใช้สอนหนังสือ โดยเฉพาะประเด็น rule of law หรือหลักนิติธรรม หรือขยายความให้จะแจ้ง สิ่งที่หนังเรื่องนี้พยายามชี้ให้เห็นในความสัมพันธ์กับประเด็นการกีดกันทางเพศก็คือ ความบกพร่องไม่ได้อยู่ที่ตัวบทกฎหมายเท่ากับทัศนคติหรือหลักคิดพื้นฐานของคนออกกฎหมายที่ตั้งอยู่บนอคติทางด้านเพศ หรือความเชื่อที่ว่า (สิทธิของ) ผู้หญิงและผู้ชายไม่เท่าเทียมกัน ข้อน่าสังเกตก็คือ ความเชื่อนี้ไหลเวียนอยู่ในสังคมจนกระทั่งกลายเป็นวัฒนธรรมที่ยอมรับกันโดยทั่วไป

 

ความฉลาดของหนังได้แก่ การหยิบยกกรณีศึกษาในช่วงครึ่งหลัง (ซึ่งเป็นเหตุการณ์จริงในช่วงทศวรรษที่ 1970) มาตอกย้ำถึงความคับแคบของกฎหมาย กล่าวคือ แทนที่หนังจะเลือกเรื่องของผู้หญิงที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกฎหมายที่ล้าหลัง กลับตรงกันข้าม ด้วยการใช้กรณีของหนุ่มใหญ่ ผู้ซึ่งหากจะบรรยายสรุปอย่างรวบรัด เขาถูกสรรพากรปฏิเสธการหักลดหย่อนภาษีค่าว่าจ้างพยาบาลให้มาดูแลแม่ที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เนื่องจากกฎหมายเขียนระบุทำนองว่า คนที่มีสิทธิ์ต้องเป็นผู้หญิง หรืออีกนัยหนึ่ง กฎหมายมองว่านี่เป็นภาระของคนเป็นแม่บ้าน (แต่บังเอิญหนุ่มใหญ่คนนี้ไม่ได้แต่งงาน) โดยปริยาย หนังให้เห็นว่ารูธไม่ได้ต่อสู้เพื่อสิทธิของผู้หญิงที่ถูกลิดรอนเพียงลำพัง แต่หมายรวมถึงทุกคนที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมเพียงเพราะเธอหรือเขาเกิดเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย

 

ข้อสำคัญ ขณะที่การฟ้องร้องขอสิทธิ์ในการหักลดหย่อนภาษีของหนุ่มใหญ่นับเป็นคดีมโนสาเร่มากๆ จำนวนเงินที่เกี่ยวข้องก็น้อยนิด ทว่าตามที่หนังวาดให้ผู้ชมมองเห็นในภาพที่แจ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ นี่ไม่ใช่เรื่องขัดแย้งทางภาษี แต่เป็นเรื่องการแบ่งแยกความเป็นชายความเป็นหญิง และเดิมพันของการต่อสู้ขับเคี่ยวก็สูงลิบลิ่ว กล่าวคือ หากรูธแพ้ กฎหมายที่เอื้ออำนวยให้มีการเลือกปฏิบัติทางเพศอีกนับไม่ถ้วนก็จะกลายเป็นเรื่องปกติ และขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อความเสมอภาคทางเพศก็อาจถอยหลังไปนับสิบปี แต่ในทางกลับกัน หากศาลเห็นดีเห็นงามกับฝ่ายของนางเอก มันก็เปรียบได้กับการล้มของโดมิโนตัวแรก สิ่งที่น่าเชื่อว่าจะตามมาก็คือ การพังครืนของระบบกฎหมายที่วางตำแหน่งเพศชายไว้ลำดับแรก

 

 

ช่วยไม่ได้ที่การที่หนังผูกติดกับเรื่องจริงของตัวบุคคลจริง ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นแชมเปี้ยนของการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคทางเพศ ส่งผลให้ผู้ชมพยากรณ์ตอนจบได้ไม่ยาก แต่ว่ากันตามจริง หนังไม่ได้ความสำคัญกับการสร้าง suspense หรือความน่าตื่นเต้นในการประกาศผลแต่อย่างใด และเป้าประสงค์จริงๆ ในฐานะหนังแนวชีวประวัติได้แก่การอธิบายว่าเป็นมาอย่างไร รูธ เบเดอร์ กินส์เบิร์กถึงได้แจ้งเกิดและกลายเป็นเสมือนเสาหลักของการต่อสู้เพื่อความทัดเทียมทางเพศ

 

และเหนืออื่นใด อานิสงส์จากการต่อสู้ผลักดันของเธอมีส่วนช่วยให้อย่างน้อยตราชั่งของความยุติธรรมทางเพศไม่ได้เอียงกระเท่เร่อย่างน่าเกลียดน่าชังเหมือนกับเมื่อก่อนอีกต่อไป

 

On the Basis of Sex (2018)

กำกับ: มิมิ ลีเดอร์

ผู้แสดง: เฟลิซิตี้ โจนส์, อาร์มี แฮมเมอร์, แซม วอเตอร์สตัน, จัสติน ธีโรซ์

 

ตัวอย่างภาพยนตร์

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising