×

รวมความเห็นผู้เชี่ยวชาญบริษัทยายักษ์ใหญ่ วัคซีนที่มีอยู่ป้องกัน ‘โอไมครอน’ ได้ดีแค่ไหน จำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนเพิ่มหรือไม่

01.12.2021
  • LOADING...
โอไมครอน

การอุบัติขึ้นของเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนสร้างความหวาดวิตกไปทั่วโลก หลายคนกลัวว่าอาจซ้ำรอยสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ขณะที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้จัดไวรัสสายพันธุ์นี้เป็นสายพันธุ์ที่น่ากังวล 

 

อย่างไรก็ตาม เรายังมีข้อมูลน้อยมากที่จะบ่งชี้ว่าวัคซีนที่มีอยู่สามารถต้านทานไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ดีเพียงใด ซึ่งยังต้องรอผลการทดลองในห้องแล็บของนักวิทยาศาสตร์และบริษัทผู้ผลิตวัคซีนอีก 2-3 สัปดาห์ 

 

แต่เบื้องต้นไปดูกันว่าบรรดาผู้เชี่ยวชาญหรือนักวิทยาศาสตร์จากบริษัทผู้ผลิตวัคซีนหลักอย่าง Pfizer-BioNTech, Moderna และ Merck มีความเห็นเกี่ยวกับวัคซีนหรือยาที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร และมีปัจจัยอะไรบ้างที่จะเป็นตัวกำหนดว่าบริษัทยาจำเป็นต้องพัฒนาวัคซีนเพิ่มเติมเพื่อรับมือกับไวรัสสายพันธุ์ใหม่

 

ภาพ: Getty Images

 

มิคาเอล ดอลสเตน หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ Pfizer เผยกับ Insider ว่า ทางบริษัท Pfizer กำลังเตรียมการรับมือหากเกิดกรณีเลวร้ายที่สุด ซึ่งหมายถึงการที่ต้องผลิตวัคซีนใช้สำหรับเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนโดยเฉพาะ แต่เวลานี้ดอลสเตนกำลังติดตามสององค์ประกอบสำคัญเพื่อหาคำตอบภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า

 

องค์ประกอบแรกคือ ดูว่าวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันสามารถต้านทานโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ดีเพียงใด โดยข้อมูลก่อนหน้านี้บ่งชี้ว่าไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอไมครอนสามารถลดระดับการป้องกันของวัคซีนได้ แต่โอไมครอนอาจน่ากังวลกว่า เนื่องจากมีการกลายพันธุ์บนโปรตีนส่วนหนามมากกว่า

 

ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่เชื่อว่าโอไมครอนจะลดระดับภูมิคุ้มกันของมนุษย์ลง ซึ่งผลการทดลองในห้องแล็บจะช่วยไขคำตอบว่า ไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่นี้สามารถทำให้ระดับภูมิคุ้มกันลดลงมากแค่ไหน โดยคาดว่าผลการทดลองจะออกมาภายในสัปดาห์หน้าหรือ 2 สัปดาห์

 

ดอลสเตนให้ความเห็นว่า หากแอนติบอดีลดลง 10 เท่าอาจบ่งชี้ว่าวัคซีนที่มีอยู่ในเวลานี้ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ส่งผลให้มีความจำเป็นต้องพัฒนาและฉีดวัคซีนสำหรับโอไมครอนโดยเฉพาะ แต่ดอลสเตนแนะนำว่าวิธีป้องกันที่ดีที่สุดในเวลานี้ คือรับวัคซีนหรือฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีนที่มีอยู่ไปก่อน

 

หากผลการศึกษาพบว่าระดับการป้องกันไวรัสลดลงมาก ก็ยังต้องดูองค์ประกอบที่ 2 ด้วย ว่าเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนจะแพร่ระบาดไปทั่วโลกแซงหน้าสายพันธุ์เดลตาหรือไม่ ซึ่งข้อนี้ดอลสเตนมองว่าเราน่าจะได้คำตอบในเดือนธันวาคม

 

โดยหากโอไมครอนกลายเป็นสายพันธุ์ที่แพร่ระบาดมากที่สุดในโลก ก็หมายความว่าจำเป็นต้องผลิตวัคซีนใหม่เพื่อกระจายไปทุกประเทศ แต่หากสายพันธุ์นี้หายไปหรือไม่อาจแซงหน้าสายพันธุ์เดลตาได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องผลิตวัคซีนใหม่เพื่อใช้ในวงกว้าง

 

ดอลสเตนกล่าวว่ามันยังเร็วเกินไปที่จะทราบว่าโอไมครอนมีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เหมือนกับเดลตาที่กลายเป็นสายพันธุ์ระบาดใหญ่ หรือเหมือนกับสายพันธุ์เบตาที่เริ่มค้นพบในแอฟริกาใต้ แต่สุดท้ายกลายเป็นโรคระบาดท้องถิ่น และหายไปไม่มากก็น้อย

 

ก่อนหน้านี้ สกอตต์ กอตต์ลีบ ผู้อำนวยการ Pfizer และอดีตผู้บริหารสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้สัมภาษณ์กับ CNBC ว่า ปัจจุบันมีความเชื่อมั่นในแวดวงวัคซีนว่าการฉีดวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มจะช่วยป้องกันไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนได้ค่อนข้างดี 

 

อูกูร์ ซาฮิน ผู้ร่วมก่อตั้ง BioNTech บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเยอรมัน พร้อมนักวิทยาศาสตร์หลายคนให้ความเห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอาจสามารถระบาดในกลุ่มคนที่ฉีดวัคซีนโควิดแล้ว อย่างไรก็ตาม พวกเขาเชื่อว่าวัคซีนยังสามารถป้องกันไม่ให้เกิดอาการรุนแรงของโรคได้

 

ซาฮินแนะนำว่าอย่าตื่นตระหนก และขอให้ประชาชนรีบฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 หรือเข็มกระตุ้นเพื่อป้องกันไว้ก่อน ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์ยังต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์ในการทำงานร่วมกับผู้ผลิตวัคซีนหลัก เพื่อติดตามผลการทดลองในห้องปฏิบัติการว่าวัคซีนที่มีอยู่มีประสิทธิภาพในการต้านทานไวรัสสายพันธุ์ใหม่หรือไม่ ซึ่งข้อมูลที่เก็บรวบรวมจากผู้ป่วยจะเปิดเผยด้วยว่า ผู้ติดเชื้อโอไมครอนแม้ฉีดวัคซีนแล้วมีอาการเล็กน้อยไปจนถึงป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลมากน้อยแค่ไหน

 

ซาฮินกล่าวว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตาที่ระบาดในวงกว้างในปัจจุบัน มีความสามารถในการระบาดในกลุ่มผู้ที่ฉีดวัคซีนแล้วมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า แต่ผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่ยังแสดงอาการเพียงเล็กน้อยเท่านั้น 

 

สเตฟาน แบนเซล ซีอีโอของ Moderna ให้สัมภาษณ์ Financial Times เตือนว่า วัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจมีประสิทธิภาพน้อยลงเมื่อเจอกับสายพันธ์ุโอไมครอน นอกจากนี้ยังมองว่าบริษัทยาหลายแห่งอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนในการผลิตวัคซีนที่ใช้สำหรับสายพันธุ์โอไมครอนในจำนวนมาก

 

ผู้บริหาร Moderna กล่าวว่า การกลายพันธุ์หลายตำแหน่งบนโปรตีนส่วนหนาม ซึ่งเป็นส่วนที่ไวรัสใช้จับกับเซลล์มนุษย์ บวกกับการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของโอไมครอนในแอฟริกาใต้นั้นอาจเป็นปัจจัยให้ต้องพัฒนาวัคซีนใหม่จากที่มีอยู่ในปีหน้า

 

อย่างไรก็ตาม แบนเซลระบุว่า เวลานี้ยังไม่แน่ชัดว่าประสิทธิภาพของวัคซีนจะลดลงมากแค่ไหน ซึ่งเรายังต้องรอข้อมูลต่อไป แต่บรรดานักวิทยาศาสตร์ที่ Moderna พูดคุยด้วยนั้นต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามันไม่ใช่เรื่องดี

 

 

บริษัท Merck & Co. ผู้ผลิตยาเม็ดต้านโควิดโมลนูพิราเวียร์ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ว่ายาโมลนูพิราเวียร์อาจมีฤทธิ์ต้านทานเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนได้ โดยดูจากกลไกของการรักษาและข้อมูลพันธุกรรมไวรัส

 

โดยแถลงการณ์ของ Merck เผยว่า บริษัทไม่ได้ทำการศึกษาวิจัยอย่างเฉพาะเจาะจงในเรื่องประสิทธิภาพของยาโมลนูพิราเวียร์ที่มีต่อเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งที่ผ่านมาพบว่ายาโมลนูพิราเวียร์นั้นมีประสิทธิภาพที่ดีในการรักษาผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์เดลตา แกมมา และมิว

 

จากการศึกษาพบว่า ยาโมลนูพิราเวียร์นั้นช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอาการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้กว่า 30% สำหรับผู้ติดเชื้อที่มีอาการไม่รุนแรงและอาการปานกลาง

 

ขณะที่ Merck ได้ยื่นขออนุมัติการใช้งานยาโมลนูพิราเวียร์ต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ตั้งแต่เดือนตุลาคมที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการที่ปรึกษาของ FDA ได้มีการจัดประชุมเพื่อพิจารณาเรื่องการใช้งานยาโมลนูพิราเวียร์ และมีข้อแนะนำให้สนับสนุนการใช้ยาโมลนูพิราเวียร์ในการรักษาผู้ติดเชื้อกลุ่มผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง

 

 

Sinovac หนึ่งในผู้ผลิตวัคซีนโควิดสัญชาติจีน แสดงความเชื่อมั่นว่าบริษัทสามารถผลิตวัคซีนที่จะใช้ป้องกันโควิดสายพันธุ์โอไมครอนในจำนวนมากและรวดเร็วได้ หากมีความจำเป็น ซึ่งทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับการอนุมัติโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมีหลักฐานพิสูจน์ว่าวัคซีนที่พัฒนาขึ้นใหม่เป็นสิ่งจำเป็น

 

บริษัทระบุว่า การศึกษาที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องแล้วเสร็จ และมีการอนุมัติใช้งานวัคซีนใหม่ตามกฎระเบียบ มันยังเร็วไปที่จะบอกว่าเวลานี้จำเป็นต้องพัฒนาและผลิตวัคซีนสำหรับไวรัสสายพันธุ์นี้โดยเฉพาะ

 

Sinovac เผยด้วยว่ากำลังติดตามผลการศึกษาและรวบรวมตัวอย่างที่เกี่ยวข้องกับไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนผ่านทางเครือข่ายพาร์ตเนอร์ทั่วโลก เพื่อดูว่าจำเป็นต้องมีวัคซีนใหม่หรือไม่

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X