วันนี้ (5 กุมภาพันธ์) ที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ. วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมด้วย วทัญญู ทิพยมณฑา รองเลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน และ เมธี มั่นคง ผู้อำนวยการสำนักสอบสวน 1 สำนักผู้ตรวจการแผ่นดิน ได้ประชุมหารือร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น พล.ต. อรรถพล แผ้วพาลชน หัวหน้าอัยการทหาร กระทรวงกลาโหม, แก้วกาญจน์ วสุพรพงศ์ รองอธิบดีกรมบัญชีกลาง, ทิวาพร ผาสุข ผู้อำนวยการกองบริหารการรับ-จ่ายเงินภาครัฐ กระทรวงการคลัง, กฤษดา สมประสงค์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิต กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และ อภิญญา ชมพูมาศ รองอธิบดีกรมกิจการผู้สูงอายุกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียน กรณีการเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุที่ได้รับซ้ำซ้อนกับเงินบำนาญพิเศษ
พล.อ. วิทวัสกล่าวภายหลังการประชุมว่า ตามที่ ศรีสุวรรณ จรรยา ได้ยื่นเรื่องร้องเรียน ขอให้พิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหากรณีกรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ได้มีหนังสือแจ้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในหลายจังหวัดเรียกคืนเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เนื่องจากได้รับเงินบำนาญพิเศษตามเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ก่อนแล้ว ทำให้ผู้สูงอายุที่ถูกเรียกคืนเงินดังกล่าวเดือดร้อนกันทั่วประเทศ วันนี้จึงได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประชุมเพื่อแสวงหาข้อเท็จจริงและหาทางออกร่วมกัน โดยผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า ตาม พ.ร.บ. บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2494 ระบุว่า เจตนารมณ์การจ่ายเงินบำนาญพิเศษ เพื่อตอบแทนข้าราชการและพลเรือนที่ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์แก่ประเทศชาติ ซึ่งได้รับอันตราย พิการ ทุพพลภาพ เสียชีวิต โดยบิดา มารดาจะได้รับเงินดังกล่าวจนเสียชีวิต
พล.อ. วิทวัสกล่าวต่อไปว่า เงินบำนาญพิเศษถือเป็นเงินคนละก้อนกับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ดังนั้น ผู้สูงอายุที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษจึงมีสิทธิที่จะได้รับเงินทั้ง 2 ก้อน ดังนั้นการประชุมวันนี้ ทางผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยมาตรา 33 ตาม พ.ร.ป. ว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 2560 มีข้อเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 2552 ให้คนที่ได้รับเงินบำนาญพิเศษได้เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย โดยหวังว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะดำเนินการโดยเร็ว ซึ่งตามกฎหมายต้องแล้วเสร็จภายใน 120 วัน
“ส่วนผู้ที่ได้รับเงินไปแล้ว ต้องไปกำหนดในบทเฉพาะกาลว่า ถือเป็นการได้โดยสุจริต และเมื่อเทียบเคียงกับคำพิพากษาศาลฎีกาหมายเลขคดีที่ 10850 ซึ่งถือว่าเป็นลาภที่ไม่ควรได้ ก็ไม่ต้องไปเรียกเงินคืนจากบุคคลนั้นๆ สำหรับบุคคลที่นำเงินมาคืนภาครัฐแล้ว ถือว่าท่านแสดงสิทธิเจตนารมณ์ที่จะมาคืน ไม่ได้อยู่ในฐานะที่เดือดร้อนหรือเป็นผู้มีรายได้น้อย ก็แสดงว่ามีเจตนาว่าจะไม่รับเงินก้อนนี้” พล.อ. วิทวัสกล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล