เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้ลงนามในหนังสือด่วนที่สุด แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดินถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น โดยมีรายละเอียดระบุว่า
ด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้เรียนเชิญปลัดกระทรวงมหาดไทยเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงหรือให้ความเห็นในกรณีการใช้มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดด้วยการปิดตลาดนัดชุมชน ซึ่งได้ให้อำนาจกับผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละจังหวัด ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ในการออกคำสั่งปิดสถานที่ดังกล่าว รวมทั้งกรณีที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายพื้นที่เตรียมอนุมัติงบประมาณเพื่อจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กับประชาชนในพื้นที่ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564 ณ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน
สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้แจ้งว่า ผู้ตรวจการแผ่นดินได้มีคำวินิจฉัยและข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย โดยมีประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นในกรณีการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ซึ่งเป็นสถานการณ์ฉุกเฉิน วัคซีนป้องกันโควิด-19 มีปริมาณจำกัด ประกอบกับเพื่อให้การบริหารจัดการวัคซีนเป็นประโยชน์กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง
รวมทั้งเพื่อให้เกิดความปลอดภัยกับผู้ได้รับวัคซีนอย่างสูงสุด จึงขอให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นประชาสัมพันธ์ให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เตรียมจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้รับทราบและเข้าใจว่า ในระยะแรกนี้ภาครัฐเท่านั้นที่จะดำเนินการจัดซื้อและบริหารจัดการวัคซีนและกระจายวัคซีนตามแผนการบริหารจัดการวัคซีนเพื่อให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย และเพื่อให้สามารถติดตามอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีน จึงยังไม่สามารถให้ภาคเอกชนหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 กับผู้ผลิตวัคซีนได้โดยตรง
ต่อมาเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ประยูร รัตนเสนีย์ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดเพื่อให้ดำเนินการตามคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อสร้างความเข้าใจต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและภาคเอกชน ตามหนังสือศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย
ทั้งนี้ พบว่าขณะนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งขนาดใหญ่ กลาง และเล็ก ได้อนุมัติจัดงบประมาณจากเงินสะสมขององค์กรเพื่อจัดซื้อแล้ว เช่น เทศบาลนครรังสิต ปทุมธานี ตั้งงบประมาณ 90 ล้านบาท, เทศบาลนครนนทบุรี ตั้งงบประมาณ 260 ล้านบาท, เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน ตั้งงบประมาณ 10 ล้านบาท
เทศบาลนครปากเกร็ด ตั้งงบประมาณ 240 ล้านบาท, เทศบาลนครพระนครศรีอยุธยา ตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาท, เทศบาลเมืองเพชรบูรณ์ ตั้งงบประมาณ 25 ล้านบาท, เทศบาลนครแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตั้งงบประมาณ 80 ล้านบาท, เทศบาลนครระยอง ตั้งงบประมาณ 65 ล้านบาท, เทศบาลเมืองวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว ตั้งงบประมาณ 20 ล้านบาท, เทศบาลเมืองราชบุรี ตั้งงบประมาณ 200 ล้านบาท
เทศบาลนครขอนแก่น ตั้งงบประมาณ 100 ล้านบาท, เทศบาลเมืองยโสธร ตั้งงบประมาณกว่า 20 กว่าล้านบาท, เทศบาลเมืองศรีสะเกษ ตั้งงบประมาณ 40 ล้านบาท, เทศบาลคลองท่อมใต้ จังหวัดกระบี่ ตั้งงบประมาณ 4 ล้านบาท, เทศบาลนครสุราษฎร์ธานี ตั้งงบประมาณ 130 ล้านบาท, เทศบาลนครยะลา ตั้งงบประมาณ 100 ล้านบาท, เทศบาลนครภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต ตั้งงบประมาณ 45 ล้านบาท และเทศบาลเมืองป่าตอง จังหวัดภูเก็ต ตั้งงบประมาณกว่า 30 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: