เช้าของวันที่ 27 เมษายน ตามเวลาประเทศไทย ประชาชนโลกได้ตื่นขึ้นมาพบกับภาพประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ของการเมืองโลก เมื่อได้เห็นภาพการรายงานสดจากสำนักข่าวใหญ่ทั่วโลกขึ้นบนหน้าฟีดเฟซบุ๊กเป็นภาพเดียวกัน
ภาพที่เราได้เห็น คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ จับมือกับ มุนแจอิน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ ที่เขตแดนที่แบ่งเขตเหนือ-ใต้ (เส้นขนานที่ 38) ก่อนที่จะเดินทางเข้าร่วมประชุมที่เรือนสันติภาพ (Peace House) ที่ตั้งอยู่บริเวณหมู่บ้านปันมุนจอมในเขตปลอดทหาร (DMZ) ฝั่งเกาหลีใต้ สร้างความหวังให้กับผู้คนที่รอคอยวันที่สองประเทศนี้พบเจอกับสันติภาพ และตัดคำว่าเหนือและใต้ให้เหลือเกาหลีเพียงหนึ่งเดียว
แต่ทั้งหมดนี้ หากจะหยิบยกสถานการณ์หนึ่งที่นำพาผู้นำทั้งสองก้าวข้ามเส้นสัญลักษณ์แห่งความขัดแย้งที่แบ่งกันผู้คนในประเทศเดียวกันมาเป็นเวลากว่า 50 ปี อาจต้องกลับไปที่การแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวที่นครพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
แน่นอน ภาพความประทับใจระหว่างการแข่งขันในปีนั้น เราได้เห็นธงเกาหลีเดียว หรือ Korean Unification Flag ที่โบกสะบัดเหนือนักกีฬา 92 ชาติที่เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งหนึ่งในทีมที่เข้าร่วมในปีนั้นเป็นหัวข้อที่คนทั่วโลกพูดถึง นั่นคือฮอกกี้หญิงทีมชาติเกาหลี ซึ่งรวมนักกีฬาจากทั้งสองประเทศมาลงแข่งขันภายใต้ธง Korean Unification Flag
ด้วยความภาคภูมิใจที่กีฬาโอลิมปิกสามารถเป็นพื้นที่เชิงสัญลักษณ์ เหมือนกับการแข่งขันในสมัยโบราณที่นำพารัฐต่างๆ ในกรีกเข้ามาแข่งขันพร้อมกับสนธิสัญญายุติสงครามระหว่างการแข่งขันโอลิมปิก มาถึงวันนี้กีฬาโอลิมปิกได้เข้าถึงแก่นสารของมหกรรมอีกครั้ง โธมัส บาค ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล ได้กล่าวถึงความร่วมมือที่พย็องชังไว้ว่า
“เราแข็งแกร่งกว่าพลังที่พยายามจะสร้างความขัดแย้งระหว่างพวกเรา”
ภาพความประทับใจในครั้งนั้นใช้เวลาเดินทางผ่านการต่อต้านจากภายในประเทศเกาหลีใต้เองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะจากเยาวชนภายในประเทศซึ่งมองว่าเกาหลีใต้ยอมอ่อนข้อให้กับเกาหลีเหนือมากเกินไป และมีความเชื่อว่าเกาหลีเหนือจะใช้โอกาสในโอลิมปิกครั้งนี้สร้างภาพลักษณ์ใหม่ต่อประชากรโลกผ่านการแข่งขันมหกรรมกีฬาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก โดยคะแนนความนิยมของมุนแจอินตกต่ำลงจนเหลือเพียง 67% ซึ่งนับว่าเป็นคะแนนต่ำที่สุดที่เขาเคยได้รับจากโพล Gallup Korea
ซึ่งประชาชนชาวเกาหลีใต้ก็มีบทเรียนจากโอลิมปิกฤดูร้อนเมื่อปี 1988 มาแล้ว เมื่อพวกเขาเชิญชวนให้เกาหลีเหนือมาเป็นเจ้าภาพร่วมจัดการแข่งขัน ซึ่งนอกจากเกาหลีเหนือจะปฏิเสธแล้ว 10 เดือนก่อนการแข่งขัน คิมฮยุนฮี สายลับของเกาหลีเหนือ ยังได้วางระเบิด Korean Air และฆ่าผู้โดยสาร 115 คนบนเครื่อง โดยมีจุดประสงค์เพื่อสร้างความหวาดกลัวให้กับผู้ที่จะเดินทางมาเข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย
โอลิมปิกในปี 1988 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความห่างเหินระหว่างสองประเทศทั้งทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง แต่จุดสำคัญของปี 1988 ยังเป็นจุดเริ่มต้นของความเปลี่ยนแปลงในบริบทของการเมืองโลกในช่วงท้ายของสงครามเย็น
ในโอลิมปิกฤดูร้อนสองครั้งก่อนหน้านั้นที่มอสโก รัสเซีย และลอสแอนเจลิส สหรัฐอเมริกา ต่างฝ่ายต่างรณรงค์ให้ชาติพันธมิตรบอยคอต ไม่เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกที่ประเทศฝั่งตรงข้ามเป็นเจ้าภาพ แต่โอลิมปิกในปี 1988 ที่เกาหลีใต้ ทุกชาติที่เคยบอยคอตต่างพร้อมใจเดินทางเข้าร่วมแข่งขันที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ทำให้โอลิมปิกในครั้งนั้นนับเป็นโอลิมปิกที่มีจำนวนชาติเข้าร่วมมากที่สุดในยุคสงครามเย็น
และปีต่อมากำแพงเบอร์ลินก็พังทลายลง ยุติการแบ่งแยกของเยอรมนีตะวันออกและตะวันตกที่ก่อกำเนิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เช่นกัน ไม่นานหลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย
“ถ้าจะเปรียบว่าสงครามเย็นยุติลงที่โอลิมปิกในกรุงโซลก็อาจไม่ใช่เรื่องที่ผิดนัก” ลีโอยัง ครีเอทีฟไดเรกเตอร์ของพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิก ปี 1988 ที่กรุงโซล ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times
ลีโอยังที่เลือกใช้สโลแกนพิธีเปิดในปี 1988 ว่า Beyond the Wall หรือเหนือกำแพง เชื่อว่าพลังของความคิดสร้างสรรค์สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้
“ที่พย็องชัง โอลิมปิก ปี 2018 อาจสร้างความเซอร์ไพรส์แบบที่ไม่มีใครคาดฝันได้ นี่อาจเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์เหมือนโอลิมปิกที่กรุงโซลเมื่อปี 1988 เพราะหลังจากโอลิมปิกครั้งนั้น เราได้พบกับสงครามเย็นสมัยใหม่ และที่พย็องชัง เราอาจได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นได้”
เยอรมนีตะวันออกและตะวันตกกับการรวมชาติผ่านโอลิมปิก
แน่นอนว่าการแข่งขันกีฬาไม่ใช่เครื่องมือและสาเหตุเดียวที่ช่วยให้เยอรมนีสามารถทลายกำแพงที่ตั้งอยู่ในกรุงเบอร์ลินได้สำเร็จ
เยอรมนีไม่ต่างกับเกาหลีที่ถูกพิษของสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่จบลงในปี 1945 แบ่งแยกประเทศพวกเขาออกเป็นสองฝั่ง ในปี 1949 ฝ่ายสัมพันธมิตร ฝรั่งเศส อังกฤษ และสหรัฐฯ ได้ให้พื้นที่เยอรมนีตะวันตกภายใต้ชื่อ Federal Republic of Germany ปกครองตนเอง ขณะที่เยอรมนีตะวันออกถูกปกครองโดยสหภาพโซเวียต ภายใต้ชื่อ Germany Democratic Republic ซึ่งทั้งสองประเทศถูกแบนไม่ให้เข้าร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปี 1948
โอลิมปิกสำหรับพวกเขาในเวลานั้นคือการกลับสู่สถานะการยอมรับในฐานะประเทศและการกลับสู่การใช้ชีวิตอย่างปกติ แต่ทั้งสองชาติก็ไม่ได้มีความไว้วางใจกัน โดยฝั่งตะวันตกมองว่าหากให้การยอมรับทีมจากตะวันออกคือการให้สถานะปกติกับเยอรมนีตะวันออก และเฉลิมฉลองการเติบโตของลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น
ในปี 1951 เยอรมนีตะวันตกได้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกของตนเองขึ้นมา โดยมีข้อกำหนดว่าพวกเขาต้องขอโทษต่อเหตุการณ์ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
ในเวลาเดียวกัน เยอรมนีตะวันออกก็พยายามจะทำสิ่งเดียวกัน แต่กลับสร้างความขัดแย้งทางการเมืองโลกในทันที และคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC ก็ตัดสิทธิ์ไม่รับรองคณะกรรมการของพวกเขาในทันที เนื่องจากมีเยอรมนีตะวันตกอยู่ในคณะกรรมการแล้ว และสุดท้าย IOC ก็อนุญาตให้เยอรมนีตะวันออกเข้าร่วมแข่งขันได้ แต่ต้องภายใต้ธงเยอรมนีเดียวเท่านั้น
สุดท้ายในปี 1955 เยอรมนีตะวันออกก็ตัดสินใจยอมเข้าร่วมแข่งขันในฐานะทีมเดียวกัน จนพวกเขาได้ลงแข่งขันภายใต้ธงเดียวกันอย่างเป็นทางการในปี 1956 ซึ่ง เอเวอรี บรันดิจ ประธาน IOC ในเวลานั้นมองว่านี่คือชัยชนะของกีฬาเหนือการเมือง
“วงการกีฬาได้ทำในสิ่งที่นักการเมืองล้มเหลวตลอดมา”
พวกเขาลงแข่งขันภายใต้ธงเยอรมนีเดียวกันในโอลิมปิกฤดูร้อนและฤดูหนาวในปี 1956, 1960 และ 1964 แต่ในช่วงเวลานั้นก็ได้มีการกลั่นแกล้งระหว่างสองประเทศ ทั้งการไม่ออกวีซ่าให้อีกฝั่งไปร่วมแข่งขันและการกีดกันต่างๆ จนสุดท้ายในปี 1968 คณะกรรมการโอลิมปิกสากลก็รับรองเยอรมนีตะวันออกเป็นอีกชาติที่สามารถเข้าร่วมแข่งขันได้ และความขัดแย้งระหว่างสองฝั่งของเยอรมนีก็เข้มข้นขึ้นผ่านการแข่งขันโอลิมปิกอย่างต่อเนื่อง
โอลิมปิกสุดท้ายที่พวกเขาลงแข่งขันในฐานะตะวันออกและตะวันตกก็คือปี 1988 ที่กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ เพราะหลังจากนั้นเพียงปีเดียว กำแพงเบอร์ลินก็ล่มสลายลงไปพร้อมกับสหภาพโซเวียตในเวลาไม่นานหลังจากนั้น
การล่มสลายของกำแพงเบอร์ลินทำให้แฟนกีฬาทั่วโลกตื่นเต้นกับศักยภาพของทีมเยอรมนีที่รวมตัวเป็นหนึ่งทีม โดยเฉพาะ ฟรานซ์ อันทอน เบคเคนบาวเออร์ กุนซือทีมเยอรมนีตะวันตก เชื่อมั่นว่าเยอรมนีจะเป็นทีมที่แข็งแกร่งมากหากพวกเขาร่วมสองชาติเข้าด้วยกัน โดยฝั่งตะวันออกจะมีนักเตะอย่าง มัทธีอัส ซามเมอร์, อูล์ฟ เคิร์สเตน และโทมัส ดอลล์ มารวมทีมกับ เยอร์เกน คลินส์มัน และโลธาร์ มัทเธอุส
ซึ่งการรวมชาติและรวมทีมของพวกเขาก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าพวกเขามีศักยภาพมากขึ้นขนาดไหน โดยเฉพาะในฟุตบอลโลกที่คว้าแชมป์ไปแล้วถึง 4 สมัย
กีฬากับการเมืองเป็นสิ่งที่หลายคนไม่อยากให้มาเกี่ยวข้องกันด้วยเหตุผลที่ว่า ในบางครั้งความขัดแย้งทางการเมืองส่งผลกระทบต่อโอกาสเข้าร่วมแข่งขันของนักกีฬาในประเทศนั้นๆ รวมถึงยังเป็นสิ่งที่ทำลายความสวยงามของการแข่งขันภายใต้กฎกติกามารยาทของความเป็นนักกีฬาที่รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย
แต่ในขณะเดียวกันที่หลายคนบอกว่าการเมืองมีอิทธิพลเหนือกีฬานั้น ในทางกลับกัน วันนี้กีฬาได้พิสูจน์ให้โลกเห็นอีกครั้งว่าพลังของการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกก็สามารถมีพลังเหนือความขัดแย้งหรือการเมืองได้เช่นกัน
Photo: AFP
อ้างอิง:
- www.reuters.com/article/us-sport-germany-berlinwall/fall-of-berlin-wall-and-hopes-of-sports-superpower-status-idUSKBN0IT00320141109
- www.history.com/news/a-divided-germany-came-together-for-the-olympics-decades-before-korea-did
- www.sportresolutions.co.uk/about-us/our-history
- www.theguardian.com/sport/2018/feb/07/winter-olympics-bring-peace-to-korean-peninsula-for-now
- en.wikipedia.org/wiki/United_Team_of_Germany
- en.wikipedia.org/wiki/Korean_Unification_Flag
- www.bbc.com/sport/winter-olympics/42945243
- time.com/5164622/2018-winter-olympics-korean-history
- www.vox.com/world/2018/1/17/16900972/winter-olympics-opening-ceremony-north-south-korea-flag