×

เปิดสาเหตุ ‘ญี่ปุ่น’ ฝืนจัด ‘โอลิมปิก’ แม้ไร้คนดูในสนาม ชี้หากยกเลิกเท่ากับทิ้งเงินหลายแสนล้านบาท หลังจากนี้ยังต้องจับตาสถานการณ์โควิดในประเทศ

25.07.2021
  • LOADING...
Tokyo2020

งานมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งที่ 32 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น (Oympic Tokyo 2020) กำหนดเดิมจัดขึ้นในปี 2020 แต่เลื่อนมาเป็นเวลา 1 ปี จนในที่สุดการแข่งขันจะจัดขึ้นในวันที่ 23 กรกฎาคม-8 สิงหาคม 2021 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด ที่นับเป็นบทพิสูจน์ของญี่ปุ่นในการจัดงานภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โอลิมปิก 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า การได้เป็นเจ้าภาพในงานสำคัญระดับโลกไม่เพียงช่วยโปรโมตประเทศ แต่ยังเป็นโอกาสสำคัญที่จะสร้างรายได้ผ่านช่องทางต่างๆ ดังเช่นในอดีตที่ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งการจัดงานในครั้งนั้นส่วนหนึ่งสร้างรายได้เข้าประเทศญี่ปุ่นเป็นจำนวนมาก และญี่ปุ่นยังใช้การจัดงานเป็นประจักษ์พยานการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ จนสามารถผงาดขึ้นมาเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากสหรัฐฯ ฝรั่งเศสและสหราชอาณาจักร ภายในเวลาเพียง 4 ปี 

 

สำหรับการจัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกครั้งนี้เกิดขึ้นท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดในญี่ปุ่นที่ยังมีผู้ติดเชื้อทะลุ 5,000 คนต่อวัน แต่แรงกดดันทางการเมืองผลักดันให้รัฐบาลของโยชิฮิเดะ ซูงะ เดินหน้าจัดการแข่งขันขึ้นมาจนได้ โดยต้องจำกัดผู้เข้าร่วมงานเพื่อลดความเสี่ยงของโควิด ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากชาวญี่ปุ่นกว่าร้อยละ 40 ที่ไม่ต้องการให้จัด เนื่องจากกลัวว่าโควิดจะยิ่งลุกลามหนักขึ้น 

 

ประกอบกับแรงกดดันของพรรคฝ่ายค้าน ซึ่งถ้าหากซูงะไม่สามารถเดินหน้างานแข่งขันโอลิมปิกไปพร้อมกับการรับมือโควิดนี้ได้สำเร็จ อาจยิ่งส่งผลต่อคะแนนนิยมเพื่อคว้าชัยในการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นในสมัยถัดไป ที่จะจัดในวันที่ 22 ตุลาคมนี้

 

การจัดงานโตเกียวโอลิมปิกนับว่ามีมูลค่าการลงทุนสูงในลำดับต้นๆ ในประวัติศาสตร์โอลิมปิก ใกล้เคียงกับลอนดอนโอลิมปิกปี 2555 ในขณะที่การจัดงานครั้งนี้มีข้อจำกัดหลายด้าน น่าจะส่งผลให้ญี่ปุ่นต้องรับภาระขาดทุนอย่างหนักจากการจัดงานนี้ 

 

โดยนับตั้งแต่ญี่ปุ่นได้รับเลือกให้เป็นผู้จัดงานก็มีค่าใช้จ่ายในการประมูลที่สูงอยู่แล้ว เมื่อรวมกับการเตรียมความพร้อมสถานที่แข่งขัน และค่าใช้จ่ายในการเลื่อนการแข่งขันเป็นระยะเวลา 1 ปี รวมแล้วเป็นวงเงินลงทุนสูงไม่ต่ำกว่า 1.54 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (4.92 แสนล้านบาท) เมื่อเทียบกับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูหนาวเมืองโซซิ ประเทศรัสเซีย ในปี 2014 ที่มีต้นทุนการจัดงานสูงสุดเป็นอันดับ 1 ถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (1.6 ล้านล้านบาท) ตามมาด้วยโอลิมปิกเมืองปักกิ่งที่จีนปี 2008 มีต้นทุน 4.4 หมื่นล้านดอลลาร์ (1.4 ล้านล้านบาท) ขณะที่การยกเลิกการจัดงานกลับมีต้นทุนที่ต้องแบกรับเพิ่มขึ้นอีก กระทบต่อธุรกิจเป็นวงกว้าง และไม่ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นในภาพรวม 

 

โดยในทางกฎหมาย คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee: IOC) กำหนดให้ญี่ปุ่นต้องจัดการแข่งขันในฐานะเจ้าภาพ แม้ญี่ปุ่นจะมีสิทธิ์ยกเลิกการแข่งขันได้ แต่ก็ทำให้ค่าใช้จ่ายรวมไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.4 แสนล้านบาท) ประกอบด้วยต้นทุนการเตรียมงานที่สูญเสียไปแล้ว และยังมีค่าใช้จ่ายในการผิดสัญญากับ IOC ในกรณียกเลิกการแข่งขัน รวมทั้งค่าเสียโอกาสที่เกิดกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องในการจัดงาน โดยเฉพาะบริษัทประกันที่จะต้องจ่ายค่าสินไหมจากการยกเลิกเป็นวงเงินราว 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (6.4-9.6 หมื่นล้านบาท) ให้แก่สปอนเซอร์ ผู้ได้รับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด รวมถึงองค์กรที่มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายร้อยราย

 

อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์โควิดหลังจบงานแข่งขันโอลิมปิกครั้งประวัติศาสตร์ อาจมีผลอย่างมาก ฉุดเศรษฐกิจญี่ปุ่นหลังจากนี้ ด้วยการแข่งขันที่มีนักกีฬาจากทั่วโลกเข้าร่วมประมาณ 22,000 คน ในจำนวนดังกล่าวก็ตรวจพบเชื้อโควิด ยิ่งเพิ่มความกังวลต่อสถานการณ์ในประเทศที่ขณะนี้ญี่ปุ่นยังคงประกาศใช้สถานการณ์ฉุกเฉินเพื่อสกัดการแพร่ระบาดระลอกที่ 4 โดยมียอดผู้ติดเชื้อรายวันเพิ่มอย่างรวดเร็วต่อเนื่องอยู่ที่ 5,366 ราย ณ วันที่ 22 กรกฎาคม 2021 ซึ่งใกล้เคียงระดับสูงสุดที่ราว 7,000 รายในช่วงการระบาดระลอก 2 และระลอก 3 นอกจากนี้ การกระจายวัคซีนในญี่ปุ่นก็ยังมีข้อจำกัดเช่นเดียวกับประเทศอื่น มีผู้ได้วัคซีนอย่างน้อย 1 โดส ร้อยละ 35.25 จากจำนวนประชากร 126 ล้านคน

 

ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การจัดงานมหกรรมกีฬาโลกครั้งสำคัญไม่น่าจะช่วยเพิ่มการขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นได้ ทั้งยังสร้างภาระหนี้ที่มาจากการลงทุนเตรียมงานมหาศาลในช่วงที่ผ่านมา ยิ่งส่งผลกดดันทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า 

 

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปีนี้คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 2.6 ด้วยแรงขับเคลื่อนภาคการส่งออก โดยเฉพาะตลาดจีนและสหรัฐฯ และอานิสงส์จากฐานที่ต่ำสุดในรอบทศวรรษที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นหดตัวลงถึงร้อยละ 4.8 ในปี 2020 ขณะที่การระบาดของโควิดจะกลายเป็นแรงกดดันสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตต่ำกว่าที่คาด ถ้าหากหลังสิ้นสุดการแข่งขันโอลิมปิกยังไม่สามารถดึงยอดผู้ติดเชื้อให้ลดลงมาได้ เนื่องจากในเวลานี้การระบาดระรอกที่ 4 มีสัญญาณเร่งตัวอย่างน่ากังวล และการจัดงานโอลิมปิกยิ่งทวีความท้าทายในการความคุมสถานการณ์

 

ดังนั้น อานิสงส์ส่วนเพิ่มจากการจัดงานโอลิมปิกส่งผลต่อการส่งออกของไทยอย่างจำกัด ในขณะที่ยังต้องติดตามสถานการณ์หลังการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่อาจนำมาสู่การแพร่ระบาดระลอกใหม่ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันตลาดญี่ปุ่นในระยะข้างหน้า โดยการส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นในช่วงครึ่งแรกของปี 2564 มีมูลค่า 12,565 ล้านดอลลาร์สหรัฐ กลับมาเติบโตดีถึงร้อยละ 12.6 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY) 

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจญี่ปุ่นประกอบกับฐานที่ต่ำจากการผ่านพ้นช่วงวิกฤตของโควิด มีส่วนทำให้การส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นปีนี้จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 12.2 เป็นการเติบโตครั้งแรกในรอบ 3 ปี จากในปี 2020 ที่หดตัวร้อยละ 7 แตะมูลค่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 25,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (กรอบคาดการณ์ที่ขยายตัวร้อยละ 11.0-13.1 มีมูลค่าการส่งออก 25,300-25,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยสินค้าส่งออกของไทยฟื้นตัวถ้วนหน้า เช่น รถยนต์/ส่วนประกอบ ไก่แปรรูป เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ และคอมพิวเตอร์/ส่วนประกอบ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X