×

ปฏิบัติการช่วยเหลือนักวิ่งทีมชาติเบลารุสหลังถูกบังคับให้กลับประเทศ

โดย THE STANDARD TEAM
02.08.2021
  • LOADING...
Christina Simanuskaya

ในระหว่างที่การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องและเต็มไปด้วยช่วงเวลาและเรื่องราวที่น่าประทับใจมากมาย ในอีกมุมหนึ่งกลับมีเหตุการณ์ที่น่าตกใจเกิดขึ้น เมื่อหนึ่งในนักกีฬากรีฑาทีมชาติเบลารุสเกือบที่จะถูกส่งตัวกลับประเทศและอาจเผชิญกับสิ่งเลวร้ายที่ยากจะคาดเดาได้

 

นั่นเป็นที่มาของปฏิบัติการช่วยเหลือ คริสตินา ซิมานูสกายา นักวิ่งสาววัย 24 ปี ที่มีความสลับซับซ้อนในเรื่องราวอย่างยิ่ง เพราะเรื่องของเธอไม่ใช่แค่เรื่องของเกมกีฬาแต่เป็นเรื่องชีวิตความเป็นความตาย และความสัมพันธ์ระดับประเทศเลยทีเดียว

 

เกิดอะไรขึ้นในช่วงไม่ถึง 48 ชั่วโมงที่ผ่านมากับซิมานูสกายา THE STANDARD ขออนุญาตสรุปให้เห็นเรื่องราวและภาพที่ชัดเจนขึ้น

 

การขอความช่วยเหลือจากห้องพักนักกีฬา

 

  • เรื่องทั้งหมดเริ่มจากการส่งข้อความขอความช่วยเหลือของซิมานูสกายาผ่าน Telegram โดยเธอบอกว่าโค้ชของเธอได้มาที่ห้องพักในหมู่บ้านนักกีฬาในวันอาทิตย์ที่ผ่านมาและบอกให้เธอเก็บข้าวของเพื่อจะกลับไปทันที

 

“หัวหน้าโค้ชมาหาฉันและบอกว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ถอนชื่อฉันออก” นักวิ่งสาววัย 24 ปี ที่มีกำหนดการจะลงแข่งขันกรีฑา ประเภทวิ่ง 200 เมตร และวิ่งผลัด 4×400 เมตร ในวันจันทร์ เขียนข้อความไว้ใน Telegram “พอถึงตอน 5 โมงเย็น พวกเขาก็มาที่ห้องของฉันและบอกให้ฉันเก็บของและจะพาไปที่สนามบิน”

 

  • การพาตัวเธอไปครั้งนี้เป็นการกระทำที่ขัดต่อความต้องการของซิมานูสกายาที่ยืนยันว่าไม่ต้องการที่จะเดินทางกลับไปยังเบลารุส และได้เรียกร้องขอความช่วยเหลือทันที โดยเธอได้บอกกับผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าว Reuters ว่า “ฉันจะไม่กลับไปเบลารุส”

 

  • จากนั้นซิมานูสกายาได้ร้องขอให้คณะกรรมการโอลิมปิกสากล (IOC) ได้เข้ามาเป็นผู้ไกล่เกลี่ย โดยอ้างว่าหากเธอถูกส่งตัวกลับจากญี่ปุ่นจริงเธอจะตกอยู่ในที่นั่งอันตราย

 

“พวกเขาพยายามจะผลักดันฉันออกประเทศโดยที่ฉันไม่ยินยอม ฉันขอร้องให้ IOC สำหรับความช่วยเหลือ” เธอกล่าวในวิดีโอที่โพสต์ใน Telegram ซึ่งถูกเผยแพร่ผ่านช่องทาง Belarusian Sport Solidarity Foundation กลุ่มที่จะให้ความช่วยเหลือแก่นักกีฬาที่ถูกคุมขังหรือจับกุมจากการแสดงออกทางการเมือง

 

ปฏิบัติการช่วยเหลือนักวิ่งที่ต้องการความปลอดภัยมากกว่าเหรียญรางวัล

 

  • หลังการขอความช่วยเหลือของนักวิ่งสาว ได้มีการปฏิบัติการจาก IOC และประเทศญี่ปุ่นทันทีในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่น

 

  • โดยทางด้าน IOC ได้เผยว่า มีการติดต่อกับทางซิมานูสกายาโดยตรง ขณะที่ทางการญี่ปุ่นได้มีทีมงานฝ่ายจัดการแข่งขัน Tokyo 2020 ที่สนามบิน ได้เข้าประกบเพื่อให้ความช่วยเหลือ พร้อมกับทางด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ให้การคุ้มครองทันที โดยที่นักวิ่งชาวเบลารุสยังยืนยันที่จะไม่เดินทางกลับประเทศอย่างแน่นอน

 

“เธออยู่กับเจ้าหน้าที่ที่สนามบินฮาเนดะ และขณะนี้ได้รับการดูแลโดยทีมงานของ Tokyo 2020” IOC เผย “เธอบอกกับเราว่าเธอรู้สึกปลอดภัย ทาง IOC และฝ่ายจัดการแข่งขัน Tokyo 2020 จะดำเนินการเจรจากับ คริสตินา ซิมานูสกายา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตัดสินใจในการดำเนินการขั้นต่อไปหลังจากนี้”

 

  • ขณะที่ทางด้านซิมานูสกายาได้พูดกับช่างภาพของ Reuters ที่อยู่ในเหตุการณ์ที่สนามบินฮาเนดะในระหว่างที่เธอมีเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ใกล้ๆ ว่า “ฉันรู้สึกว่าฉันปลอดภัยแล้ว ฉันอยู่กับตำรวจ”

 

  • ระหว่างนี้ทางด้าน IOC ได้ทำการประสานกับคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสเพื่อขอรายงานฉบับเต็มทั้งหมด

 

  • โดยที่คณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสมีประธานที่ชื่อ วิกเตอร์ ลูกาเชนโก บุตรชายของประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก

 

เหตุผลในการส่งตัวซิมานูสกายากลับประเทศ

 

  • สำหรับเหตุผลที่ทางด้านคณะกรรมการโอลิมปิกเบลารุสชี้แจงเบื้องต้นนั้น เกิดจากความเห็นของโค้ชที่ตัดสินใจถอนตัวเธอออกจากการแข่งขันโดยอ้างอิงตามความเห็นของแพทย์ว่าเธอมีปัญหาเกี่ยวกับ ‘สภาวะอารมณ์และสภาพจิตใจ’

 

  • ยูริ มอยเซวิช หัวหน้านักกีฬาเบลารุสให้สัมภาษณ์ผ่านโทรทัศน์ในประเทศว่า “เห็นได้ชัดว่ามีบางอย่างของเธอที่ผิดปกติ เธออาจจะเก็บตัวหรือไม่อยากจะพูดกับใคร”

 

  • ขณะที่ตัวของซิมานูสกายาบอกว่า เหตุผลที่เธอจะโดนส่งตัวกลับมาจากการที่เธอได้วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ของโค้ชที่ทำหน้าที่ได้อย่างเลวร้าย

 

  • ตามคำบอกเล่าของซิมานูสกายาผ่านการโพสต์ใน Instagram บอกว่าเธอต้องเข้าร่วมแข่งขันในรายการวิ่งผลัด 4×400 เมตร เพราะว่ามีสมาชิกในทีมบางคนที่ไม่สามารถจะเข้าร่วมแข่งขันได้เนื่องจากไม่ได้รับการตรวจหาสารกระตุ้นเพียงพอตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

“โค้ชใส่ชื่อฉันในการแข่งวิ่งผลัดโดยที่ฉันไม่รู้เรื่อง พอฉันเปิดเผยเรื่องนี้ต่อสาธารณะ โค้ชก็มาหาฉันและบอกว่ามีคำสั่งจากเบื้องบนให้ถอดชื่อฉันออก”

 

  • มอยเซวิชได้ชี้แจงว่าการตัดสินใจเกี่ยวกับนักกีฬาที่จะลงแข่งวิ่งผลัดนั้นไม่มีการประกาศออกมาทันที เนื่องจากไม่ต้องการรบกวนการเตรียมตัวของนักกีฬา “เราตั้งใจจะบอกเธอทุกอย่างอยู่แล้วและโดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวเธอเองก็เป็นตัวสำรองในทีม”

 

ไม่ใช่คนแรกและอาจไม่ใช่คนสุดท้าย

 

  • อย่างไรก็ดี สิ่งที่เกิดขึ้นกับซิมานูสกายานั้นดูเหมือนจะไม่ใช่เรื่องธรรมดา เมื่อนักการเมืองฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่ต้องลี้ภัยไปต่างประเทศอย่าง สวิอัตลานา ซิกานูสกายา ได้ขอร้องให้ IOC ช่วยดูแลกรณีนี้

 

“เธอมีสิทธิ์ที่จะได้รับการปกป้องจากระดับนานาชาติและเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกต่อไป” ซิกานูสกายาเขียนข้อความบนทวิตเตอร์ “ตอนนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องตรวจสอบการกระทำของ Belarus NOC ที่ละเมิดสิทธิ์ของนักกีฬา”

 

  • ซิกานูสกายาเปรียบเทียบกรณีของนักวิ่งสาวกับเหตุการณ์ของบล็อกเกอร์ชื่อดังอย่าง โรมัน โปรตาเซวิช และแฟนสาว ที่ถูกจับกุมบนเครื่องบินของสายการบิน Ryanair ซึ่งถูกบังคับให้ลงจอดฉุกเฉินในเมืองมินสก์ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

 

  • ซิกานูสกายายังบอกอีกว่า “ไม่มีชาวเบลารุสคนไหนที่เดินทางออกจากชายแดนของประเทศโดยปลอดภัย เพราะพวกเขาสามารถถูกลักพาตัวได้เสมอ เหมือน คริสตินา ซิมานูสกายา หรือ โรมัน โปรตาเซวิช”

 

  • ขณะที่ทางด้าน วิตาลี อัตกิน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของเบลารุส โจมตีซิมานูสกายาอย่างรุนแรงว่าได้กระทำการทรยศต่อประเทศชาติและเป็นพวกขายชาติ

 

  • สำหรับประเทศเบลารุสนั้นปัจจุบันอยู่ภายใต้ผู้นำเผด็จการ ประธานาธิบดีอเล็กซานเดอร์ ลูกาเชนโก ซึ่งถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากประชาชนในปรากฏการณ์การเดินลงถนนครั้งใหญ่ที่สุดในประเทศเมื่อปีกลาย หลังลูกาเชนโกได้รับการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 6

 

  • ในการประท้วงครั้งนั้นมีผู้คนมากมายที่แสดงตัวต่อต้านรัฐบาลและเข้าร่วมการประท้วง ซึ่งรวมถึงนักกีฬาอย่าง เยเลนา ลิวเชนกา นักบาสเกตบอลโอลิมปิก และ อังเดร เคราชานกา ซึ่งถูกจับกุมและถูกคุมขัง และยังมีนักกีฬาอีกหลายคนที่สูญเสียสถานะนักกีฬาทีมชาติหรือสูญเสียงาน

 

การลี้ภัยทางรอดของซิมานูสกายา

 

  • จากสิ่งที่เกิดขึ้นดูเหมือนจะไม่มีทางออกอื่นสำหรับเรื่องนี้ให้แก่ซิมานูสกายานอกเสียจากการลี้ภัย

 

  • โดยจากความช่วยเหลือของหลายฝ่าย ทำให้ตอนแรกมีข่าวว่าสาธารณรัฐเช็กและโปแลนด์พร้อมให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่นักวิ่งผู้เคราะห์ร้ายวัย 24 ปี

 

  • ก่อนที่จะมีความชัดเจนว่าโปแลนด์ได้ยื่นมือช่วยเหลือ โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศ มาร์ซิน เพอร์ซีดาซ โพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ว่า “โปแลนด์พร้อมให้ความช่วยเหลือ คริสตินา ซิมานูสกายา ด้วยการให้วีซ่าด้านมนุษยธรรม และเธอสามารถที่จะแข่งขันกีฬาต่อในโปแลนด์ได้หากเป็นความประสงค์ของเธอเอง”

 

  • ก่อนที่จะมีรายงานล่าสุดในช่วง 5 โมงเย็นตามเวลาท้องถิ่นว่า ซิมานูสกายาไปยังสถานทูตโปแลนด์ในกรุงโตเกียว โดยผู้มาต้อนรับนั้นเป็นผู้หญิงสองคน โดยที่หนึ่งในสองมีธงสีแดงและขาวที่เป็นตราสัญลักษณ์ของกลุ่มต่อต้านเบลารุสเพื่อดูแลนักวิ่งรายนี้ต่อไป

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising