“มันจะดีกว่านี้สักแค่ไหน”
ผมแอบตั้งคำถามในใจว่า หากสามารถเดินทางย้อนกาลเวลากลับไป 2 ปีที่แล้วเพื่อเตือนใครสักคนว่าได้โปรดช่วยหยุดยั้งการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกใบนี้และจะเปลี่ยนแปลงทุกอย่าง มันจะสามารถช่วยให้อะไรๆ ดีขึ้นกว่านี้ไหม
แต่ก็นั่นแหละครับ เมื่อไม่มีใครสามารถย้อนเวลาได้ สิ่งที่เราทุกคนทำได้คือการยอมรับและอยู่กับความเป็นจริงในปัจจุบัน แม้ว่าหลายอย่างมันจะชวนให้รู้สึกน่าเสียดายมากเหลือเกินก็ตาม
การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ที่กรุงโตเกียวก็เป็นหนึ่งในเรื่องราวที่น่าเศร้าใจ เพราะก่อนหน้าที่จะมีโควิดปรากฏตัวบนโลกใบนี้ เราน่าจะพอพูดกันได้เต็มปากว่านี่คือการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ที่น่าดูมากที่สุด
ไม่ใช่แค่ดูทางหน้าจอ แต่น่าเดินทางไปเพื่อเก็บบันทึกความทรงจำกับมหกรรมกีฬาที่น่าจะสนุกมากที่สุด ซึ่งก็ไม่แปลกที่สนนราคาค่าตั๋วเครื่องบิน ราคาโรงแรมที่พักนั้นจะทะยานสูงไปจากเดิมที่ปกติก็ไม่เคยถูกอยู่แล้วสำหรับที่พักในกรุงโตเกียว
เจ้าโรคร้ายโควิดได้ทำลายความฝันของทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวญี่ปุ่นที่เดิมมุ่งมั่นตั้งใจอย่างมากกับการเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกในรอบ 56 ปี เพราะครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่พวกเขาเป็นเจ้าภาพการแข่งขันในปี 1964 นั้นคือจุดเปลี่ยนที่สำคัญที่สุดของประเทศที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นญี่ปุ่นในวันนี้ มิได้ถูกจดจำในฐานะชาติผู้แพ้สงครามอีกต่อไป
เจ้าของกิจการจำนวนมากที่ลงทุนเพื่อเตรียมการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก และมั่นใจอย่างมากว่าด้วยจิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่นที่เรียกว่า おもてなし (Omotenashi) จะสามารถสร้างความประทับใจให้แก่ทุกคนอย่างแน่นอน
ขณะที่รัฐบาลญี่ปุ่นเองทุ่มสุดพลัง ทั้งความคิด กำลังกาย กำลังใจ เป็นโอลิมปิกที่มีคอนเซปต์ดีที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะจัดอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืน
เอาแค่ไม้ที่นำมาใช้ในการก่อสร้างอาคารก็นำมาจากไม้ที่ปลูกขึ้นเมื่อ 56 ปีก่อนก็ถือว่าสุดยอดแล้ว
แต่โควิดก็ได้ทำลายทุกอย่างลง ไปจนถึงน้ำใจและไมตรีสำหรับชาวต่างชาติด้วย เพราะโรคระบาดที่ไม่มีวันจบสิ้นทำให้พวกเขาหวาดกลัวที่จะต้อนรับชาวต่างชาติที่ไม่รู้ว่าจะนำพาสิ่งมีชีวิตตัวเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็นและไม่เป็นที่ต้อนรับมาด้วยหรือไม่
แม้การแข่งขันจะถูกเลื่อนมาเป็นระยะเวลาถึง 1 ปีเต็ม สถานการณ์ก็ไม่ได้ดีขึ้นและดูคล้ายว่าจะแย่ลงด้วยซ้ำไป
ไม่แปลกที่ก่อนหน้าการแข่งขันจะเริ่มต้น ซึ่งเป็นเรื่องชวนลุ้นระทึกสำหรับคนทำงานอย่างยิ่งว่าจะมีการประกาศยกเลิกการแข่งขันไหม ‘โตเกียว 2020’ จะถูกจดจำในฐานะของโอลิมปิกที่ต้องคำสาป และแทบไม่มีการพูดถึงโอลิมปิกครั้งนี้ในแง่ดีเลยอยู่เลยแม้แต่น้อย
มันจะเป็นโอลิมปิกได้อย่างไรในเมื่อไม่มีผู้ชม? จัดแบบนี้จะฝืนจัดกันไปทำไม? เดี๋ยวโรคก็ระบาดหนักหรอก
ความคิดความกังวลนี้ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้
แต่สุดท้ายแล้วโอลิมปิกก็เกิดขึ้นจริง ซึ่งเป็นการเดิมพันครั้งใหญ่ที่สุดของคณะกรรมการโอลิมปิกสากล และเจ้าภาพ โตเกียว 2020 ที่มองว่า ถึงจะมีคนบอกว่า “จัดก็เจ็บ ไม่จัดก็เจ็บ” ในแง่ของตัวเลขการลงทุน เพียงแต่มันมีบางสิ่งบางอย่างที่มีความหมายกว่านั้น
สิ่งนั้นคือ ‘สปิริต’ ของเกมกีฬาของเหล่านักกีฬานับพันนับหมื่นคนจากทั่วโลกที่ทุ่มเทฝึกซ้อมตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา
การแข่งขันมันมีเวลาและความฝันของพวกเขาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
และสิ่งนี้เองที่เป็นสิ่งที่ดีและช่วยเปลี่ยนให้โอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ถูกเปลี่ยนจากการแข่งขันต้องสาปกลายเป็นการแข่งขันที่ดีที่สุดครั้งหนึ่งเท่าที่มีมา
การแชร์เหรียญทองร่วมกันของสองนักกระโดดสูง คือหนึ่งในภาพที่งดงามที่สุดของโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้
จากการแสดงชุด Pictogram ในพิธีเปิดที่สร้างความประทับใจและความสนุกคึกคักเป็นการ Set Tone ให้แก่การแข่งขันที่กำลังจะเริ่มขึ้น มาสู่การแข่งขันที่เหล่านักกีฬาจากทั่วโลกได้แสดงถึงสิ่งที่พวกเขาทุ่มเทตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
การแข่งขันนั้นแม้จะร้อนแรง แต่สิ่งที่ร้อนแรงกว่าคือสปิริตของการแข่งขันที่เด่นชัด
เราได้เห็นภาพและเรื่องราวที่น่าประทับใจมากมายในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ครับ ไม่ว่าจะเป็นการหลั่งน้ำตาหลังได้รับเหรียญทองที่รอคอยมา 20 ปีของ ทอม เดลีย์ นักกระโดดน้ำทีมชาติสหราชอาณาจักรที่ฝากถึงเด็กๆ ที่เป็นชาว LGBTQ ว่า ถ้าคนอย่างเขาคว้าเหรียญทองโอลิมปิกได้ ทุกคนก็ทำได้เช่นเดียวกัน
เสียงปรบมือกึกก้องในสนามการแข่งยิมนาสติกที่ไร้ผู้ชม เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่เส้นทางที่มหัศจรรย์ของ ออคซานา ชูโซวิตินา นักยิมนาสติกทีมชาติอุซเบกิสถานผู้ผ่านการแข่งขันโอลิมปิกมาถึง 8 สมัย
ชัยชนะที่เหลือเชื่อของ แอนนา คีเซินโฮเฟอร์ นักปั่นจักรยานทีมชาติออสเตรียที่เป็นมือสมัครเล่นแต่สามารถเอาชนะมืออาชีพได้
การวิ่งสุดแสนมหัศจรรย์ของ ซีฟาน ฮัสซัน นักกรีฑาทีมชาติเนเธอร์แลนด์ที่สะดุดล้มในการแข่งวิ่ง 1,500 เมตร แต่สามารถวิ่งแซงทุกคนเข้าเส้นชัยเป็นคนแรกได้แบบที่แทบไม่มีใครเชื่อ
ความสุขในการได้ร่วมแข่งขันของ ยุสรา มาร์ดินี ที่ได้ว่ายน้ำในสระโอลิมปิกในนามของทีม Refugee Olympic Team หลังจากที่ก่อนหน้านี้เธอต้องว่ายน้ำข้ามทะเลออกจากบ้านเกิดในซีเรียเพื่อเริ่มต้นใหม่โดยเอาชีวิตเป็นเดิมพัน
เมล็ดพันธุ์ที่ผลิบานของเหล่านักกีฬาตัวน้อยอย่าง ซากุระ โยโซซุมิ, ฮิราคิ โคโคนะ, สกาย บราวน์ รวมถึง มิซุกุ โอกาโมโตะ ผู้แพ้แต่ได้รับการอุ้มให้เป็นผู้ชนะจากเพื่อนๆ ที่ร่วมแข่งขันสเกตบอร์ด และ เฉวียนหงฉาน นักกระโดดน้ำมหัศจรรย์วัย 14 ปีที่คว้าเหรียญทองได้ด้วยผลงานสุดเหลือเชื่อ
การออกมายอมรับถึงความอ่อนแอในจิตใจของ ซิโมน ไบลส์ ที่ทำให้ทุกคนได้ตระหนักว่านักกีฬาถึงจะดูเข้มแข็งแค่ไหนก็เจ็บได้ ร้องไห้เป็น
และการแบ่งปันความสำเร็จของ จานมาร์โก ทัมเบรี และ มูตาซ เอสซา บาร์ชิม สองนักกระโดดสูงที่ตกลงจะแชร์เหรียญทองด้วยกันเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่โอลิมปิกเมื่อปี 1912 ที่กลายเป็นโมเมนต์ที่น่าประทับใจที่สุดครั้งหนึ่ง
สำคัญที่สุดคือความพยายามในการต่อสู้แข่งขัน และการแสดงน้ำใจให้แก่กันที่เราได้เห็นนั้นคือเมล็ดพันธุ์ของความหวังที่ถูกปลูกในใจของผู้คนทั่วโลก
แรงบันดาลใจมากมายถูกเติมให้กลับมาเต็มหัวใจอีกครั้งหลังจากที่เราอยู่กับช่วงเวลาที่มืดมนอนธการมาเนิ่นนาน
เหมือนดังเปลวเพลิงโอลิมปิกได้ถูกจุดขึ้นในหัวใจของพวกเราทุกคนด้วย ไม่ใช่แค่บนกระถางคบเพลิงในสนาม
เช่นนั้นก็อาจจะกล่าวได้ว่ากีฬาโอลิมปิกครั้งนี้ได้ทำหน้าที่ของมันอย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่จะทำได้แล้ว
มันอาจจะไม่สวยงามเหมือนอย่างภาพความฝัน แต่มันก็งดงามที่สุดในโลกของความจริง
แน่นอนครับว่าสิ่งดีๆ เหล่านี้จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้หากปราศจากความทุ่มเทของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเหล่านักกีฬา โค้ช ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ อาสาสมัคร และคนที่แบกรับความกดดันมากที่สุดอย่าง IOC และฝ่ายจัดการแข่งขันโตเกียว 2020
วันนี้จึงอยากบอกพวกเขาเหล่านี้ว่า
おつかれさまです ขอขอบคุณในความเหนื่อยยาก
ありがとう ขอบคุณ
また会いましょう แล้วพบกันใหม่
…ในอีก 3 ปีข้างหน้าที่ ปารีส 2024 นะ 🙂