นับตั้งแต่การแข่งขันโอลิมปิกสมัยใหม่ในปี 1912 เป็นต้นมาที่ สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของประเทศสวีเดน เจ้าภาพการแข่งขันโอลิมปิกเกือบทุกสมัยจะทำการออกแบบโปสเตอร์การแข่งขันที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ที่ไม่เพียงนำเสนอเอกลักษณ์ของประเทศเจ้าภาพในแต่ละปี แต่ยังเป็นการนำเสนอศิลปะการออกแบบในแต่ละยุคสมัยด้วย
เนื่องในโอกาสของปีแห่งการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น THE STANDARD จะขอพาทุกท่านไปย้อนอดีตชมการออกแบบโปสเตอร์การแข่งขันที่มีเสน่ห์ ทั้งในรูปแบบการนำเสนอและศิลปะการออกแบบในแต่ละยุคสมัย เพื่อเชื่อมโยงประวัติศาสตร์ของการออกแบบผ่านมหกรรมกีฬาที่ใหญ่ที่สุดในโลกตลอดมา
1. สตอกโฮล์ม 1912: ครั้งแรกของโปสเตอร์โอลิมปิก
โปสเตอร์การแข่งขันโอลิมปิกในปี 1912 ที่สตอกโฮล์ม เมืองหลวงของสวีเดน นับเป็นโปสเตอร์แรกอย่างเป็นทางการของโอลิมปิกที่ใช้ในการโปรโมตการแข่งขัน
โดยการออกแบบในปีนั้นจัดทำขึ้นโดย Olle Hjortzberg ศิลปินผู้ที่ฟื้นฟูจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์ของสวีเดน ซึ่งเขาได้นำเอาเทคนิคการวาดของจิตรกรรมฝาผนังภายในโบสถ์มาใช้ในการออกแบบโปสเตอร์
Olle Hjortzberg ได้ออกแบบโปสเตอร์เป็นนักกีฬาจากแต่ละประเทศโบกสะบัดธงชาติของพวกเขาเพื่อเป้าหมายเดียวกันคือการเข้าร่วมแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ โดยโปสเตอร์ได้รับการพรินต์โดยบริษัท A. Bortzell ทั้งหมด 16 ภาษาในหลากหลายสี
2. ลอสแอนเจลิส 1932: การใช้สัญลักษณ์ห่วงโอลิมปิกในโปสเตอร์ครั้งแรก
โปสเตอร์การแข่งขันโอลิมปิกที่ลอสแอนเจลิสเป็นเจ้าภาพเมื่อปี 1932 นับเป็นครั้งแรกที่โปสเตอร์การแข่งขันนำเอาสัญลักษณ์ห้าห่วงของโอลิมปิกมาอยู่ในการออกแบบครั้งแรก
โดยโปสเตอร์ปีนี้ได้รับการออกแบบโดย Julio Kilenyi ซึ่งเป็นศิลปินที่มีความเชี่ยวชาญด้านการปั้นรูปปั้นดินเผา ซึ่งตอนแรกเขาได้ใช้ทักษะนี้ปั้นโปสเตอร์การแข่งขันขึ้นมา ถ่ายเป็นภาพ ผ่านการลงสี และใช้เทคนิค lithograph ก่อนจะเข้าสู่ขั้นตอนการพิมพ์ ส่งผลให้โปสเตอร์การแข่งขันปีนี้เป็นลักษณะเหมือนสามมิติ
3. โตเกียว 1964: โอลิมปิกแห่งการออกแบบ ที่ศิลปินเกือบส่งงานไม่ทัน
โอลิมปิกฤดูร้อนปี 1964 นอกจากจะเป็นโอลิมปิกครั้งแรกที่จัดขึ้นในทวีปเอเชียแล้ว โตเกียวในฐานะเจ้าภาพครั้งนี้ยังได้รับการยกย่องในฐานะโอลิมปิกแห่งการออกแบบ ด้วยการผสมผสานระหว่างรูปพระอาทิตย์ขึ้น (Rising Sun) สีแดง ซึ่งเป็นสัญลักษณ์บนธงชาติมาใช้ในการทำโปสเตอร์ พร้อมกับห่วงโอลิมปิกที่เปลี่ยนเป็นสีทองทั้งหมด จนกลายเป็นโปสเตอร์ที่เรียบง่ายแต่เต็มไปด้วยความหมายที่สื่อถึงตัวตนของเจ้าภาพของการแข่งขันในปีนั้น
โปสเตอร์นี้ได้รับการออกแบบโดย Yusaku Kamekura กราฟิกดีไซเนอร์ที่ยอมรับว่า เขาเกือบจะลืมเดดไลน์ที่ต้องส่งงานเข้าประกวดในตอนแรก จนทำให้เขาเหลือเวลาทำเพียงแค่ 2 ชั่วโมงในการออกแบบโปสเตอร์ที่คว้าชัยชนะในการประกวดโปสเตอร์โอลิมปิกปี 1964 ที่ญี่ปุ่น
โปสเตอร์การแข่งขันอีกหนึ่งรูปแบบที่โตเกียว 1964 ยังเป็นครั้งแรกที่โปสเตอร์การแข่งขันนำเอาภาพนักกีฬาขึ้นมาโปรโมตเกมเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์อีกด้วย
นอกจากนี้โอลิมปิกครั้งนี้ยังได้รับการยกย่องให้เป็นโอลิมปิกที่ดีที่สุดที่เคยมีมาจาก Life Magazine ด้วยความพร้อมของเจ้าภาพที่ใส่ใจทุกรายละเอียดของการแข่งขัน ตั้งแต่การออกแบบโปสเตอร์ไปจนถึงการใช้ Pictogram แทนการสื่อสารเพื่อทำลายกำแพงภาษาระหว่างผู้คนจากทั่วโลกที่เดินทางมาร่วมการแข่งขันโอลิมปิกในปีนี้
4. เม็กซิโก 1968: โปสเตอร์ที่ได้แรงบันดาลใจจากพิพิธภัณฑ์
โอลิมปิกปี 1968 นับเป็นครั้งแรกที่โอลิมปิกมาจัดในลาตินอเมริกาที่เม็กซิโก ซิตี้ เมืองหลวงของเม็กซิโก โดยโปสเตอร์โอลิมปิกปีนี้นับเป็นหนึ่งในโปสเตอร์ที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน ออกแบบโดย Lance Wyman นักออกแบบจากนิวยอร์ก ที่ซื้อตั๋วเที่ยวเดียวจากสหรัฐฯ มาเพื่อเป้าหมายที่จะเป็นผู้ออกแบบโอลิมปิกที่เม็กซิโก
หลังลงจากเครื่องบิน Lance Wyman ตรงดิ่งสู่พิพิธภัณฑ์เพื่อศึกษาเกี่ยวกับศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น ก่อนที่จะเริ่มออกแบบโลโก้สำหรับการแข่งขัน ซึ่งเขาได้เล่าถึงเบื้องหลังการออกแบบว่า
“ตอนนั้นไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือซอฟต์แวร์กราฟิกดีไซน์ ดังนั้นการออกแบบวงกลมที่แม่นยำต้องใช้วงเวียน
“ผมยังมีวงเวียนและรูปต้นแบบที่ผสมผสานกันระหว่างห่วงโอลิมปิกห้าห่วงและเลขท้ายของปี 1968 โลโก้ของปีนั้นได้นำเอาทั้งสองสิ่งมารวมเข้าด้วยกัน
“วงเวียนเป็นอุปกรณ์ที่ผมใช้ในการทดลองความเป็นไปได้ของการออกแบบเรขาคณิต ก่อนจะค้นพบว่าผมสามารถนำเอาห่วงโอลิมปิกและเลข 68 ปีของการแข่งขันมาผสมเข้าด้วยกัน และมีความรู้สึกตื่นเต้น เพราะแบบที่ออกมาเป็นลักษณะที่คล้ายกับศิลปะในอดีตที่ชื่นชอบในพิพิธภัณฑ์มานุษยวิทยา ดูมีความเป็นเม็กซิกันมาก”
ด้วยการออกแบบโลโก้ Mexico68 ของเขา ส่งผลให้เกิดการออกแบบธีมของการแข่งขันโอลิมปิกที่เป็นไปในทิศทางเดียวกันหมด ตั้งแต่การออกแบบโลโก้ โปสเตอร์ ชุดเจ้าหน้าที่ จนถึง Pictogram ในปีนั้น ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะด้วยการนำเอาอุปกรณ์กีฬาหรืออวัยวะของร่างกายมาเป็นสัญลักษณ์สื่อแทนชนิดกีฬาแต่ละประเภท
บวกกับการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อนที่เม็กซิโกยังเป็นปีแรกที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันผ่านโทรทัศน์จอสีเป็นครั้งแรก ซึ่งการออกแบบของฝ่ายจัดการแข่งขันที่นำเสนอสีสันที่เป็นเอกลักษณ์ของเม็กซิโก ถูกถ่ายทอดสดสีสันที่สวยงามผ่านโทรทัศน์ไปยังทั่วทุกมุมโลก
5. ลอสแอนเจลิส 1984: Star in Motion
เมื่อปี 1979 5 ปีก่อนการแข่งขัน ทาง LAOOC หรือฝ่ายจัดการแข่งขันได้ขอให้บริษัทออกแบบทั้งหมด 34 บริษัทในสหรัฐฯ ทำแบบแผนการออกแบบสัญลักษณ์การแข่งขันเสนอสำหรับการแข่งขันโอลิมปิก
ก่อนที่จะตัดสินใจใช้บริษัทภายในลอสแอนเจลิส ซึ่งเมื่อเดือนธันวาคม 1979 พวกเขาได้สตูดิโอออกแบบ 3 แห่งสุดท้ายที่เป็นตัวเลือกสำหรับการแข่งขัน
LAOOC ได้ออกข้อกำหนดไว้ 2 ข้อสำหรับการออกแบบสัญลักษณ์การแข่งขัน ประกอบด้วย 1. โลโก้ต้องสอดคล้องกับสัญลักษณ์โอลิมปิกห้าห่วง และ 2. โลโก้ต้องเป็นการออกแบบที่เป็นอิสระจากรูปร่างกราฟิกอื่นๆ
จนสุดท้ายฝ่ายจัดการแข่งขันได้เลือกแบบของ Robert Miles Runyan & Associates เป็นโลโก้ที่สามารถสื่อสารทั้งความเป็นสหรัฐฯ ที่มีดาวบนธงชาติ และ ความเป็นสากลของดาวที่สื่อถึงความต้องการสูงสุดของทุกคนที่ต้องการจะไปให้ถึงดวงดาวในภาพเดียวกัน
ด้วยการใช้สีแดง ขาว น้ำเงินในโลโก้ บนสัญลักษณ์ดาวสามดวงที่กำลังเคลื่อนที่ไปด้านขวาด้วยลายเส้นทั้งหมด 13 เส้น ที่สื่อสารถึงนักกีฬาที่เคลื่อนตัวไปด้านหน้าระหว่างการแข่งขัน โดยพวกเขาได้ตั้งชื่อโลโก้นี้ว่า Star in Motion
นอกเหนือจากการออกแบบโลโก้ที่ช่วยสร้างเอกลักษณ์ด้านการสื่อสารและโปรโมตการแข่งขันแล้ว ทาง LAOOC ยังได้ร่วมกับบริษัทออกแบบต่างๆ คิดค้นวิธีการสร้างธีมและสีทางการให้กับการแข่งขัน
โดยเลือกที่จะออกนอกกรอบของสีแดง ขาว น้ำเงินจากโลโก้ มาใช้สีพาสเทลเป็นสีของการออกแบบธีมต่างๆ โดยมีเป้าหมายให้ลอสแอนเจลิสเป็นมหานครที่สดใหม่ เต็มไปด้วยสีสันทั่วทุกมุมระหว่างการแข่งขันโอลิมปิกปี 1984
ปี 1983 โปสเตอร์การแข่งขันทางการจึงได้ดำเนินการจัดทำขึ้น โดย 16 ศิลปินนักออกแบบได้ร่วมกันออกแบบโปสเตอร์ต่างๆ ด้วยเทคนิค Photorealism ที่ศิลปินจะใช้วิธีการศึกษาภาพถ่ายมาวาดเป็นภาพของตัวเองให้ดูใกล้เคียงกับความจริงมากยิ่งขึ้น
จนสุดท้ายผลงานการออกแบบโปสเตอร์ของ Robert Rauschenberg ได้รับเลือกให้เป็นโปสเตอร์การแข่งขันอย่างเป็นทางการโดยคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC
ภาพประกอบ: กรินวสุรัฐกร