×

“พระองค์ท่านไม่ได้เกี่ยวข้อง” คณะกรรมการโอลิมปิคฯ แจงข้อเท็จจริงชุดโอลิมปิกเกมส์

โดย THE STANDARD TEAM
19.07.2024
  • LOADING...

วันนี้ (19 กรกฎาคม) พล.อ. วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แถลงข่าวกรณีกระแสวิพากษ์วิจารณ์นักกีฬาสวมชุดพระราชทานสำหรับงานโอลิมปิกเกมส์ ปารีส 2024 ว่า เรื่องนี้เกิดความเข้าใจผิดในวงกว้าง ตนในฐานะตัวแทนคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ต้องขอขอบคุณทุกความคิดเห็น และน้อมรับฟัง เพราะประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ที่จะออกความเห็นร่วมกันอย่างเท่าเทียมภายใต้ความสุภาพและเคารพกันในฐานะคนไทยด้วยกัน และต้องขออภัยสำหรับความเข้าใจผิดและข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นจากทีมงาน ไม่ว่าจะในส่วนไหน เนื่องด้วยที่ผ่านมาทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ไม่ได้ชี้แจงให้ชัดเจนว่าชุดไหนใช้สำหรับงานช่วงใด

 

คณะกรรมการโอลิมปิคฯ และทีมงาน มีความตั้งใจในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรม ร่วมขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยผ่านวัฒนธรรมผ้าและสิ่งทอไทย จึงได้มอบหมายให้ทีมออกแบบของแต่ละแบรนด์ทำมาเสนอ ซึ่งจะมีในส่วนของชุดกีฬา แจ็กเก็ต ชุดพระราชทาน รองเท้า กระเป๋า และอุปกรณ์ต่างๆ ซึ่งทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯ เป็นผู้คัดเลือกผู้ออกแบบตัดเย็บเองภายใต้ชื่อแบรนด์ ทรงสมัย ทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ดำเนินการคัดเลือกผ้าเอง ไม่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานใด

 

พล.อ. วิชญ์ กล่าวว่า การออกแบบตัดเย็บเป็นดุลยพินิจของคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ทั้งหมด ไม่มีหน่วยงานใดเกี่ยวข้อง จากเหตุการณ์ทั้งหมด ทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ขอรับผิดชอบไว้แต่เพียงผู้เดียว

 

ในส่วนของชุดพระราชทานสีฟ้านั้น ทางคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ได้กำหนดให้นักกีฬาใช้สวมใส่ในงานพิธีที่เป็นทางการ แต่จากการตัดเย็บที่เร่งรีบเพื่อให้นักกีฬาได้ใช้ทัน อาจส่งผลให้เกิดข้อผิดพลาดไปจากแบบเล็กน้อย จึงได้แจ้งให้เร่งแก้ไขให้นักกีฬาได้ใช้ในงานพิธีการแล้ว

 

พล.อ. วิชญ์ กล่าวว่า ส่วนชุดที่จะใช้ในพิธีเปิดจะเป็นเสื้อแจ็กเก็ตสีน้ำเงินจากแกรนด์สปอร์ต ซึ่งการประชุมคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ตนเองได้ย้ำคอนเซปต์กับทีมผู้ออกแบบและตัดเย็บว่าขอให้เป็นผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด เข้ากับสภาพอากาศ แต่ต้องแฝงด้วยเรื่องราวอัตลักษณ์ความเป็นไทย  ทันสมัย และเป็นสากล ซึ่งมองว่าทางแกรนด์สปอร์ตทำออกมาได้ดี โดยในตอนแรกตนคิดอยากนำเสื้อลายช้างที่เป็นที่รู้จักและนิยมในกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติมาให้ทัพนักกีฬาสวมใส่ขึ้นเรือ เพราะเห็นว่าเนื้อผ้าใส่สบาย มีความพลิ้วไหว แต่ก็กังวลว่าจะเกิดความไม่เหมาะสม ดูสบายๆ ไป จึงได้คิดใหม่ทำใหม่อย่างระมัดระวัง

 

“ในโซเชียลที่เราเห็นกันอยู่ ผมคงไม่ต้องออกชื่อ ในโซเชียลได้กล่าวถึงพระองค์ท่าน พระองค์ท่านไม่ได้เกี่ยวข้องกับการออกแบบอะไรทั้งสิ้น ไม่มีอะไรทั้งสิ้นที่เกี่ยวข้องกับโอลิมปิกเกมส์ด้วย และพระองค์ท่านไม่ได้เป็นประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์อย่างที่ทางโซเชียลได้กล่าวไว้ ตรงนี้เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมคิดว่าในโซเชียล เรื่องของข้อเท็จจริง ควรจะสอบถามให้ถูกต้องก่อน เพราะจะเกิดความเสียหายกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด

 

“ท่านทรงเป็นนักกีฬา และรับใช้ประเทศมาตลอด 20 ปีที่ท่านทรงเป็นนักกีฬา ด้วยพระปรีชาสามารถ อย่างเช่นนักกีฬาตัวแทนคนหนึ่งเท่านั้น นี่เป็นสิ่งหนึ่งที่ผมอยากชี้แจงให้พวกท่านทราบว่าไม่ได้เกี่ยวข้องกับคนใดคนหนึ่งเลย ตรงนี้ขอให้ผู้สื่อข่าวช่วยไปลงข้อเท็จจริง เรื่องจริง ให้กับประชาชนได้รับทราบ”

 

พล.อ. วิชญ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาเรามองว่าการออกแบบที่ไปแข่งขันในระดับนานาชาติ ตั้งแต่ซีเกมส์ เอเชียนเกมส์ และโอลิมปิกเกมส์ ก็ใช้สูทธรรมดาสากลทั่วไป แต่ปีนี้เรามองว่าควรมีอัตลักษณ์ของคนไทย วัฒนธรรมไทย ไม่ใช่ใส่สูทสากลเหมือนที่ประเทศอื่นเขาทำ บางประเทศก็ใส่ชุดพื้นเมืองซึ่งมีอยู่จำนวนมาก เรื่องนี้ต่างคนก็มองต่างมุม ตนยอมรับว่าบางครั้งอาจมองภาพที่สวยหรูเกินไปหรืออาจมองในภาพที่ผิดเกินไป ก็ขอรับผิดชอบในสิ่งนี้ด้วย สิ่งที่เราพยายามทำทุกอย่างทำเพื่อชื่อเสียงประเทศเท่านั้น ไม่มีอะไรแอบแฝงอยู่ในโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้เลย สิ่งที่เราทำอยู่ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนทั้งสิ้น มีแต่เพียงสนับสนุนในเรื่องของกีฬา ที่จะแสดงออกของประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศที่เขามองว่าไม่มีความสามารถอะไรเลยสักอย่าง ไทยเป็นหนึ่งประเทศในโลกที่สามารถทำอะไรก็ได้ แข่งขันกับใครก็ได้ และปีนี้เรามีนักกีฬาที่ผ่านการคัดเลือกไปแข่งโอลิมปิกเกมส์ถึง 51 คน 14 ชนิดกีฬา อยากให้ทุกคนร่วมส่งกำลังใจให้กำลังใจนักกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ดีกว่าจะมากล่าวถึงปัญหาในลักษณะนี้

 

ขณะที่ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ วรรธนะสิน รองประธานกรรมการคณะกรรมการโอลิมปิคฯ กล่าวว่า ในฐานะอดีตนักกีฬาทีมชาติตั้งแต่ปี 2544 รวมแล้ว 23 ปีที่ทำงานทุ่มเทให้กับวงการกีฬา โดยที่ผ่านมามีการปรึกษาร่วมกับบริษัท แกรนด์สปอร์ต ทั้งการประกวดออกแบบชุด ซึ่งแต่ไหนแต่ไรก็เป็นที่อิจฉาของนักกีฬาต่างชาติ นักกีฬาต่างชาติก็มาสั่งซื้อ ซึ่งเป็นความจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ อย่างชุดลวดลายเครื่องปั้นดินเผาบ้านเชียงที่ตนใส่วันนี้ ออกแบบโดยบริษัท แกรนด์สปอร์ต ร่วมกับ 4 หน่วยงานของจังหวัดอุดรธานี เพราะฉะนั้นการไปแข่งกีฬาโอลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ ชุดนี้ไม่ว่าจะอยู่ในแม่น้ำแซน ก็ถือเป็นเสน่ห์ของประเทศไทยที่จะได้รับการยอมรับ จึงขอให้สบายใจได้ ยืนยันจะไม่ทำให้เสียหาย และจะเป็นการขับเคลื่อนซอฟต์พาวเวอร์ของไทยด้วย

 

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ ยังระบุว่า ไม่ว่าสมัยไหนนักกีฬาไทยจะสวมเสื้อเบลเซอร์ และมี 1-2 ครั้งที่สวมชุดพระราชทาน ส่วนเสื้อเบลเซอร์ที่จะใส่ในครั้งนี้ก็จะอยู่ที่กาลเทศะ ซึ่งเดิมจะใส่ แต่พอมีผู้แสดงความคิดเห็นว่าเสื้อเบลเซอร์ไม่เหมาะสม ก็ให้หัวหน้าคณะนักกีฬาเป็นผู้ตัดสิน ส่วนเสื้อแจ็กเก็ตที่ตนใส่อยู่นั้น เมื่อเปรียบเทียบกับชุดของต่างประเทศอย่างมองโกเลีย เกาหลีใต้ เฮติ ที่มีการชมนักชมหนา เหมือนงิ้วกับลิเก พร้อมย้อนถามว่า จะนำชุดลิเกเข้าไปในกรุงปารีสหรือ จากนั้นศาสตราจารย์ (พิเศษ) เจริญ ได้แก้ต่างคำพูดอีกครั้งว่า แต่ละชาติมีวัฒนธรรมของเขา เราไม่มีสิทธิ์ไปว่าเขา

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า เดิมทีคณะกรรมการโอลิมปิคฯ ตั้งใจจะใช้ชุดไหนในพิธีเปิดการแข่งขัน และการเปลี่ยนมาใช้ชุดของแกรนด์สปอร์ตเนื่องจากกระแสไม่ดีใช่หรือไม่ พล.อ. วิชญ์ กล่าวว่า เดิมทีตนยังไม่ได้บอกว่าจะใช้ชุดไหน ซึ่งเมื่อคืนนี้ตนได้พูดคุยกับ ธนา ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าคณะนักกีฬาไทย ก็ได้ข้อมูลว่าการลงเรือให้ดูความเหมาะสมว่าจะใส่ชุดใด โดยให้ธนาเป็นผู้พิจารณา รวมไปถึงชุดที่จะสวมใส่ในพิธีปิดเช่นกัน ส่วนพิธีการที่ประเทศต่างๆ จัดขึ้นในการแข่งขัน งานเหล่านี้เป็นงานทางการ เราจึงต้องมีชุดทางการเพื่อความเหมาะสม ดูดี ไม่ใช่จะใส่อะไรก็ได้ จึงต้องมีชุดทางการและชุดลำลอง อีกทั้งธนาไม่ได้เพิ่งเป็นหัวหน้าคณะนักกีฬาไทย แต่ทำงานมาตลอด 20 ปี รู้อยู่แล้วว่าความเหมาะสมอยู่ตรงไหน

 

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ได้ข้อสรุปหรือไม่ใน 3 ชุดนี้ พล.อ. วิชญ์ กล่าวว่า ภาพที่ขึ้นอยู่บนจอคือชุดที่ธนาเลือกมา โดยเป็นแจ็กเก็ตของแกรนด์สปอร์ต ส่วนเรื่องชุดพระราชทานที่ถูกวิจารณ์เรื่องการตัดเย็บ เนื่องจากนักกีฬาบางคนไปวัดตัวตั้งแต่ตัดสูทแล้วไม่ได้ไปวัดตัวใหม่อีก แต่ชุดพระราชทานต้องใส่แบบรัดรูป ดังนั้นภาพที่ถ่ายออกมาจึงดูไม่ดี แต่ก็ไม่ใช่เสื้อผ้าที่ไม่มีอัตลักษณ์ของไทย

 


 

ติดตามการแข่งขัน โอลิมปิก ปารีส 2024 – Paris 2024 Olympic Games ได้ที่

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising