×

Gen Z เด็กมีปัญหา? ในคำบอกเล่าของ โอเล กุนนาร์​​ โซลชาร์

07.03.2024
  • LOADING...
โอเล กุนนาร์​​ โซลชาร์

เพราะไม่พูด ไม่ได้แปลว่าไม่รู้สึก

 

ตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีที่ผ่านมา โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ พยายามเก็บตัวเงียบๆ หลังพ้นจากตำแหน่งผู้จัดการทีมแมนเชสเตอร์​ ยูไนเต็ด เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 โดยไม่เคยออกมาวิพากษ์วิจารณ์สโมสรในแง่เสียหายแม้แต่น้อย

 

แต่ล่าสุดโซลชาร์ตอบรับที่จะมาเป็นแขกรับเชิญของรายการฟุตบอลที่ได้รับความนิยมบนโลกออนไลน์อย่าง Stick to Football ที่ดำเนินรายการโดย แกรี เนวิลล์, รอย คีน, เจมี คาร์ราเกอร์ และ เอียน ไรต์ ทางแชนแนลของ Sky Sports

 

ในหลายเรื่องที่มีการพูดคุยกัน หนึ่งในประเด็นเล็กๆ ที่น่าสนใจคือการรับมือกับนักฟุตบอล ‘Gen Z’ ที่สำหรับโซลชาร์แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายเลย

 

มันเกิดอะไรขึ้น?

 

ถึงแม้ช่วงเวลาการทำงานของ โอเล กุนนาร์ โซลชาร์ ในฐานะนายใหญ่แห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดจะจบลงด้วยความผิดหวัง แต่ตำนาน ‘Ole’s at the Wheel’ หรือ ‘ปลุกผีต้องใช้ผี’ ก็มีช่วงวันเวลาและความทรงจำที่ดีอยู่บ้าง

 

อดีตกองหน้าซูเปอร์ซับระดับตำนาน ตัดสินใจตอบรับงานคุมทีมเป็นการชั่วคราวในช่วงเดือนธันวาคม 2018 ภายหลังจากที่แมนฯ ยูไนเต็ดตัดสินใจปลด โชเซ มูรินโญ พ้นจากตำแหน่ง

 

ในช่วงเวลานั้นแมนฯ ยูไนเต็ดเป็นทีมที่ดำดิ่งไปในความเศร้า ผลงานของพวกเขาเลวร้าย บรรยากาศภายในทีมเลวร้ายยิ่งกว่าผลงานอีก แต่การมาของคนที่เต็มไปด้วยรอยยิ้มและพลังบวกอย่างโซลชาร์ช่วยเปลี่ยนแปลงทำให้ทีมกลับมาเล่นฟุตบอลในแบบที่ชวนให้คิดถึง ‘United Way’ หรือแนวทางการเล่นในแบบแมนฯ ยูไนเต็ด เหมือนในยุคของ เซอร์อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน

 

 

หนึ่งในวันดีๆ คือการบุกไปสอยปารีส แซงต์ แชร์กแมง ในรายการยูฟ่าแชมเปียนส์ลีก ที่ทำให้มีเสียงเรียกร้องว่าโซลชาร์นี่แหละคือคนที่ใช่ที่สุดสำหรับการพาทีมกลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้ง

 

บอร์ดบริหารที่นำโดย เอ็ด วูดเวิร์ด เห็นด้วย และตัดสินใจมอบตำแหน่งผู้จัดการทีมถาวรให้แก่โซลชาร์ โดยไม่รอให้หมดสัญญาในช่วงสิ้นสุดฤดูกาลที่สโมสรจะมีโอกาสในการทบทวนและเลือกผู้จัดการทีมคนใหม่รายอื่นๆ ด้วย

 

แต่ผลงานของกุนซือชาวนอร์เวย์ก็ไม่ได้ขี้ริ้วขี้เหร่อะไรนัก เมื่อทำทีมจบด้วยการเป็นอันดับ 3 และอันดับ 2 ในช่วง 2 ฤดูกาลที่ได้โอกาสทำงานแบบเต็มตัว โดยที่ยูไนเต็ดมีพัฒนาการทางการเล่นขึ้นมาบ้าง และมีลายเซ็นเรื่องของฟุตบอลโต้กลับที่ใช้ได้เลย

 

เพียงแต่เมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างแมนเชสเตอร์ ซิตี้ หรือลิเวอร์พูล ก็ยังห่างไกล

 

และจุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดคือการตัดสินใจดึง คริสเตียโน โรนัลโด กลับมา ที่นอกจากจะต้องปรับเปลี่ยนทีมเพื่อซูเปอร์สตาร์ที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของจุดจบ โซลชาร์ยังต้องต่อสู้กับดาวเตะที่เคยเป็นเพื่อนร่วมทีมกันมาก่อนด้วย

 

“คริสเตียโนไม่เหมือนกับ อองโตนี มาร์กซิยาล ที่ยืนแดนหน้า หรือในเกมที่เราอาจจะใช้เมสัน (กรีนวูด) หรือมาร์คัส (แรชฟอร์ด) ข้างหน้า แต่คนที่เจ็บปวดที่สุดในการมาของคริสเตียโนคือ เอดินสัน คาวานี เพราะเราทำให้เอดินสันเข้าใจถึงวิธีการเล่นแล้ว

 

“เวลาที่ได้บอลแล้วมีโรนัลโดในทีมมันไม่ได้แตกต่างอะไร แต่เวลาที่ไม่มีบอล เราต้องเปลี่ยนบทบาทจากที่คุ้นเคย เราเคยเป็นทีมที่เพรสหนักที่สุดมาก่อน (ที่โรนัลโดจะกลับมา) แต่เรายอมปล่อย แดน เจมส์ ไปในตอนที่คริสเตียโนเข้ามา สองคนนี้แตกต่างกันมาก

 

“สำหรับผมมันเป็นการตัดสินใจที่เหมาะสมแล้ว เพียงแต่ผลที่ได้มันไม่ได้ออกมาดีอย่างที่หวัง”

 

 

อย่างไรก็ดี โรนัลโดไม่ได้เป็นปัญหาเดียวของโซลชาร์ เพราะปัญหาที่ใหญ่ไม่ได้น้อยหน้าไปกว่ากันคือเรื่องของจิตใจของผู้เล่นในทีม

 

เรื่องนี้เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันอยู่แล้ว แต่เมื่อได้ฟังจากคนที่อยู่ตรงนั้นจริงๆ อย่างโซลชาร์ก็แอบน่าตกใจมากขึ้นไปอีก โดยเฉพาะในกลุ่มนักเตะ Gen Z ซึ่งเขายอมรับว่า ‘ผิดหวัง’

 

โซลชาร์ไม่ได้เจาะจงว่านักเตะ Gen Z ที่ว่าคือคนไหนบ้าง แต่บอกถึงรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ว่านักเตะในกลุ่มนี้มีจิตใจที่เปราะบาง ทนรับเสียงวิจารณ์แทบไม่ได้ และไม่ยอมที่จะรับตำแหน่งกัปตันทีมต่อให้เป็นแค่การสวมปลอกแขนชั่วคราวเท่านั้น

 

ที่น่าผิดหวังคือนักเตะเหล่านี้ไม่กล้าที่จะมาบอกด้วยตัวเอง แต่ต้องฝากคนอื่นมาบอก

 

“พวกเขาไม่อยากบอกด้วยตัวเอง พวกเขาต้องฝากคนอื่นมาบอก

 

“มันเป็นเรื่องที่น่าผิดหวัง มันเป็นเรื่องของนักฟุตบอลคนละยุคสมัย พวกเขาใจเล็กและแสดงให้เห็นว่าขาดความทะเยอทะยาน”

 

หรือแม้แต่เรื่องง่ายๆ อย่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อก่อนเกม ซึ่งจะเป็นแค่การถามสั้นๆ 3 คำถาม ก็ไม่กล้า

 

“นักเตะหลายคนไม่ยอมให้สัมภาษณ์ 3 คำถามสั้นๆ ก่อนเกม มีแค่บรูโน (แฟร์นันด์ส), แฮร์รี (แม็กไกวร์), วิคเตอร์ (ลินเดอเลิฟ), ดาบิด (เด เคอา) และ ลุค ชอว์ ที่ยอมให้สัมภาษณ์ คนอื่นๆ ไม่ยอม เพราะกังวลกับคำถาม พวกเขาก็เลยพยายามจะไม่ไปให้สัมภาษณ์”

 

ในสายตาของโซลชาร์ นักเตะรุ่นใหม่นั้นหวาดกลัวต่อปฏิกิริยาตอบรับที่อาจจะเกิดขึ้น เพียงแต่ก็ต้องเข้าใจเรื่องของปัญหาสภาพจิตใจ ซึ่ง Gen Z จะมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ โดยเฉพาะต่อเสียงวิจารณ์บนโซเชียลมีเดียที่ต่อให้ไม่ได้พบเจอเองก็จะมีคนเอามาบอกต่ออยู่ดีไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคนในครอบครัว

 

และเมื่อได้รับรู้แล้ว คนรุ่นใหม่จะคิดมากยิ่งกว่าที่ใครหลายคนคิด

 

ในความเป็นจริงแล้วปัญหาเรื่องการทำงานของคนกลุ่ม Gen Z ในองค์กรนั้นเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก เพราะคนรุ่นนี้เกิด เติบโต และใช้ชีวิตแตกต่างจากคนรุ่น Gen​Y หรือคนรุ่นก่อนหน้ามาก

 

พวกเขา (Not All) มีลักษณะนิสัยใจร้อน เป็นคน Self Center หรือมองตัวเองเป็นศูนย์กลาง กล้าแสดงออก กล้าตั้งคำถามแม้กระทั่งกับคนที่อายุมากกว่า อาวุโสกว่า

 

ดังนั้นการทำงานร่วมกับคน Gen Z จึงต้องมีวิธีที่แตกต่างจากคนรุ่นก่อนๆ เช่น ต้องเปิดโอกาสให้แสดงออก หรือให้ ‘ปล่อยของ’ ให้สะใจก่อน เพื่อให้รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน หรือการสร้าง Shortcut ไม่ต้องพิธีรีตองอะไรให้มากมาย

 

แต่นั่นเป็นชีวิตการทำงานปกติ การทำงานในสโมสรฟุตบอลมีองค์ประกอบแวดล้อมและปัจจัยที่แตกต่างกับองค์กรทั่วไปมาก โดยเฉพาะในเรื่องของวัฒนธรรมองค์กรที่จะมีขนบธรรมเนียม ประเพณี ระบบอาวุโส ความเป็นองค์กรชายแท้ (Macho) และอื่นๆ อีกมากมาย

 

 

ในการเปิดใจของโซลชาร์ผ่านรายการนั้นแสดงให้เห็นว่าในโลกฟุตบอล ปัญหาช่องว่างระหว่างวัย (Generation Gap) มีขนาดใหญ่และมีผลกระทบมากกว่าที่คิดไว้ ซึ่งปัญหานั้นไม่ได้เกิดแต่กับคน Gen Z เพราะคน Gen ก่อนๆ เองก็อาจจะเป็นปัญหาด้วยเช่นกัน

 

ไม่แปลกที่ผู้จัดการทีมที่เคยเป็นเบอร์หนึ่งอย่าง ‘The Special One’ โชเซ มูรินโญ มีปัญหาในการทำงานในช่วงหลายปีหลัง ซึ่งอาจไม่ใช่เรื่องของแท็กติกวิธีการเล่นอย่างเดียว แต่อาจรวมถึงการ ‘ซื้อใจ’ ลูกทีมที่เคยเป็นหนึ่งใน Secret Ingredient ที่ทำให้เขาไปอยู่ทีมไหนก็กวาดแชมป์ได้หมด แต่ยุคหลังมูรินโญล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ

 

เพราะวิธีที่เคยใช้ได้ผลในอดีต กำลังใช้ไม่ได้ผลในปัจจุบัน

 

เรื่องนี้สะท้อนว่าโลกฟุตบอลเองก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนวิธีการดูแลและรับมือกับนักฟุตบอลสมัยใหม่ จะมาโรงเรียนลูกผู้ชาย มีระบบอาวุโส ซ้ายหันขวาหันอย่างเดียวไม่ได้ แต่ในเวลาเดียวกันก็ต้องมีกรอบมาครอบไว้ไม่ให้มีอิสระมากเกินจนวุ่นวาย

 

โลกเปลี่ยน คนเปลี่ยน วิธีคิดก็ต้องเปลี่ยน

 

เชื่อเถอะว่าถึง Gen Z จะแตกต่าง แต่อย่างหนึ่งที่พวกเขาเองก็ต้องการและสมควรได้รับเหมือนทุก Gen คือความรัก ความเข้าใจ และความเคารพซึ่งกันและกัน

 

ถ้าพิชิตใจพวกเขาได้ สิ่งตอบแทนที่จะได้กลับมาคือการได้เห็นพลังของเด็ก Gen Z ที่อาจจะมีดีกว่าที่เราคิด

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising