×

เมื่อ ‘ของมันต้องมี’ และ ‘ไม่กลัวเป็นหนี้’ กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิด ‘หนี้เสีย’ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่

26.07.2022
  • LOADING...
หนี้เสีย

Gen Y เป็นกลุ่มคนที่เกิดระหว่างปี 2524-2543 เป็นกลุ่มคนที่เกิดและเติบโตในยุคสมัยของการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการใช้ชีวิตด้านต่างๆ ดังนั้นการที่เกิดและเติบโตภายใต้บริบทที่ค่อนข้างแตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่ทำให้ Gen Y มีลักษณะเด่นเฉพาะตัว

 

ไม่ว่าจะเป็นด้านการใช้ชีวิต Gen Y จะมีความคล่องตัวด้านเทคโนโลยี ชอบสังคม ในการทำงาน Gen Y จะมุ่งมั่นเพื่อให้ได้ตำแหน่งที่สูง แต่ก็แสวงหาความสมดุลระหว่างชีวิตและการทำงาน ด้านการใช้จ่ายมักจะเป็นพวกใช้เงินเก่ง แต่ฉลาดซื้อ ไม่ชอบใช้เงินสด ชอบความสะดวกรวดเร็ว และในด้านการบริหารการเงิน Gen Y มักจะชอบการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง

 

เป็นที่ทราบกันดีว่า Gen Y ว่าเป็นกลุ่มเป้าหมายของบริษัทบัตรเครดิตรวมถึงธนาคารต่างๆ เนื่องจากเป็นกลุ่ม First Jobber แม้ยังไม่ค่อยมีเงินออม แต่ยังไม่มีหนี้สิน และมีความต้องการสินค้าเทคโนโลยีสูง บริษัทเหล่านี้จึงดึงดูดมาให้เป็นผู้ถือบัตรครั้งแรก เพราะคาดหวังว่าเมื่อได้ถือบัตรเป็นบัตรแรกแล้วจะยังคงใช้ต่อไปและใช้เป็นบัตรหลัก

 

ข้อมูลของเครดิตบูโรพบว่า คนไทยที่อายุน้อยกว่า 25 ปีมักจะมีสินเชื่อส่วนบุคคลก่อน ตามมาด้วยการเริ่มมีบัตรเครดิตและสินเชื่อรถยนต์ เมื่อเข้าสู่วัยเริ่มทำงานคือ อายุ 25-35 ปี จะเริ่มมีสินเชื่อบ้าน ในขณะเดียวกันก็มีสินเชื่อชนิดอื่นๆ มากขึ้น และจะเริ่มมีสินเชื่อบุคคลเพื่อทำธุรกิจเมื่อมีอายุมาก

 

ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าสนใจคือการสำรวจกลุ่มคน Gen Y วัยทำงานในปี 2558 พบว่าคน GenY เป็นกลุ่มที่ใช้จ่ายเงินมาก และไม่กลัวการเป็นหนี้ นอกจากนี้ยังพบว่า จากกลุ่มตัวอย่าง 50% ยังไม่มีเงินออม 48% เคยมีการผ่อนชำระหนี้ไม่ตรงเวลา 45% รู้สึกว่ารายรับไม่เพียงพอกับรายจ่าย และ 45.6% มีความรู้สึกว่าการผ่อนชำระหนี้เป็นภาระที่หนัก

 

ด้วยความที่มีพฤติกรรม ‘ของมันต้องมี’ จึงไม่ต้องแปลกใจที่ข้อมูลของ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด หรือ เครดิตบูโร จะพบว่ากลุ่มที่มีการสร้างหนี้มากที่สุดคือ Gen Y โดย ณ สิ้นไตรมาสแรกปี 2563 มีหนี้รวมกันถึง 4 ล้านล้านบาท เป็น ‘หนี้เสีย’ คงค้างถึง 2.7 แสนล้านบาท

 

คนรุ่นใหม่อีกกลุ่มที่ต้องจับตาไม่แพ้กันคือ Gen Z ซึ่งเกิดช่วงปี 2539-2552 มีตัวเลขหนี้เสียระดับที่สูงพอควร และการก่อหนี้มีอัตราเร่งที่สูงมากในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา

 

ช่วงไตรมาสแรกปี 2563 หนี้ของ Gen Z มีอัตราการเติบโตของหนี้ค่อนข้างไว เฉลี่ยเดือนละ 7% นับตั้งแต่เดือนธันวาคม 2562 และเติบโตขึ้นกว่า 200% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน มาอยู่ที่ 2.89 แสนบัญชี ส่วนยอดหนี้รวมของคนกลุ่มนี้ ณ สิ้นไตรมาสแรกอยู่ที่ 3.2 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2562 ซึ่งอยู่ที่ 2.6 หมื่นล้านบาท

 

เหตุที่เราไม่สามารถมองข้ามการก่อหนี้ของกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ซึ่งมีอายุอยู่ในช่วง 20-40 ปี เพราะไทยมีประชากรใน 2 กลุ่มนี้ ในปี 2562 อยู่ประมาณเกือบ 20 ล้านคน ถือเป็นสัดส่วน 30% หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประเทศ ซึ่งมีปัญหาในเรื่องของการบริหารจัดการเรื่องการเงิน และปัญหารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย

 

ปัญหาหนี้เสียของคนรุ่นใหม่กลายเป็นเรื่องที่ต้องจับตา เพราะประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ประชากรส่วนใหญ่ของประเทศในขณะนี้คือคน Gen Y ซึ่งก็จะเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้สูงอายุในอนาคต การที่บุคคลจะต้องมีอายุที่ยืนยาวมากขึ้นก็จะต้องใช้เงินที่มากขึ้น เพื่อจะสามารถมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่เหมาะสมได้ การออมและสร้างความมั่งคั่งจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องเริ่มตั้งแต่ในวัยทำงาน

 

แต่ในปัจจุบันจะเห็นว่า Gen Y มีพฤติกรรมเป็นหนี้มาก ไม่มีเงินออม ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการออม อาจส่งผลให้ในอนาคตไม่สามารถมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ต้องพึ่งพาระบบสวัสดิการของรัฐซึ่งต้องรองรับคนจำนวนมาก

 

กลายเป็นที่มาของงานวิจัย ‘ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการออมและพฤติกรรมการออมของคน Gen Y’ ซึ่งสามารถนำข้อมูลดังกล่าวไปเร่งสร้างความตระหนักในเรื่องการออม ให้ความรู้ทางด้านการเงิน และสร้างความตระหนักรับรู้ของคน Gen Y ต่อการเตรียมพร้อมวางแผนเกษียณอายุ

 

การศึกษาพบว่า ในด้านการมีเงินออมกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 94.3 เป็นผู้มีเงินออม ในส่วนของจำนวนเงินออมผ่านคำถามที่ว่าถ้าไม่มีรายได้หลักแล้ว เงินออมจะใช้ดำรงชีพได้นานเท่าใด กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าเงินออมของตนจะสามารถใช้ดำรงชีพได้นาน 3-6 เดือน คิดเป็นร้อยละ 31 รองลงมาร้อยละ 29.5 ของกลุ่มตัวอย่างคาดการณ์ว่าเงินออมของตนเองสามารถใช้ดำรงชีพได้ในระดับ 6-9 เดือน และมีกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 11.3 คาดการณ์ว่าเงินออมของตนเองสามารถใช้ดำรงชีพได้ไม่เกิน 3 เดือน 

 

ด้านวิธีการจัดสรรเงินออมส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 80 ออมเงินก่อนที่จะนำไปใช้จ่าย สำหรับสัดส่วนของเงินออมต่อระดับรายได้ต่อเดือน กลุ่มตัวอย่างกว่าร้อยละ 30 มีการออมคิดเป็นสัดส่วนไม่เกินร้อยละ10 ของรายได้ต่อเดือน และมีกลุ่มตัวอย่างที่มีการออมในระดับมากกว่าร้อยละ 30 ของรายได้ต่อเดือน คิดเป็นเพียงร้อยละ 6.8 ในด้านวัตถุประสงค์หลักในการออมเงิน พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีการออมเงินเพื่อการเกษียณและเพื่อกรณีฉุกเฉินและเจ็บป่วยมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 25.5 และ 26.5 ตามลำดับ 

 

และในด้านปัจจัยที่ใช้เลือกรูปแบบการออม พบว่าอัตราผลตอบแทนเป็นปัจจัยที่กลุ่มตัวอย่างใช้ในการพิจารณาเลือกรูปแบบการออมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 65.8 รวมถึงหากพิจารณาในด้านแหล่งข้อมูลข่าวสารที่ใช้ประกอบการตัดสินใจเลือกรูปแบบการออม พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 45.3 ใช้ประสบการณ์ของตนเองในการตัดสินใจมากที่สุดในการเลือกรูปแบบการออม โดยเมื่อพิจารณารูปแบบการออมที่กลุ่มตัวอย่างเลือกใช้ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีการออมเงินผ่านรูปแบบเงินฝากออมทรัพย์ คิดเป็นร้อยละ 31.1

 

ขณะที่ระดับทักษะทางการเงินมีค่าเฉลี่ย 7.52 คะแนนนี้ ถือว่ากลุ่มตัวอย่างมีคะแนนความรู้ทางการเงินอยู่ในระดับสูง และมีคะแนนพฤติกรรมทางการเงินอยู่ในระดับสูงเช่นกัน 

 

การสำรวจยังพบด้วยว่า กลุ่มตัวอย่างให้ความเห็นเรื่องอายุที่ต้องการเกษียณมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 57 ปี แต่ที่น่าตกใจคือส่วนใหญ่ยังคงไม่เริ่มวางแผนอย่างจริงจัง แม้มีส่วนหนึ่งที่มีการวางแผนการเงินอยู่แล้ว มีการวางเป้าหมาย และวิธีการไปสู่เป้าหมายโดยเครื่องมือทางการเงินต่างๆ ในแต่ละช่วง มีการประมาณการณ์ถึงรายได้ ค่าใช้จ่ายในช่วงต่างๆ สำหรับที่ส่วนใหญ่สาเหตุที่ยังไม่ได้เริ่มวางแผนหรือลงมือเก็บออมเนื่องจากยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไกลตัวอยู่

 

ดังนั้นภาครัฐและเอกชนควรสนับสนุนให้เกิดการออมในคนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะ Gen Y เพราะเป็นที่ทราบดีว่าเป็นช่วงที่อยู่ในวัยทำงาน เป็นช่วงที่มีการสร้างรายได้ จึงควรเป็นช่วงที่มีการสะสมความมั่งคั่งด้วย 

 

และควรมีการสร้างความตระหนักถึงความน่ากลัวของพฤติกรรมการเงินที่ไม่ดีนอกจากนี้ ความรู้ก็เป็นเรื่องสาคัญ ที่จะทำให้มีสุขภาพทางการเงินที่ดี แต่พฤติกรรมและทัศนคตินั้นมีความสำคัญกว่า เพราะเป็นตัวที่ทำให้เกิดวินัยในการออม

 

 

ภาพประกอบ: กริน วสุรัฐกร

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X