รู้หรือไม่ว่า ‘คนสูงวัย’ ในประเทศไทยกำลังเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2564 มีประชากรที่มีอายุมากกว่า 60 ปีกว่า 19.2%, มากกว่า 65 ปี 13.5% และมากกว่า 80 ปี 2.9%
ดังนั้นทำให้ประเมินว่าประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ (Complete Aged Society) ในปี 2565 (สัดส่วนประชากรสูงอายุ 60+ มากกว่า 20%)
โดยหนึ่งในการรับมือที่น่าสนใจคือ การพัฒนาแนวคิด ‘การสูงวัยในถิ่นที่อยู่’ (Ageing in Place) ซึ่งจะทำให้ผู้สูงวัยสามารถอยู่อาศัยในบริเวณบ้านของตัวเองได้อย่างราบรื่น
Ageing in Place นั้นถูกกล่าวถึงอย่างน้อยตั้งแต่ปี 2545 เมื่อประเทศไทยยอมรับหลักการของแผนปฏิบัติการระหว่างประเทศมาดริดว่าด้วยเรื่องผู้สูงอายุ (MIPAA)
แต่ที่น่าเสียดายคือ นโยบายที่มุ่งเน้นแนวทาง Ageing in Placeในทางปฏิบัติยังคงจำกัดเฉพาะอยู่ในวงวิชาการและผู้ที่สนใจเท่านั้น แม้จะมีโครงการจำนวนมากที่นำแนวคิด Ageing in Place ไปทดลองปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างหลากหลายก็ตาม
ด้วยเหตุนี้ Ageing in Place ในประเทศไทยจึงยังไม่ชัดเจนและไม่มีการดำเนินงานอย่างเป็นระบบ ยังเน้นการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ขึ้นอยู่กับบริบทและพื้นที่
ดังนั้นสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล จึงได้จัดทำวิจัยเรื่อง ‘Ageing in Place การสูงวัยในถิ่นที่อยู่ ข้อเสนอตัวแบบนโยบายจากบทเรียนต่างประเทศ’ เพื่อเป็น Ageing in Place เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
โดยองค์ประกอบสำคัญของการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ มี 3 ข้อด้วยกันคือ
- Place สถานที่ เทคโนโลยี สภาพแวดล้อม โดยการปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพิ่มเทคโนโลยี สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตด้วยตนเอง และครอบคลุมทั้งช่วงชีวิต
- Social บริการการดูแลสังคม โดยแต่ละชุมชนสามารถออกแบบชุดบริการตามความจำเป็นที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และกระบวนการยุติธรรม, นันทนาการ, การทำงานและความมั่นคงทางการเงิน และบริการทางสังคมทั่วไป
- Health บริการด้านสุขภาพ ที่ครอบคลุมสถานะสุขภาพทั้ง 5 ระดับ ตั้งแต่ผู้สูงอายุที่พึ่งพาตัวเองได้ ไปจนถึงการดูแลระยะประคับประคอง
การออกแบบบริการ (ที่จำเป็น) (Essential Services) สำหรับทั้ง 3 องค์ประกอบของการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ ควรมีผู้สูงอายุเป็น ‘ศูนย์กลาง’ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุพึ่งพาตนเองได้หรือไม่, ผู้สูงอายุอาศัยอยู่กับใคร, มีบริการที่จำเป็นอะไรบ้างที่ผู้สูงอายุต้องการ และผู้สูงอายุอาศัยอยู่ในที่พักอาศัยแบบไหน
การวิจัยพบว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จมีอยู่ 2 ประการ คือ 1. เชื่อมต่อบริการสุขภาพ และบริการการดูแลทางสังคมในทุกระดับเข้าด้วยกัน เป็นหัวใจของการนำไปสู่การสูงวัยในถิ่นที่อยู่ และ 2. ส่งเสริมการป้องกัน (Preventive Approach) ด้วยความเข้มแข็งของชุดบริการการดูแลทางสังคม (Social Care Services) เพื่อยืดระยะเวลาการพึ่งพิงของผู้สูงอายุออกไปให้นานที่สุด
ซึ่งการนำแนวคิดและนโยบาย Ageing in Place ไปสู่การปฏิบัติ ควรระบุบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ จัดวางความสัมพันธ์ระหว่างผู้เกี่ยวข้องที่มีต่อกระบวนนโยบายทั้งระบบ ภายใต้แนวทาง ‘ส่วนกลางคิด-ภูมิภาคประสาน-ท้องถิ่นทำ’
ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย จะทำให้เมืองไทยสามารถรับมือสังคมสูงวัยได้
#OKMD #KnowledgePortal #AgeinginPlaceการสูงวัยในถิ่นที่อยู่ข้อเสนอตัวแบบนโยบายจากบทเรียนต่างประเทศ #สถาบันวิจัยประชากรและสังคม #มหาวิทยาลัยมหิดล
อ้างอิง: