×

มองตลาดถุงยาง และความเหนียมอายของคนไทยผ่านมุมมอง Okamoto ประเทศไทย

14.02.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 MINS READ
  • ตลาดถุงยางอนามัยในประเทศไทยเป็นตลาดที่มีการเติบโตเพียงเล็กน้อย มูลค่าตลาดโดยรวมอยู่ที่ราว 1,500-1,600 ล้านบาท (นับรวมตลาดส่งออกจะอยู่ที่ประมาณ 5,500-6,000 ล้านบาท) โดยในช่วง 2 ปีหลังสุด ตลาดมีการหดตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากผลกระทบทางเศรษฐกิจ
  • คนไทยยังมีค่านิยมและความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในการซื้อถุงยางอนามัย วัดได้จากพฤติกรรมผู้บริโภคบางส่วนที่ยังรู้สึกเหนียมอายทุกครั้งเวลาต้องหยิบถุงยางอนามัยไปจ่ายเงินตามหน้าร้านค้า ซึ่งเป็นผลจากการปลูกฝังความเชื่อที่ผิดๆ
  • ข้อจำกัดสำคัญคือถุงยางอนามัยในประเทศไทยถูกควบคุมให้เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ การโฆษณาประชาสัมพันธ์และการสื่อสารของผู้ประกอบการแต่ละแบรนด์จึงทำได้ยาก

“คนไทยอายที่จะซื้อถุงยางครับ”

 

บอกตามตรงว่าเราไม่แปลกใจเลยด้วยซ้ำที่ได้ยินประโยคนี้จากปากของตัวแทนจำหน่ายถุงยางอนามัย Okamoto ประจำประเทศไทย และเชื่อว่าใครหลายคนก็น่าจะเกิดความรู้สึกเหนียมอายไม่มากก็น้อยทุกครั้งที่จะตัดสินใจหยิบสินค้าชนิดนี้ไปจ่ายเงินที่แคชเชียร์

 

ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วคนที่ซื้อถุงยางอนามัยมาใช้ควรจะถูกมองว่าเป็นคนที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากกว่าถูกมองว่าเป็นคนทำเรื่องผิดบาปหรือบัดสีบัดเถลิงด้วยซ้ำ

 

เพื่อต้อนรับวันวาเลนไทน์และวันแห่งความรักที่ถุงยางอนามัยน่าจะเป็นหนึ่งในสินค้าขายดีที่สุดไม่แพ้กับดอกกุหลาบและช็อกโกแลต THE STANDARD คุยกับ ธนรัตน์ รักอริยะพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ฮายาชิ โปรดักส์ จำกัด ตัวแทนจำหน่ายถุงยางอนามัย Okamoto ในประเทศไทย เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงภาพรวมของตลาดถุงยางอนามัยในประเทศไทย อุปสรรคและโอกาสในการเติบโตของตลาด ตลอดจนปัญหาและความเข้าใจแบบผิดๆ ที่คนไทยมีต่อสินค้าชนิดนี้ รวมถึงวิธีที่เราจะหลุดจากกรอบค่านิยมแบบเดิมๆ

 

 

Okamoto ผู้นำนวัตกรรมถุงยางอนามัยแบบบางจากญี่ปุ่น กับภาพรวมตลาดไทยที่ไม่ได้โตสักเท่าไร

Okamoto ถือเป็นแบรนด์ถุงยางอนามัยจากญี่ปุ่นที่ขึ้นชื่อและโด่งดังพอสมควร โดยเฉพาะการชูคอนเซปต์ถุงยางอนามัยที่มีขนาดบางที่สุดในท้องตลาด (ประมาณ 0.1 มม.) ซึ่งในประเทศญี่ปุ่น พวกเขาถือเป็นบิ๊กเพลเยอร์ที่ครองส่วนแบ่งการตลาดสูงสุดเป็นลำดับต้นๆ แถมยังมีแบรนด์ย่อยออกมาให้เลือกจับจ่ายเป็นจำนวนมาก

 

ขณะที่ในประเทศไทย ถุงยางอนามัย Okamoto เริ่มดำเนินกิจการภายใต้การดูแลของบริษัท ฮายาชิ โปรดักส์ จำกัด อย่างเต็มรูปแบบมาตั้งแต่ประมาณปี 2554 หลังจากที่ธนรัตน์พบว่าความต้องการของสินค้าแบรนด์นี้มีค่อนข้างสูงจากคนรอบตัวของเขา

 

ช่วงแรกที่ผมเริ่มมาจับแบรนด์ Okamoto ก็เพราะว่ามีเพื่อนเอามาให้แล้วบอกว่าเป็นของฝากจากญี่ปุ่น ‘ถุงยางที่บางที่สุดในโลก’ ตอนนั้นก็ไม่เข้าใจ บางแล้วมันดียังไงเหรอ (หัวเราะ) เอาจริงๆ ตอนนั้นแทบจะไม่เคยใช้ถุงยางเลย เพิ่งเรียนจบมาใหม่ๆ ก็ไม่ได้สนใจอะไรมาก

 

“จนเราเริ่มไปญี่ปุ่นเองก็มีเพื่อนเริ่มฝากซื้อมากขึ้น เลยคิดว่ามันน่าจะมีความต้องการจากตลาดในประเทศไทยอยู่ เลยลองไปเสิร์ชหาข้อมูลเพื่อจะมาทำตลาด แล้วก็พบว่ามีคนหาซื้อกันค่อนข้างเยอะ เลยคิดว่าอยากจะลองนำเข้าดู หลังจากนั้นจึงได้ติดต่อไปยังบริษัทในญี่ปุ่นจนได้มาเป็นตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทย”

 

ปรากฏว่าการคาดการณ์ของเจ้าตัวกลับหักมุม เมื่อถุงยางอนามัยแบบบางที่คิดว่าน่าจะทำตลาดไทยได้เปรี้ยงกลับทำยอดขายได้ ‘แป้ก’ ในช่วงแรกๆ เหตุผลส่วนหนึ่งคือเมื่อ 8 ปีที่แล้ว Okamoto ยังเป็นแบรนด์ใหม่ในความรู้สึกของผู้บริโภคไทย และรู้จักกันเฉพาะกลุ่มเท่านั้น

 

อย่างไรก็ดี จากความเข้าใจในผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ การชูจุดแข็งของผลิตภัณฑ์ออกมานำเสนอในการทำการตลาดได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการที่ญี่ปุ่นเปิดประเทศให้คนไทยไปเที่ยวได้โดยไม่ต้องขอวีซ่า แบรนด์ Okamoto จึงเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ จนสามารถทำตลาดในประเทศไทยได้ และยังคงยืนหยัดอย่างแข็งแกร่งจวบจนถึงวันนี้

 

 

จากการคาดการณ์ของธนรัตน์พบว่าปัจจุบัน Okamoto ครองสัดส่วนตลาดไทยในลำดับที่ 3 หรือราว 13.6% มียอดขายตลอดทั้งปี 2561 ราว 129,003 ยูนิต ขณะที่มูลค่าโดยรวมของตลาดถุงยางอนามัยไทยอยู่ที่ประมาณ 1,500-1,600 ล้านบาท (หากนับรวมตลาดส่งออกจะอยู่ที่ราว 5,500-6,000 ล้านบาท) ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ภาพรวมตลาดมีการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 6-7% ต่อปี โดย 2 ปีหลังสุดตลาดกลับหดตัวลงราว 4% ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากพิษเศรษฐกิจ

 

“ผมถือว่าเป็นตลาดที่ค่อนข้างเล็กนะสำหรับประเทศไทย ถ้าเป็นญี่ปุ่น อัตราการใช้ถุงยางเขาจะสูงกว่า ประเทศไทยจะใช้การคุมกำเนิดโดยวิธีอื่นๆ มากกว่า เช่น ยาคุมกำเนิด ประเทศไทยจะใช้ยาคุมกำเนิดเยอะกว่าการใช้ถุงยาง ในประเทศญี่ปุ่น ถุงยางจะขายดีในร้านขายยา หรือพูดง่ายๆ ก็คือสินค้าชนิดนี้ในญี่ปุ่นจะถูกใช้เพื่อการวางแผนครอบครัว ซื้อแต่ละทีในจำนวนเยอะ 10 ชิ้น ต่างจากไทยที่จะเน้นการซื้อน้อยชิ้น ซึ่งก็จะสื่อได้ว่าเป็นการมีเพศสัมพันธ์แบบครั้งคราวมากกว่า ร้านที่ขายดีก็จะเป็นร้านสะดวกซื้อ

 

“เปรียบเทียบง่ายๆ ที่ญี่ปุ่นคนจะกล้าซื้อ กล้าหยิบถุงยาง เขาไม่ได้เหนียมอาย หยิบมาใส่ตะกร้าก็ไม่มีคนสนใจ เป็นเรื่องปกติของเขา แต่ถ้าเป็นประเทศไทย เวลาจะซื้อถุงยางต้องหันซ้ายหันขวา รอให้ไม่มีคนมองแล้วค่อยหยิบ ยังไม่มีเวลาแม้แต่จะมาศึกษาว่าถุงยางแต่ละประเทศแตกต่างกันอย่างไร”

 



คนไทยจำนวนไม่น้อยยังอายและมองการซื้อถุงยางอนามัยเป็นเรื่องที่ประหลาด

ถุงยางอนามัยเป็นอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้เพื่อการคุมกำเนิด แต่เมื่อมาอยู่ในบริบทสังคมไทย ด้วยข้อจำกัดด้านวัฒนธรรมและการปลูกฝังตั้งแต่เล็กๆ จึงทำให้คนไทยจำนวนไม่น้อยรู้สึกเหนียมอายทุกครั้งที่จะซื้อผลิตภัณฑ์ชนิดนี้

 

“ผมว่าถุงยางเป็นสินค้าที่น่าจะถูกขโมยเยอะที่สุดในสโตร์ขายสินค้าประเทศไทยนะครับ ที่โดนขโมยเยอะไม่ใช่เพราะว่าเขาอยากขโมยนะ บางทีวัยรุ่นแค่อาย ไม่กล้าจะซื้อ มันเลยเป็นสินค้าที่ล่อแหลมในการถูกขโมยเยอะมาก ผมว่าเหตุผลหลักๆ เลยคือคนไทยอายที่จะซื้อถุงยาง

 

“ประเทศไทยติดอันดับท็อป 10 ของโลกเรื่องการท้องก่อนวัยอันควร รวมถึงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนจะพร้อม ถ้าสังคมไทยยังยอมรับไม่ได้ว่าการซื้อถุงยางเป็นเรื่องที่ดี ไม่ปรับทัศนคติเรื่องการซื้อถุงยางว่าเป็นไปเพื่อการป้องกันโรคติดต่อทางเพศ และการแสดงความรับผิดชอบต่อครอบครัวและสังคม ถ้าปลูกฝังตรงนี้ไม่ได้ก็น่าจะปรับพฤติกรรมได้ยาก

 

“ผมมองว่าความอนุรักษนิยม การยึดตามหลักขนบธรรมเนียมเป็นเรื่องดีนะ แต่เมื่อโลกสมัยนี้มันเปลี่ยนไป เราต้องปรับตัวเองและปรับทัศนคติให้ทัน สิ่งใดที่มันจะก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมอย่างการท้องก่อนแต่งหรือคุณแม่วัยใส การทำแท้งเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยเหมือนกัน เรื่องโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ไม่ว่าโรคเอดส์หรือโรคต่างๆ ถุงยางก็ช่วยแก้ไขปัญหาพวกนี้ได้”

 

เราถามเขาว่าเมื่อหลายปีที่แล้วสังคมไทยเคยมีประเด็นถกเถียงเรื่องการติดตั้งตู้จำหน่ายถุงยางอนามัยในโรงเรียน ถ้าในเมื่อเขามองว่าการซื้อถุงยางอนามัยเป็นเรื่องที่ดี เช่นนั้นแล้วเห็นด้วยไหมกับการเข้าไปจำหน่ายถุงยางอนามัยในโรงเรียน

 

“ถ้าเป็นในโรงเรียนเลย ผมก็ไม่ได้เห็นด้วยนะ แต่มองว่าการให้ความรู้ด้านเพศศึกษาและการที่สังคมเปิดรับและเปิดใจยอมรับคือเรื่องที่สำคัญกว่า ในหลายประเทศ การจำหน่ายถุงยางในโรงเรียนอาจไม่ใช่เรื่องเสียหาย บางโรงเรียนยังเอาขวดโหลถุงยางมาตั้งแจกเลยด้วยซ้ำ

 

“ผมมานั่งนึกว่าเด็กไทยจะเรียนรู้เรื่องพวกนี้ได้อย่างไร เพราะในสังคมไทยเรา ถ้าเห็นเด็กถือถุงยางหรือไปซื้อถุงยาง แน่นอนว่าคนส่วนใหญ่อาจจะรับไม่ได้ พลางตำหนิพวกเขาในใจว่าอาจจะแก่แดด แทนที่จะมองว่าเด็กคนนี้มีความรับผิดชอบ การมีเพศสัมพันธ์ สุดท้ายแล้วผมเชื่อว่ามันเป็นเรื่องที่ผู้ใหญ่ห้ามกันไม่ได้ ถึงเลี้ยงดูดี ดูแลอย่างระมัดระวัง ก็ไม่ใช่ว่าเด็กทุกคนจะเติบโตมาดีในสังคมสมัยนี้ แต่ถ้าเราปลูกฝังกันดี เขาจะตัดสินใจได้เองว่าควรจะมีเพศสัมพันธ์เมื่อไร ถ้ามีก็จะตัดสินใจได้ว่าควรป้องกันด้วยการใช้ถุงยาง

 

 

“ถุงยางเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่ดีที่สุด ณ ตอนนี้ เรื่องความอาย ผมมองว่ามันก็เป็นแค่เรื่องชั่วคราว ไม่ว่าคุณจะอายที่จะไปซื้อตามร้านสะดวกซื้อทั่วไป มันอาจจะเป็นการอายแค่ชั่วครู่ แต่ถ้าคุณไม่ใช้ ผลที่ตามมามันอาจจะเยอะกว่านั้น มันอาจจะหนักกว่าเรื่องอายเยอะ”

 

สถิติที่น่าสนใจของ Okamoto พบว่าปัจจุบันถุงยางอนามัยจะขายดีที่สุดในช่วงปลายปี โดยมียอดจำหน่ายในเดือนธันวาคมอยู่ที่ประมาณ 11,076 ยูนิต มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรักที่มียอดขายราว 10,464 ยูนิต ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการที่ช่วงปลายปีมีเทศกาลสำคัญๆ และวันหยุดเป็นจำนวนมาก

 

นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้อยังเป็นช่องทางการหลักของการจำหน่ายถุงยางอนามัย ขณะที่ช่องทางออนไลน์ก็มีการเติบโตขึ้นเรื่อยๆ ปัจจัยบวกมาจากความสะดวกสบายที่ทำให้ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องเดินไปที่ร้านค้าแล้วเกิดความรู้สึกไม่สบายใจ ซึ่งคาดว่าในอีกไม่กี่ปีต่อจากนี้ยอดขายออนไลน์จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

 

กฎหมายไทยยังไม่เอื้อให้การโฆษณาทำได้อย่างแพร่หลาย

นอกจากค่านิยมทางจารีตประเพณี อีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้ค่านิยมที่ถูกต้องกับถุงยางอนามัยยังไม่เกิดขึ้นคือการที่มันยังถูกจำกัดเป็น ‘เครื่องมือแพทย์’ ทำให้การจะโฆษณาหรือการปล่อยสินค้ารุ่นใหม่ๆ ทำได้ภายใต้ข้อจำกัดที่เข้มงวดเป็นอย่างมาก

 

เรื่องเดียวกันนี้เราจะเห็นได้จากการที่โฆษณาถุงยางอนามัยในประเทศไทยแทบจะไม่มีข้อความสื่อสารอะไรให้เข้าใจได้เลย เช่นเดียวกับการที่เราจะได้เห็นโฆษณาส่วนใหญ่ออกอากาศในช่วงเวลาที่ดึกแล้ว รวมถึงข้อจำกัดที่ห้ามผู้หญิงถือกล่องถุงยางอนามัยปรากฏตามสื่อโฆษณา เนื่องจากจะถูกตีความว่าเป็นการสื่อความหมายไปในเชิงสนับสนุนให้คนมีเพศสัมพันธ์

 

“ถามว่าตลาดถุงยางและมุมมองผู้บริโภคไทยจะปรับเปลี่ยนได้ไหม ส่วนหนึ่งผมว่าก็ขึ้นอยู่กับการส่งเสริมของรัฐบาลไทยด้วย เพราะข้อกำหนดของไทยค่อนข้างอนุรักษนิยม การโฆษณาถุงยางทำได้ยาก มีข้อกำหนดเยอะกว่าสินค้าประเภทอื่นๆ เพราะเขาอาจจะมองว่าการโฆษณาถุงยางจะเป็นการกระตุ้นให้คนมีเพศสัมพันธ์กันมากขึ้น เช่น ไม่สามารถให้ผู้หญิงถือกล่องถุงยาง เพราะไม่เหมาะสม เป็นการกระตุ้นให้เกิดการมีเพศสัมพันธ์

 

“ผลที่ตามมาคือมันทำให้เราสื่อสารกับผู้บริโภคได้ยาก บางอย่างที่จะสื่อออกไปตรงๆ เช่น สมมติว่าทำถุงยางมาแล้วอยากมีแพ็กเกจจิ้งเป็นรูปสัตว์หรือเสือ ทางราชการก็ไม่อนุญาต ถุงยางในไทยถูกจับไปอยู่ในหมวดการควบคุมของเครื่องมือแพทย์ ซึ่งผมเชื่อว่าถุงยางมันไม่ใช่แค่แพทย์ที่ใช้กลุ่มเดียว

 

“กฎระเบียบต่างๆ จึงเข้มงวดมากๆ การจะออกผลิตภัณฑ์แต่ละตัวใช้ระยะเวลาในการจดทะเบียนและการตรวจสอบที่ค่อนข้างนาน สินค้าบางตัวอาจจะใช้ระยะเวลาประมาณ 1-2 ปีในการอนุมัติ ต้องยอมรับว่ามาตรฐานเมืองไทยค่อนข้างสูง ซึ่งมันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ถ้าวิธีการตรวจสอบนานไปก็จะทำให้สินค้าถูกปล่อยออกมาวางจำหน่ายล่าช้า ข้อดีคือมาตรฐานดีมาก แต่ผมเชื่อว่ามันต้องมาดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะเหมาะสม เราจะสามารถทำให้ระยะเวลาการตรวจสอบมันน้อยลงกว่านั้นแล้วยังมีคุณภาพได้ไหม”

 

สุดท้ายธนรัตน์เชื่อว่าบทบาทสำคัญที่ภาครัฐพอจะช่วยสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการอุปโภค-บริโภคสินค้าประเภทถุงยางอนามัยที่ถูกต้องอาจไม่ใช่การเข้มงวดกับการตรวจสอบการทำการตลาดและการใช้สื่อโฆษณา หากแต่เป็นการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับคนไทยเรื่องการใช้ถุงยางเพื่อการป้องกันโรคติดต่อและลดปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรมากกว่า

 

เพราะการซื้อถุงยางอนามัยไม่ใช่เรื่องผิดบาป การแพร่โรคติดต่อและการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรต่างหากที่ควรจะถูกแก้ไขให้หมดไป

FYI
  • ไทยและมาเลเซียเป็นสองประเทศหลักที่ส่งออกวัตถุดิบยางพาราและน้ำยางเพื่อนำไปแปรรูปเป็นถุงยางอนามัยทั่วโลกในสัดส่วน 80% โดยยางพาราไทยขึ้นชื่อและเป็นที่ยอมรับในแง่ของคุณภาพ
  • ถุงยางอนามัยทุกรุ่นทุกยี่ห้อผ่านการทดสอบคุณภาพมาแล้ว 100% ก่อนจะถึงมือผู้บริโภค วิธีการทดสอบคือนำถุงยางอนามัยมาสวมแท่งโลหะแล้วปล่อยสื่อกระแสไฟฟ้าลงไปในแท่งผ่านนำ้ หากถุงยางรั่ว ไฟฟ้าด้านบนแท่งโลหะจะติด
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X