สถานการณ์ความขัดแย้งที่ตึงเครียดในภูมิภาคตะวันออกกลาง ส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดฟิวเจอร์สงวดส่งมอบเดือนมิถุนายนปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์เพิ่มขึ้น 77 เซนต์ หรือ 0.9% มาอยู่ที่ 83.73 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่น้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส สหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น 87เซนต์ หรือ 1.1% มาอยู่ที่ 78.98 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
รายงานระบุว่า ราคาน้ำมันตลาดฟิวเจอร์สปรับตัวเพิ่มขึ้นหลังจากที่อิสราเอลเปิดฉากโจมตีทางอากาศทางตะวันออกของเมืองราฟาห์ ซึ่งตั้งอยู่ตอนใต้ของฉนวนกาซา โดยก่อนที่จะเริ่มโจมตีทางการอิสราเอลได้สั่งอพยพพลเรือนของตนเอง รวมถึงพลเรือนชาวปาเลสไตน์ออกจากพื้นที่เป็นการชั่วคราวแล้ว
สื่อหลายสำนักรายงานว่าขีปนาวุธของอิสราเอลได้ถล่มพื้นที่ใกล้กับสนามบินกาซาและย่านอัล-ซาลาม ทางตะวันออกของเมืองราฟาห์ ส่งผลให้เกิดระเบิดขนาดใหญ่หลายครั้งและสร้างความเสียหายอย่างมากต่อสิ่งก่อสร้างในพื้นที่ โดยในมุมมองของอิสราเอล เมืองราฟาห์เป็นฐานที่มั่นสำคัญแห่งสุดท้ายของกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา กระนั้นก็เป็นที่รู้กันดีว่าเมืองราฟาห์เองก็เป็นที่พักพิงของชาวปาเลสไตน์พลัดถิ่นมากถึง 1.4 ล้านคน
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ราคาน้ำมันดิบในตลาดฟิวเจอร์สของทั้งเบรนท์และเวสต์เท็กซัสเพิ่งจะมีการปรับตัวลดลงมากที่สุดในรอบสามเดือน โดยเบรนท์ร่วงลงมากกว่า 7% และ WTI ลดลง 6.8% เนื่องจากนักลงทุนชั่งน้ำหนักข้อมูลการจ้างงานในสหรัฐฯ ที่อ่อนแอ ทำให้หลายฝ่ายเห็นเป็นจังหวะที่เป็นไปได้ของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed)
ขณะเดียวกัน สัปดาห์ที่แล้วยังมีสัญญาณบวกเกี่ยวกับความคืบหน้าของการเจรจาหยุดยิงในฉนวนกาซาที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้ ทำให้หนทางยุติความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ในภูมิภาคตะวันออกกลางมีแนวโน้มสดใสขึ้น
อย่างไรก็ตาม โอกาสในการบรรลุข้อตกลงกลับลดน้อยลง เนื่องจากกลุ่มฮามาสย้ำข้อเรียกร้องของตนให้ยุติสงครามโดยแลกกับการปล่อยตัวประกัน ซึ่งทางการอิสราเอลไม่ตกลง ทำให้ดูเหมือนว่าอิสราเอลพร้อมที่จะเปิดฉากการโจมตีที่ถูกคุกคามมายาวนานในฉนวนกาซาตอนใต้
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา (6 พฤษภาคม) ทางกองทัพอิสราเอลเรียกร้องให้พลเรือนชาวปาเลสไตน์อพยพจากเมืองราฟาห์ โดยเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการที่มี ‘ขอบเขตจำกัด’ (Limited Scope)
ด้านความเคลื่อนไหวของตลาดหุ้นเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ปรับตัวขึ้นปิดตลาดมาอยู่ในแดนบวก โดยได้แรงหนุนจากผลสำรวจข้อมูลการจ้างงานที่อ่อนแอเกินคาด ส่งผลให้นักลงทุนมีความหวังว่า Fed มีโอกาสที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (3 พฤษภาคม) ระบุว่า ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเพียง 175,000 ตำแหน่งในเดือนเมษายน ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 238,000 ตำแหน่ง ส่วนอัตราการว่างงานปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.9% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.8%
ข้อมูลการจ้างงานที่ต่ำกว่าคาดได้กระตุ้นให้นักลงทุนปรับเพิ่มการคาดการณ์ที่ Fed จะเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงครั้งแรกในเดือนกันยายน
ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ต่ำกว่าคาด ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนุนให้ Fed ปรับลดอัตราดอกเบี้ย ยังฉุดให้สกุลเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง โดยดัชนีดอลลาร์ (Dollar Index) ปรับตัวลดลง 0.23% ที่ 104.93 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่เมื่อเทียบกับเงินยูโร ดัชนีดอลลาร์อ่อนค่าลง 0.23% ที่ 1.0783 ดอลลาร์สหรัฐต่อยูโร ส่วนค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงของอังกฤษ แข็งค่าขึ้น 0.29% ที่ 1.2581 ดอลลาร์สหรัฐต่อปอนด์ ท่ามกลางความคาดหวังว่าธนาคารกลางอังกฤษจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ 5.25% ในการประชุมวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤษภาคมนี้
อ้างอิง:
- https://www.cnbc.com/2024/05/06/oil-climbs-as-gaza-tensions-rise-saudi-arabia-hikes-prices.html
- https://www.cnbc.com/2024/05/05/stock-futures-inch-higher-sunday-after-weaker-than-expected-jobs-report-left-investors-looking-up-live-updates.html
- https://www.channelnewsasia.com/business/dollar-weaker-renewed-fed-rate-cut-hopes-yen-wobbles-4315086