ราคาน้ำมันดิบในวันพฤหัสบดี (16 พฤศจิกายน) ทรุดตัวลงสู่ระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กดดันให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อย่าง OPEC+ เริ่มพิจารณาปรับลดการผลิตอีกขั้น ก่อนการประชุมที่จะเริ่มต้นในอีก 10 วันข้างหน้าที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย
น้ำมันดิบเบรนต์ (Brent) ซึ่งเป็นเกณฑ์ดัชนีน้ำมันระหว่างประเทศ ร่วงลง 5.2% ในวันพฤหัสบดี ถือเป็นหนึ่งในการปรับตัวลงรายวันที่มากที่สุดในปีนี้ โดยกดราคาให้ต่ำกว่า 77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ดัชนี West Texas Intermediate (WTI) ของสหรัฐอเมริกาลดลง 5.5% สู่ระดับ 72.48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล
ราคาที่ลดลงสร้างแรงกดดันต่อซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และสมาชิกอื่นๆ ของ OPEC+ ก่อนการประชุมในวันที่ 26 พฤศจิกายน ซึ่งพวกเขาจะต้องพิจารณาว่าจะตอบสนองต่อราคาน้ำมันที่อ่อนตัวลงได้อย่างไร และความกังวลที่ว่าการเติบโตทั่วโลกอาจสะดุดลงซึ่งจะกระทบต่ออุปสงค์ของน้ำมัน
Daan Struyven หัวหน้าฝ่ายวิจัยน้ำมันของ Goldman Sachs กล่าวว่า อาจมีการทดสอบบางอย่างก่อนการประชุม OPEC+ ในอดีตที่ผ่านมาประเทศผู้ผลิตมีการประกาศลดหรือขยายเวลาการปรับลดการผลิต ซึ่งราคามักอยู่ในช่วง 82-85 ดอลลาร์ ความคาดหวังในปัจจุบันคือการปรับลดของซาอุดีอาระเบียจะขยายออกไปถึงช่วงครึ่งแรกของปีหน้า แต่คาดว่าจะไม่มีการประกาศหั่นการผลิตแบบกลุ่มประเทศ
ที่ผ่านมาราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันมาโดยตลอดในปี 2023 แต่ราคาเริ่มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงฤดูร้อน หลังจากที่ซาอุดีอาระเบียและรัสเซียซึ่งเป็นผู้นำกลุ่ม OPEC+ ประกาศลดการผลิตและการส่งออกเพิ่มเติม ซาอุดีอาระเบียได้ลดการผลิตเพิ่มเติมอย่างสมัครใจเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม และกล่าวว่าจะดำเนินต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) กล่าวว่า ตลาดน้ำมันน่าจะกลับมาเกินดุลอีกครั้งในช่วงต้นปีหน้า แม้ว่าซาอุดีอาระเบียจะขยายการลดกำลังการผลิตในปีนี้ก็ตาม
กำลังการผลิตยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องจากกลุ่มประเทศที่อยู่นอกเหนือ OPEC+ ประเทศอย่างสหรัฐฯ กายอานา และบราซิล ต่างเพิ่มการผลิตน้ำมันของตน โดยรัฐบาลบราซิลตั้งเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่อันดับ 4 ของโลกภายในปี 2029
Edward Gardner นักเศรษฐศาสตร์สินค้าโภคภัณฑ์จาก Capital Economics ระบุว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดของกลุ่มประเทศ OPEC+ ลดลง และราคาที่ตกต่ำในตอนนี้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงในสมดุลระหว่างอุปสงค์และอุปทานของตลาด โดยที่ในฝั่งอุปทานดูเหมือนจะไม่มีข้อจำกัดมากอย่างที่คาดไว้
เมื่อวันพุธที่ผ่านมา องค์กรข้อมูลด้านพลังงาน (EIA) ของสหรัฐฯ รายงานว่า สต๊อกน้ำมันในประเทศขยายตัว 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่แล้ว รวมเป็น 421.9 ล้านบาร์เรล ซึ่งเกินความคาดหมายของบรรดานักวิเคราะห์ที่สำรวจโดย Reuters ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นแค่ 1.8 ล้านบาร์เรล
Bjarne Schieldrop หัวหน้านักวิเคราะห์สินค้าโภคภัณฑ์ของ SEB เปิดเผยว่า ตอนนี้สถานการณ์ขึ้นอยู่กับ OPEC+ ที่จะต้องส่งสัญญาณชัดเจนในการประชุมที่กำลังจะมีขึ้น ซึ่งเชื่อว่าซาอุดีอาระเบียจะเรียกร้องให้คูเวต อิรัก และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลดกำลังการผลิตเพิ่มเติม และนั่นอาจเป็นการพูดคุยที่เต็มไปด้วยความขัดแย้ง
อ้างอิง: