×

ราคาน้ำมันฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตฯ ดิ่งหนักรอบ 6 เดือน ส.อ.ท. เผยสินค้าจ่อขยับตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

10.03.2022
  • LOADING...
ราคาน้ำมัน

ส.อ.ท. เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมหดตัวในรอบ 6 เดือน เหตุผู้ประกอบการกังวลราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ชี้ราคาสินค้าอาจถูกปรับขึ้นตามต้นทุนการผลิตในอีก 3-6 เดือน ขณะที่หอการค้าประเมินน้ำมันแพงอาจฉุด GDP ปีนี้ลง 0.2%

 

สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผย ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 อยู่ที่ระดับ 86.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 88.0 ในเดือนมกราคม ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงครั้งแรกในรอบ 6 เดือน โดยปัจจัยที่ส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 


  1. สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอนที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาครัฐยกระดับการเตือนภัยโรคโควิดจากระดับ 3 เป็นระดับ 4 ทั่วประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและอุปสงค์ในประเทศชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า 

 

  1. ผู้ประกอบการยังเผชิญปัญหาต้นทุนการผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบราคาพลังงานที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูงตามทิศทางราคาตลาดโลก รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งสินค้าและการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)

 

  1. ในด้านการส่งออกผู้ประกอบการต้องเผชิญความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนส่งผลกระทบต่อราคาสินค้านำเข้าขณะที่ปัญหา Supply Disruption ที่ยังไม่คลี่คลาย 

 

  1. ปัญหาข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนยังส่งผลให้เศรษฐกิจการค้าโลกมีความไม่แน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม ในเดือนกุมภาพันธ์ยังมีปัจจัยบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐผ่านโครงการคนละครึ่งเฟส 4 และการเพิ่มวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพื่อช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชนบางส่วน

 

ทั้งนี้ จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,242 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศของ ส.อ.ท. พบว่า ปัจจัยที่ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 75.2% สถานการณ์การระบาดของโควิด 68.5% เศรษฐกิจในประเทศ 56.8% สภาวะเศรษฐกิจโลก 52.3% อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ 48.3% สถานการณ์การเมืองในประเทศ 45.5% และอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 45.6% ตามลำดับ

 

สำหรับข้อเสนอของ ส.อ.ท. ที่มีต่อภาครัฐ ประกอบด้วย

 

  1. เตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุขเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด เช่น การสำรองยาให้เพียงพอ บริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยวิกฤต สนับสนุนยาและสิ่งของจำเป็นในการกักตัว Home Isolation เพิ่มจำนวนโรงพยาบาลสนาม/ศูนย์พักคอย และการแจกชุดตรวจ ATK ให้กับกลุ่มเสี่ยง

 

  1. ยกเลิกมาตรการ Test & Go โดยให้ผู้เดินทางเข้าประเทศแสดงวัคซีนพาสปอร์ตแทนก่อนเข้าประเทศ พร้อมทั้งจัดให้มีระบบตรวจติดตามผู้เดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ และเสริมสร้างบรรยากาศด้านการท่องเที่ยวของไทย

 

  1. ออกมาตรการดูแลราคาพลังงาน เช่น การตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ราคาก๊าซ และการคงค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตของภาคอุตสาหกรรม

 

  1. ขอให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐ-เอกชน เพื่อติดตามและประเมินสถานการณ์วิกฤตรัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งหามาตรการบรรเทาผลกระทบให้แก่ผู้ประกอบการด้านการค้า 

 

ขณะที่ เกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน ส.อ.ท. เปิดเผยว่า สถานการณ์ราคาพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อ เนื่องจากปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าของภาคธุรกิจแล้ว โดยคาดว่าผู้ผลิตปุ๋ยเคมีจะขอปรับเพิ่มราคาใน 1-2 เดือนนี้ เช่นเดียวกับผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เนื่องจากรัสเซียเป็นผู้ส่งออกทั้งน้ำมัน โพสแทสเซียม ยูเรีย และข้าวสาลีรายใหญ่ของโลก 

 

อย่างไรก็ดี ธุรกิจส่วนใหญ่ในขณะนี้ยังมีสินค้าที่เก็บอยู่ในสต๊อกอีกราว 3-6 เดือน แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้นก็คาดว่าผู้ผลิตสินค้าจะทยอยปรับขึ้นสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุนที่สูงขึ้น

 

ด้าน สนั่น อังอุบลกุล ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประเมินว่า ราคาน้ำมันที่เร่งตัวขึ้นจากสถานการณ์การสู้รบในยูเครนอาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้ โดยการศึกษาของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ราคาเบนซินที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อลิตรจะส่งผลต่อ GDP 0.1% 

 

ขณะที่ราคาดีเซลที่เพิ่มขึ้นทุกๆ 1 บาทต่อลิตรจะส่งผลต่อ GDP 0.2% ดังนั้นหากสถานการณ์สงครามครั้งนี้ยืดเยื้อประมาณ 3 เดือน อาจส่งผลกระทบให้ GDP ไทยในปีนี้ลดลงอีก 0.2% จากที่เคยคาดการณ์ไว้

 

สนั่นกล่าวอีกว่า รัฐบาลควรดูแลค่าเงินบาทให้ไม่แข็งค่ามากเกินไป โดยระดับที่เหมาะสมคือ ระดับ 32.5-33.5 บาทต่อดอลลาร์ รวมถึงตรึงราคาดีเซลต่อเพื่อลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย เพราะขณะนี้กำลังซื้อต่างจังหวัดยังไม่ฟื้นตัว และยังมีปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการต่างจังหวัด

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X