×

ทำความเข้าใจราคาน้ำมันไทย เพื่อคนไทยหรือใครกันแน่

โดย THE STANDARD TEAM
30.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน 90% ของน้ำมันที่ใช้มาจากการนำเข้าโดยอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์
  • ต้นทุนของน้ำมันแต่ละหยดที่ผู้บริโภคจ่าย ไม่ได้มีเพียงราคาของเนื้อน้ำมันอย่างเดียว ยังมีค่าขนส่ง ภาษี เงินสมทบเข้ากองทุนและค่าการตลาดอีกด้วย

“ได้ข่าวราคาน้ำมันโลกตก ทำไมน้ำมันบ้านเราไม่ลงตามล่ะ”

 

เป็นคำถามที่คาใจผู้บริโภคมานานแล้ว เนื่องจากราคาน้ำมันเป็นสิ่งที่สะท้อนต้นทุนของเกือบทุกองค์ประกอบในชีวิต ทั้งการเดินทาง ต้นทุนสินค้า และยังไม่นับรวมต้นทุนทางอารมณ์กับประเด็นดราม่าต่างๆ ที่ถกเกียงกันไม่รู้จบในอุตสาหกรรมพลังงาน

 

คำตอบคือ เรื่องราคาน้ำมันซับซ้อนกว่าที่คิด

 

THE STANDARD ขอเป็นส่วนหนึ่งในการทำความเข้าใจเรื่องโครงสร้างราคาน้ำมัน และทำความจริงบางแง่มุมให้กระจ่างผ่านบทความนี้

 

ต้นทุนของน้ำมัน 1 หยด เป็นมากกว่าราคาน้ำมันดิบ

ประเทศไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าน้ำมันด้วยข้อจำกัดด้านทรัพยากรที่มี และเมื่อเศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น ความต้องการบริโภคน้ำมันจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย จะเห็นได้ว่าอัตราการนำเข้าน้ำมันของไทยช่วงที่ผ่านมายังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อเนื่อง ด้วยความจำเป็นที่ต้องใช้น้ำมันในทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจ ปัจจุบันนำเข้าทั้งน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป

 

น้ำมันเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งมีกฎหมายสำคัญหลายฉบับในการกำกับดูแล ซึ่งเราอาจจะคุ้นชินกับพระราชบัญญัติควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. 2542 หรือพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาบ้างแล้ว ซึ่งไม่เพียงแต่กระทรวงพลังงานเท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ ยังเกี่ยวข้องกับอีกหลายส่วนงานของภาครัฐและองค์กรต่างๆ ด้วย

 

จากข้อมูลของสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน รายงานการใช้น้ำมันใน 5 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค. – พ.ค. 2561) พบว่าประเทศไทยใช้น้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้น 3.9% คิดเป็น 30.8 ล้านลิตรต่อวันและใช้น้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 2.8% คิดเป็น 67.5 ล้านลิตรต่อวัน ซึ่งน้ำมันสองประเภทนี้คือตัวสะท้อนต้นทุนที่สำคัญของการใช้ชีวิตประจำวันของผู้บริโภค กระทรวงพลังงานให้เหตุผลว่าประชาชนใช้รถส่วนตัวเดินทางกันมากขึ้น ประกอบกับการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 2.4% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ ทำให้อุปสงค์ของน้ำมันเพิ่มขึ้น

 

เมื่อพิจารณาราคาขายปลีกเฉลี่ยในช่วงเวลาดังกล่าว พบว่าราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 27.57 บาทต่อลิตร ราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินเฉลี่ย 27.70 บาทต่อลิตร ซึ่งแยกเป็นราคาน้ำมันเบนซิน 95 ที่ 35.56 บาทต่อลิตร และ ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์เฉลี่ยที่ 27.39 บาทต่อลิตร

 

 

ราคาขายปลีกคือราคาที่ผู้บริโภครับรู้ เป็นเงินที่ต้องจ่ายจริงๆ ที่สถานีบริการน้ำมัน หากเปรียบเทียบก็คือสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้ว (Finished Goods) ที่วางสวยงามอยู่บนชั้นสินค้าในร้านค้าปลีก ซึ่งเราทราบดีว่าต้นทุนของสินค้านั้นๆ มีมากกว่าวัตถุดิบที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ น้ำมันก็เช่นเดียวกัน กว่าจะเติมเข้าสู่รถของประชาชนก็ต้องผ่านกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับต้นทุนและราคาขายทั้งสิ้น

 

สำหรับต้นทุนของน้ำมันที่เราเติมกันทุกวันนั้นแบ่งออกเป็น 3 ส่วนสำคัญ ดังนี้

  1. ต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูป
  2. ค่าภาษีและกองทุน
  3. ค่าการตลาด

 

 

สำหรับต้นทุนน้ำมันสำเร็จรูปนั้น ในโลกจะอ้างอิงจาก 3 ตลาดหลักนั่นคือ ตลาดนิวยอร์ก มีราคาน้ำมัน WTI และ Nymex เป็นราคาอ้างอิงของอเมริกา ถัดมาคือตลาดลอนดอน มีราคาน้ำมัน Brent และ ICE เป็นราคาอ้างอิงของยุโรป และที่เกี่ยวข้องกับประเทศไทยโดยตรงคือตลาดสิงคโปร์ ซึ่งมีราคาน้ำมัน Dubai และ SGX เป็นราคาอ้างอิงสำหรับภูมิภาคเอเชีย

 

ทำไมต้องเป็นตลาดสิงคโปร์

 

คำตอบที่ชัดเจนคือเป็นจุดที่ใกล้กับประเทศไทยมากที่สุด ต้นทุนในการขนส่งน้ำมันจะถูกกว่าการขนส่งจากจุดอื่น ซึ่งสิงคโปร์เป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปรายใหญ่ที่สุดในเอเชีย ‘ราคาสิงคโปร์’ ที่พูดถึงกันจึงเป็นราคาซื้อขายน้ำมันระหว่างผู้ค้าน้ำมันในภูมิภาคที่ตกลงกันผ่านตลาดกลางอย่างสิงคโปร์ ไม่ใช่ราคาที่ประกาศโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานของสิงคโปร์แต่อย่างใด

 

 

ดังนั้นการอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์จึงถือเป็นสิ่งที่ประเทศในภูมิภาคนี้ทำกันเป็นปกติอยู่แล้ว ซึ่งเป็นไปตามหลักปฏิบัติโดยทั่วไป สิ่งที่แตกต่างกันคือโครงสร้างราคาน้ำมันของแต่ละประเทศที่ไม่เหมือนกัน ขึ้นกับข้อจำกัดและสถานการณ์ด้านพลังงานของแต่ละประเทศ แต่เมื่อพูดถึงราคาอ้างอิงแล้ว ทุกฝ่ายต่างก็ใช้ราคาที่ตลาดสิงคโปร์ทั้งสิ้น

 

90% ของน้ำมันที่ใช้ในประเทศไทยเป็นการนำเข้าน้ำมันดิบ เนื่องจากปริมาณการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอ  จึงต้องนำเข้ามากลั่นเพื่อให้เพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้นการกำหนดราคาก็จะอ้างอิงราคาที่ตลาดสิงคโปร์นี่เอง ปัจจัยที่มีผลต่อต้นทุนส่วนนี้คืออัตราแลกเปลี่ยนที่ปรับขึ้นลงตลอดเวลา ซึ่งประเทศไทยจ่ายเงินค่านำเข้าน้ำมันในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อค่าเงินผันผวนก็ส่งผลกระทบด้วย

 

สิ่งที่สำคัญคือความเข้าใจที่ตรงกันว่า ราคาน้ำมันจากสิงคโปร์ที่เรานำเข้ามานั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของราคาน้ำมันขายปลีกที่เราจ่ายเงินที่ปั๊มน้ำมันเท่านั้น นอกจากต้นทุนเรื่องการขนส่งน้ำมันสำเร็จรูปไปตามจุดต่างๆ แล้ว ยังมีต้นทุนอื่นอีก อย่างค่าภาษีและกองทุน ซึ่งส่วนของภาษีจะถูกเก็บภาษีสรรพสามิตเนื่องจากน้ำมันจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย มีกรมสรรพสามิตเป็นผู้เรียกเก็บ นอกจากนี้ยังถูกเก็บภาษีเทศบาลเพื่อนำไปบำรุงท้องที่ที่โรงกลั่นน้ำมันตั้งอยู่ และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จุดจำหน่ายเช่นเดียวกับสินค้าประเภทอื่น

 

ขณะเดียวกันยังมีส่วนที่ต้องเก็บเพิ่มเพื่อสมทบเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ซึ่งเรียกเก็บโดยกระทรวงพลังงาน เพื่อใช้อุดหนุนราคาน้ำมันเมื่อเกิดภาวะราคาน้ำมันผันผวน ไม่ให้ราคาน้ำมันขายปลีกพุ่งสูงเกินไป และยังมีกองทุนเพื่อการอนุรักษ์พลังงานสำหรับสนับสนุนการค้นคว้าวิจัยเพื่อการพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานอีกด้วย

 

วัตถุประสงค์หลักของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงคือการรักษาเสถียรภาพของระดับ ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงภายในประเทศ ดังนั้น ผู้ผลิต ผู้ค้า และผู้นำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีหน้าที่จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และมีสิทธิ์ได้รับเงินชดเชยจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง

 

นอกจากนี้เงินส่วนหนึ่งยังสมทบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งใช้เป็นเงินหมุนเวียน เงินช่วยเหลือ หรือเงินอุดหนุนสำหรับการลงทุนและดำเนินงานในการอนุรักษ์พลังงานหรือการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน

 

นอกจากนี้ยังสนับสนุนโครงการด้านการอนุรักษ์พลังงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงาน การค้นคว้า วิจัย การศึกษาเกี่ยวกับการพัฒนาการส่งเสริมและการอนุรักษ์พลังงาน รวมถึงการป้องกันและแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการอนุรักษ์พลังงานและเกี่ยวกับการกำหนดนโยบายและวางแผนพลังงาน ซึ่งครอบคลุมการอบรมให้ความรู้ไปจนถึงโฆษณาประชาสัมพันธ์เรื่องการอนุรักษ์พลังงานอย่างยั่งยืนด้วย

 

จึงพอจะสรุปได้ว่าต้นทุนของน้ำมันที่เราจ่ายเงินเติมนั้นมีมากกว่าต้นทุนของเนื้อน้ำมันที่เรานำเข้ามาจริงๆ เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านราคาของน้ำมันดิบในต่างประเทศ ผลกระทบโดยตรงที่มีต่อราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศจะคิดเป็นสัดส่วนที่น้อยลง เนื่องจากมีต้นทุนส่วนอื่นๆ ที่ต้องนำมาคำนวณด้วย

 

เทียบน้ำมันไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ใครถูก ใครแพง

จากข้อมูลของกระทรวงพลังงาน สามารถเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันในภูมิภาคอาเซียนได้ดังนี้

 

 

ราคาน้ำมันในภูมิภาคอาเซียน ณ วันที่ 10 ตุลาคม 2561 ประเทศที่ราคาน้ำมันเบนซินต่ำที่สุดคือ บรูไน 12.33 บาทต่อลิตร ประเทศที่ราคาน้ำมันเบนซินสูงที่สุดคือสิงคโปร์ 56.95 บาทต่อลิตร ขณะที่ประเทศไทยราคา 31.05 บาทต่อลิตร อยู่อันดับที่ 6

 

ส่วนประเทศที่ราคาน้ำมันดีเซลต่ำที่สุดคือบรูไน 7.35 บาทต่อลิตร ประเทศที่ราคาน้ำมันดีเซลสูงที่สุดคือ สิงคโปร์ 45.32 บาทต่อลิตร  ขณะที่ประเทศไทยราคาน้ำมันดีเซล 29.89 บาทต่อลิตร ติดอันดับที่ 4 ของภูมิภาค

 

จะเห็นได้ว่าราคาขายปลีกน้ำมันของแต่ละประเทศแตกต่างกันพอสมควร เนื่องจากโครงสร้างราคาไม่เหมือนกัน นโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลแต่ละประเทศก็ไม่เหมือนกันด้วย ประเทศที่มีทรัพยากรน้ำมันอยู่มากและส่งออกอย่างบรูไนและมาเลเซีย มีปริมาณน้ำมันสำรองที่เกินพอ ทั้งยังเหลือส่งออกได้อีก ไม่ได้พึ่งพาการนำเข้าน้ำมันเหมือนอย่างไทย ลาว หรือกัมพูชา จึงกำหนดราคาขายรวมทั้งการอุดหนุนราคาน้ำมันจึงแตกต่างออกไป   

 

ตัวอย่างที่ดีคือประเทศมาเลเซีย รัฐบาลของมาเลเซียกำหนดราคาน้ำมันที่สถานีบริการผ่านเครื่องมือด้านโครงสร้างภาษีและการอุดหนุนราคา แม้มาเลเซียจะอ้างอิงราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นตามตลาดกลางสิงคโปร์ แต่ราคาที่เป็นต้นทุนสำหรับผู้บริโภคกลับถูกควบคุมได้ด้วยกลไกของรัฐบาล ซึ่งใช้งบประมาณจากรายได้การส่งออกน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติอยู่แล้ว จะแตกต่างจากประเทศไทยน้ำมันเกือบทั้งหมดล้วนนำเข้ามาเพื่อใช้บริโภคในประเทศ

 

ปั๊มน้ำมัน ขายมากกว่าน้ำมันและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

จากข้อมูลของไตรมาส 1/2561 โดยกรมธุรกิจพลังงาน กระทรวงพลังงาน พบว่ามีสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศกว่า 2.7 หมื่นแห่ง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจำนวนมากที่สุด ส่วนกรุงเทพมหานครมีปั๊มน้ำมันประมาณ 900 แห่ง   ต้นทุนที่สำคัญและอธิบายส่วนต่างระหว่างราคาขายปลีกที่หัวจ่ายกับราคาน้ำมัน ณ โรงกลั่นก็คือค่าการตลาด ซึ่งการบริหารปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งจะมีทั้งค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจัดการดูแลสถานีบริการและส่วนอื่นๆ ซึ่งเป็นต้นทุนที่ถูกรวมเอาไว้ในเงินที่ผู้บริโภคจ่ายเป็นค่าน้ำมันที่เติม

 

 

สำหรับธุรกิจค้าปลีกน้ำมันนั้นดำเนินการอย่างเสรี ไม่ได้มีข้อจำกัดในการขยายสาขาแต่อย่างใด ค่าการตลาดที่ปั๊มน้ำมันได้รับจะเปลี่ยนแปลงไปตามข้อกำหนดของแต่ละแบรนด์ ค่าเฉลี่ยการตลาดอยู่ในช่วง 1.7-2 บาทต่อลิตร ซึ่งโครงสร้างรายได้ของปั๊มน้ำมันแต่ละแห่งจะแตกต่างไปตามเงื่อนไขที่มีกับแบรนด์นั้นๆ ซึ่งเป็นส่วนที่ต้องบริหารจัดการระหว่างแบรนด์ปั๊มน้ำมันและดีลเลอร์ผู้ประกอบการ และค่าการตลาดนั้นไม่ใช่ ‘กำไร’ ของปั๊มน้ำมัน แต่เป็นรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ ซึ่งแต่ละปั๊มจะแบกรับต้นทุนในการดำเนินการ

 

อย่างไรก็ตาม ปั๊มน้ำมันหนึ่งแห่งทำให้เกิดการจ้างงานขึ้นอีกนับสิบชีวิต ทั้งพนักงานเติมน้ำมัน แคชเชียร์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกัน นอกจากนี้ยังมีรายได้จากธุรกิจที่ไม่ใช่น้ำมันหรือนอนออยล์ ทั้งร้านกาแฟ ร้านสะดวกซื้อ และบริการต่างๆ ซึ่งเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้แบรนด์ต่างๆ หันมาขยายธุรกิจส่วนนี้มากยิ่งขึ้น ปั๊มน้ำมันจึงไม่ได้เกี่ยวข้องเพียงแค่อุตสาหกรรมพลังงานเท่านั้น แต่ยังนับเป็นธุรกิจค้าปลีกและการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์ที่น่าจับตา ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงจากภาวะราคาน้ำมันที่ไม่แน่นอนในอนาคตได้ จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นจำนวนปั๊มน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกมากนับจากนี้

 

เข้าใจให้ตรงกัน เติมน้ำมัน เติมพลังงานให้เศรษฐกิจ

สำนักข่าว THE STANDARD ขอสรุปประเด็นเรื่องราคาน้ำมัน เพื่อมุมมองที่ตรงกับความเป็นจริงของผู้บริโภคชาวไทยได้ดังนี้

  1. เราไม่สามารถเปรียบเทียบราคาขายปลีกน้ำมันของประเทศไทยกับประเทศอื่นๆ ได้โดยตรง เนื่องจากต้นทุนของน้ำมันในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน นโยบายด้านภาษี และการอุดหนุนราคาไม่เหมือนกัน
  2. ประเทศไทยเป็นผู้นำเข้าน้ำมัน ใช้ราคาอ้างอิงตามตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นราคามาตรฐานที่ตกลงใช้กันทั้งภูมิภาค
  3. น้ำมันของไทยจะถูกเก็บภาษีและเงินกองทุน นอกจากนี้ยังมีค่าการตลาดสำหรับปั๊มน้ำมันที่ให้บริการ โครงสร้างนี้คือข้อแตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับประเทศอื่น และอธิบายได้ว่าทำไมราคาขายปลีกน้ำมันจึงไม่ปรับตัวแบบทันทีทันใด

 

น้ำมันนอกจากจะเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อนกลจักรของยานยนต์แล้ว ยังเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในระบบเศรษฐกิจที่ทำให้ธุรกิจและแรงงานที่เกี่ยวข้องก้าวต่อไปข้างหน้าด้วย  

 

ดังนั้นทุกครั้งที่ผู้บริโภคเติมน้ำมันจึงเป็นการส่งผ่านรายได้ถึงมือเด็กปั๊ม พนักงานแคชเชียร์ จนถึงเจ้าของปั๊มที่มีกระจายอยู่ทั่วประเทศ และเงินเหล่านั้นก็หมุนเวียนเข้าไปในระบบเศรษฐกิจต่อไป ภายใต้การกำกับดูแลที่คำนึงถึงการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนเพื่อคนไทย

 

ภาพประกอบ: Anongnarth V.

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising