สถานการณ์ ราคาน้ำมัน ดิบโลก อิงน้ำมันดิบ WTI ล่าสุด (4 สิงหาคม) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาแตะระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากที่เคยขึ้นไปแตะระดับ 130 ดอลลาร์ เมื่อเดือนมีนาคม 2565 และเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 100-130 ดอลลาร์ ในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา
จักรพงศ์ เชวงศรี ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่กดดันให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงต่อเนื่องในช่วง 2 วันที่ผ่านมา เกิดจากการที่สต๊อกน้ำมันของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 4 ล้านบาร์เรลจากสัปดาห์ก่อนหน้า มากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เพียง 6 แสนบาร์เรล ขณะเดียวกันสถานการณ์น้ำมันในขณะนี้ยังเกินดุลอยู่ราว 8 แสนบาร์เรลต่อวัน ขณะที่เศรษฐกิจของจีน ยุโรป และสหรัฐฯ ต่างชะลอตัวลง กระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน
นอกจากนี้ ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ค่าการกลั่นลดลงเร็วมาก จาก 20-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเหลือเพียง 10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในส่วนนี้ยังไม่รวมค่าพรีเมียมของน้ำมันดิบ ซึ่งหากรวมเข้าไปจะทำให้ค่าการกลั่น อย่างในตลาดสิงคโปร์ลดลงไปติดลบแล้ว
“ค่าการกลั่นที่ลดลงเร็วทำให้โรงกลั่นอาจหยุดสั่งซื้อน้ำมันดิบเพิ่มเติม และใช้เท่าที่จำเป็น ทำให้ Demand ต่อน้ำมันดิบจะลดลงในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า”
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าราคาน้ำมันดิบจะยังทรงตัวอยู่เหนือระดับ 90 ดอลลาร์ เพราะยังมี Demand จากช่วงฤดูหนาวรออยู่ แต่หากพ้นฤดูหนาวไปแล้วราคาน้ำมันและค่าการกลั่นยังไม่ฟื้นตัวกลับขึ้นไป ก็มีโอกาสที่ราคาน้ำมันดิบจะลดลงไปต่ำกว่า 90 ดอลลาร์
“ราคาน้ำมันที่ลดลงทำให้กำไรของหุ้นพลังงานน่าจะพีคแล้วในไตรมาส 2 ส่วนไตรมาส 3 แม้ว่ากำไรจะอ่อนลง แต่กลุ่มพลังงานต้นน้ำอย่าง PTTEP น่าจะยังมีกำไรสูงราว 1.8-1.9 หมื่นล้านบาท เช่นเดียวกับหุ้นถ่านหินอย่าง BANPU น่าจะมีกำไรราว 1 หมื่นล้านบาท”
ส่วนหุ้นโรงกลั่นคาดว่ากำไรจะลดลงหนักจากผลขาดทุนสต๊อกน้ำมัน และค่าการกลั่นที่ลดลงแรง แต่เชื่อว่าจะยังมีกำไรอยู่บ้างก่อนจะฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาส 4
สำหรับผู้ค้าปลีกน้ำมันอย่าง OR และ PTG กำไรไตรมาส 2 จะออกมาสูงมาก หนุนจากมาร์จินที่ดีขึ้น และกำไรจากสต๊อกน้ำมัน ส่วนไตรมาส 3 น่าจะยังทรงตัวสูงได้ด้วยมาร์จินที่ดีหลังจากราคาน้ำมันลดลง แต่ในส่วนของ OR อาจถูกชดเชยไปด้วยผลขาดทุนสต๊อกน้ำมัน
ขณะที่กลุ่มปิโตรเคมีน่าจะแย่ต่อเนื่อง เพราะส่วนต่างราคาลดลง และมีกำลังการผลิตใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรมอีก 4 ล้านตัน หรือราว 5% ของตลาด กดดันให้ส่วนต่างราคาลดลงมาถึงระดับต้นทุนเงินสด
ในระยะสั้น เรากลับมาเชียร์หุ้นค้าปลีกน้ำมัน ด้วยกำไรไตรมาส 2 ที่เด่น และราคาน้ำมันที่ลดลง ส่วน PTTEP เราปรับลดมุมมองลง จากกำไรที่พีคไปแล้ว แต่เชิงพื้นฐานยังดีอยู่ ขณะที่การอ่อนตัวของโรงกลั่นเป็นจุดที่น่าทยอยสะสม แม้แนวโน้มกำไรไตรมาส 3 จะแย่ แต่จะเห็นการฟื้นตัวในไตรมาส 4
“กลยุทธ์การลงทุนหุ้นพลังงานตอนนี้เป็นการเทรดไปตามสถานการณ์ในแต่ละช่วง เล่นยาวไม่ได้เพราะความเสี่ยงเยอะ เราไม่รู้ว่าจะเกิด Recession เมื่อใด เพราะหากเกิดจริง ราคาหุ้นมีโอกาสจะหายไปได้ถึงครึ่งหนึ่ง”
ด้านสำนักข่าว CNBC รายงานว่า โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยืนยันว่าจะควบคุมราคาน้ำมันภายในประเทศให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป หลังกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และประเทศพันธมิตรที่นำโดยรัสเซียหรือ OPEC+ มีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันในเดือนกันยายนที่ 100,000 บาร์เรลต่อวัน
ด้าน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมีในไตรมาส 2/65 รวมอยู่ที่ 1.36 แสนล้านบาท เติบโต 42% จากไตรมาสแรก และ 41% จากปีก่อน นับเป็นการเติบโตจากงวดเดียวกันของปีก่อนติดต่อกัน 7 ไตรมาส
โดยผลประกอบการของหุ้นพลังงานต้นน้ำและโรงกลั่นจะโดดเด่น จากการที่หลายบริษัททำสถิติสูงสุดใหม่รายไตรมาส หนุนจากราคาขายที่เพิ่มขึ้นจากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน
ทั้งนี้ หุ้นปิโตรเคมีจะถูกกดดันจากต้นทุนวัตถุดิบ การแพร่ระบาดของโควิด และ Zero-COVID Policy ของจีน รวมทั้งกำลังผลิตใหม่เข้าสู่ตลาด
ผลประกอบการไตรมาส 2 อาจเป็นจุดสูงสุดของปี โดยราคาพลังงานตั้งแต่ต้นไตรมาส 3 โดยเฉพาะน้ำมันและค่าการกลั่นเริ่มลดลง ทำให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 3 ของโรงกลั่นจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า และมีความเสี่ยงขาดทุนสต๊อก อย่างไรก็ตาม คาดกลุ่มต้นน้ำจะยังรักษาฐานกำไรที่ดีไว้ได้ เพราะราคาขายจริงจะลดลงช้ากว่าราคาน้ำมันดิบโลก และไม่มีขาดทุนสต๊อก
สำหรับแนวโน้มช่วง 3 เดือนข้างหน้า ผู้ผลิตถ่านหินและก๊าซธรรมชาติดูดีกว่าผู้ผลิตน้ำมัน เพราะได้ประโยชน์จากความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและชาติตะวันตกมากกว่า และโอกาสถูกแทรกแซงจากนโยบายประชานิยมต่ำกว่า
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP