×

ราคาน้ำมันกดดันเงินเฟ้อเดือน ก.พ. พุ่ง 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี

04.03.2022
  • LOADING...
ราคาน้ำมันกดดันเงินเฟ้อเดือน ก.พ. พุ่ง 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี

กระทรวงพาณิชย์เผยตัวเลขเงินเฟ้อเดือนกุมภาพันธ์พุ่ง 5.28% สูงสุดในรอบ 13 ปี ตามราคาพลังงานโลก เล็งปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อในปีนี้ใหม่หลังวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนส่อเค้ายืดเยื้อ

 

รณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) ของไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 เท่ากับ 104.10 สูงขึ้น 5.28% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และสูงขึ้น 106% จากเดือนมกราคม 2565 ซึ่งถือเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากปี 2552 ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐาน (หักอาหารสดและพลังงานออก) สูงขึ้น 1.80% และสูงขึ้น 0.52% จากเดือนมกราคม 2565 โดยสาเหตุหลักเกิดจากสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเงินเฟ้อ 

 

ผอ.สนค. กล่าวว่า ราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้น 29.22% จาก 19.22% โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิง และค่ากระแสไฟฟ้าที่ปรับสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงราคาสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปี 2564 สูงขึ้น 4.51% จาก 2.39% ในเดือนก่อนหน้า เช่น เนื้อสัตว์, ไข่ไก่, ผักสด, อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน และเครื่องประกอบอาหาร ซึ่งปรับสูงขึ้นตามต้นทุนการผลิตและราคาวัตถุดิบที่แพงขึ้น นอกจากนี้ ส่วนหนึ่งยังมีสาเหตุจากฐานราคาในเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ต่ำที่สุดในรอบปี 2564 

 

“หากราคาน้ำมันยังสูงต่อเนื่องและสูงเฉลี่ยเกิน 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จะมีโอกาสที่เงินเฟ้อในช่วงต่อจากนี้จะอยู่ที่ระดับ 4-5% ได้ต่อ เพราะน้ำมันคิดเป็นสัดส่วนถึง 62.26% ในการคำนวณเงินเฟ้อ ทั้งนี้ยังคงต้องติดตามเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ว่าจะยืดเยื้อและส่งผลต่อราคาพลังงานและวัตถุดิบโลกเพียงใด โดยกระทรวงพาณิชย์จะประเมินสถานการณ์และปรับตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อให้มีความเหมาะสมในเดือนมีนาคม 2565” รณรงค์กล่าว

 

อย่างไรก็ดี รณรงค์กล่าวว่า แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนนี้จะปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก แต่ยังมีเครื่องชี้วัดเศรษฐกิจอื่นที่ส่งสัญญาณว่าเศรษฐกิจของไทยปรับตัวดีขึ้น ได้แก่ ยอดการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม, ปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่, ปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์, รายได้เกษตรกร, ยอดการจัดเก็บภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ และการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งเครื่องชี้วัดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจของไทยกำลังขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ดี ซึ่งจะเป็นการสร้างรายได้และเพิ่มกำลังซื้อให้กับภาคธุรกิจและประชาชนได้ในภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน

 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมีนาคม 2565 มองว่าจะยังคงอยู่ในระดับสูง ตามราคาพลังงานที่ยังสูง (น้ำมันเชื้อเพลิงและค่ากระแสไฟฟ้า) เมื่อเทียบกับปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นได้เช่นกัน รวมทั้งสินค้าในกลุ่มอาหารสำเร็จรูปและเครื่องประกอบอาหารเริ่มปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับฐานราคาในช่วงต้นปี 2564 ค่อนข้างต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นได้อีกทาง

 

อย่างไรก็ตาม สินค้าที่เริ่มปรับตัวลดลง อาทิ กลุ่มอาหารสด โดยเฉพาะเนื้อสุกร, ผักสด, ผลไม้ รวมทั้งมาตรการภาครัฐในรูปแบบต่างๆ ที่คาดว่าจะมีอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน จะส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในระดับที่เหมาะสม ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่าเงินเฟ้อในปี 2565 ยังคงมีความเสี่ยงและเคลื่อนไหวในช่วงกว้าง ซึ่งกระทรวงจะมีการทบทวนตัวเลขคาดการณ์เงินเฟ้อจากเดิมที่มองไว้ในกรอบ 0.7-2.4% และมีค่ากลางที่ 1.5% ให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์มากขึ้นในเดือนมีนาคม 2565

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising