ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรม อย่าถามเลยว่าน้ำมันจะรั่วลงทะเลหรือไม่ เพราะคำถามจริงๆ คือ ‘มันจะรั่วลงสู่ทะเลเมื่อไร’ ต่างหาก
THE STANDARD รวบรวมสถิติน้ำมันรั่วไหลลงทะเลไทยในรอบ 26 ปีที่ผ่านมา พบว่าเกิดขึ้นรวมกว่า 176 ครั้ง ยังไม่นับบางปีที่ไม่มีข้อมูลบันทึกไว้
ส่วนกรมควบคุมมลพิษ ได้จำแนกเขตความเสี่ยงที่น้ำมันจะรั่วไหลในน่านน้ำทะเลไทยออกเป็น 4 เขต ได้แก่ เขตความเสี่ยงสูงมาก เขตความเสี่ยงสูง เขตความเสี่ยงสูงปานกลาง และเขตความเสี่ยงต่ำ โดยเขตความเสี่ยงสูงมาก ได้แก่ บริเวณชายฝั่งทะเลด้านตะวันออก ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง เพราะเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม มีกิจกรรมการขนถ่ายน้ำมันทั้งบริเวณท่าเทียบเรือและกลางทะเล
ดูเหมือนว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องรู้ดีอยู่แล้วว่า เหตุการณ์น้ำมันรั่วไหลลงทะเลมันต้องเกิดขึ้น ไม่อยากจะคิดเลยว่าหลายฝ่ายที่รับผิดชอบมองมันเป็นเรื่องปกติ เพราะว่าหลายครั้งที่น้ำมันรั่วลงทะเลจำนวนไม่มากก็ไม่ปรากฏเป็นข่าวให้เห็น อาจเป็นเพราะมันเกิดขึ้นกลางทะเลมีคนรู้เห็นน้อย และไม่ได้ลอยเข้ามาที่ชายหาดทำให้ไม่มีประชาชนได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก แต่สิ่งแวดล้อมทางทะเลไม่รู้เสียหายไปขนาดไหนแล้ว
จนเหตุการณ์ล่าสุดประเดิมต้นปี 2565 เกิดขึ้นที่จังหวัดระยอง พื้นที่ในเขตความเสี่ยงสูงมากที่น้ำมันจะรั่วไหลตามที่กรมควบคุมมลพิษเขาแบ่งเขตไว้นั่นแหละ
โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เวลาประมาณ 22.00 น. สำนักงานท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด (สทร.) ได้รับแจ้งเหตุน้ำมันดิบรั่วไหลบริเวณทุ่นรับน้ำมันดิบกลางทะเลของบริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) ซึ่งอยู่ห่างจากชายฝั่งท่าเรือมาบตาพุด จังหวัดระยอง ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 20 กิโลเมตร
คาดการณ์ว่าเวลาที่เกิดเหตุน้ำมันรั่วคือประมาณช่วง 21.00 น. เวลาประมาณ 24.00 น. เจ้าหน้าที่ทางเรือสามารถหยุดการรั่วไหลของน้ำมันได้ ส่วนสาเหตุที่ไม่สามารถหาจุดที่น้ำมันดิบรั่วไหลได้ทันทีนั้น เนื่องจากท่อดังกล่าวมีอายุการใช้งานมาแล้วถึง 26 ปี จึงไม่มีเซ็นเซอร์บอกจุดที่มีการรั่วไหลเหมือนกับท่อรุ่นใหม่
ซึ่งในตอนแรกบริษัทได้ประเมินปริมาณการรั่วไหลของน้ำมันแบบ Worst Case หรือแบบเสียหายมากที่สุดคือ 4 แสนลิตร ต่อมาการคำนวณปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลก็เปลี่ยนไป ค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ จาก 4 แสนลิตร เปลี่ยนเป็น 1.6 แสนลิตร และประเมินล่าสุดเหลือ 2-5 หมื่นลิตร ตามแถลงการณ์ของบริษัทเจ้าของท่อน้ำมัน
ปัญหาคือปริมาณน้ำมันดิบที่รั่วไหลออกมามันมีจำนวนเท่าใดกันแน่ แม้จะยืนยันว่ามีการใช้หลักการทางวิศวกรรม (Pressure Balance) เข้ามาคำนวณปริมาณน้ำมันที่รั่วไหล แต่ข้อมูลทั้งหมดก็ยังมาจากฝ่ายบริษัทเอกชนเป็นหลัก ล่าสุดก็มีการตั้งคณะทำงานเพื่อสืบค้นปริมาณการรั่วไหลที่แท้จริง ซึ่งก็ต้องรอผลการตรวจสอบกันต่อไป
อีกปัญหาคือมาตรฐานในการกำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งตอนนี้มีการใช้สารเคมีดิสเพอร์แซนต์ (Dispersant) เพื่อทำให้น้ำมันแตกตัวและจมลงไปในทะเล ท่ามกลางการตั้งคำถามจากนักวิชาการว่านี่คือวิธีการที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่านี่คือวิธีการที่ไม่ดีนักแต่จำเป็นต้องใช้ เนื่องจากวิธีการที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุดคือใช้บูมล้อมคราบน้ำมันแล้วดูดคราบน้ำมันออกไป แต่ปัญหามีอยู่ว่าจะต้องใช้บูมที่มีความยาว 40 กิโลเมตรในการล้อมคราบน้ำมัน แต่ข้อเท็จจริงที่หน่วยงานภาครัฐออกมายอมรับก็คือบริเวณนั้นต่อให้ระดมบูมเต็มที่แล้วก็มีความยาวเพียง 3 กิโลเมตรเท่านั้น ปัญหานี้สะท้อนว่าเราไม่เคยมีแผนการรองรับกรณีน้ำมันรั่วลงทะเลที่ดีเลย
อีกคำถามใหญ่ที่ตามมาคือเรื่องของการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น สำหรับประเทศไทยเราเคยมีบทเรียนมาแล้วเมื่อปี 2556 เคยเกิดเหตุการณ์ท่อน้ำมันดิบขนาด 16 นิ้วของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ ปตท. เกิดรั่วไหลบริเวณทุ่นรับน้ำมัน ส่งผลให้น้ำมันดิบ 5 หมื่นลิตรไหลลงทะเล ซึ่งยังมีข้อสงสัยว่าปริมาณน้ำมันที่รั่วมันคือ 5 หมื่นลิตรหรือมากกว่านั้น แต่ที่สุดคลื่นได้พัดพาคราบน้ำมันเข้าสู่บริเวณชายหาดอ่าวพร้าว เกาะเสม็ด จังหวัดระยอง สร้างความเสียหายโดยตรงตามมามากมาย เพราะอ่าวพร้าวเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งการทำประมง แม้ครั้งนั้นจะมีการเร่งแก้ไขปัญหาและเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบแต่ก็ยังไม่ทั่วถึงและเป็นธรรมเท่าที่ควร จนทำให้กลุ่มประมงพื้นบ้าน กลุ่มผู้ค้า ผู้ประกอบการ 400 คนที่ได้รับผลกระทบ ยื่นฟ้องต่อศาลจังหวัดระยอง หลังต่อสู้นาน 2 ปี ศาลปกครองสั่งให้เอกชนจ่ายชดใช้ชาวบ้าน 203 คน ให้ทำโครงการฟื้นฟู 4 โครงการ และติดตามผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมนาน 2 ปี
แต่ว่าการเยีวยาก็ไม่คุ้มกับความเสียหายของชาวบ้าน โดยหลังเหตุการณ์น้ำมันรั่วปี 2556 ผ่านไป 4 ปี มีการจัดงานเสวนาโดยสำนักข่าวสิ่งแวดล้อมเพื่อถอดบทเรียนเรื่องนี้ พบว่าชาวประมงบางคนต้องหยุดทำประมง ออกไปรับจ้างเรือใหญ่ ออกไปเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย ปั่นสามล้อ หรือบางส่วนยังคงจับปลาในพื้นที่ แต่ปลาก็ผิดปกติ ตาบอด มีเนื้องอก เคยหรือกะปิที่เคยมีชื่อเสียงของระยองก็แทบจะไม่มีแล้ว สิ่งเหล่านี้คือผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่วไหลลงทะเลแม้จะผ่านไป 4 ปีแล้วในช่วงนั้น แต่ความเสียหายยังคงอยู่กับคนในพื้นที่
สำหรับการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายส่วนใหญ่ยังมีเพียงการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายของบุคคลและทรัพย์สิน ยังไม่มีการฟ้องร้องเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมโดยตรง ขณะที่ในสหภาพยุโรปเขามีกฎระเบียบว่าด้วยความรับผิดทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Liability Directive) ซึ่งแยกออกจากความผิดที่เกี่ยวกับความเสียหายต่อบุคคลหรือทรัพย์สิน
หรือตัวอย่างใกล้ประเทศไทยเข้ามาหน่อยคือเมื่อปี 2560 ทางการอินโดนีเซียได้ยื่นฟ้องต่อศาลในกรุงจาการ์ตา เรียกร้องค่าเสียหายจาก ปตท. เป็นเงินจำนวน 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ฐานที่ทำน้ำมันรั่วลงทะเลติมอร์เมื่อปี 2552 สร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะที่เหตุการณ์น้ำมั่นรั่วลงทะเลไทยล่าสุดในปี 2565 ที่จังหวัดระยอง วราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยืนยันว่าจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายในทุกมิติจากเอกชนเจ้าของท่อน้ำมัน และบอกให้บริษัทต้องมีกองทุนเพื่อรับผิดชอบปัญหาในระยะยาว ซึ่งจะต้องจับตาดูกันต่อไปว่าจะเกิดขึ้นได้จริงและมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน
เหตุการณ์น้ำมันรั่วในไทยจะไม่หมดไปอย่างแน่นอน ตราบใดที่ยังมีการขนถ่ายน้ำมันอยู่กลางทะเล และมีโครงข่ายท่อน้ำมันในทะเลที่มีการวางมาตั้งแต่ปี 2520 และทุกครั้งที่เกิดเหตุก็ตื่นตัวเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ไม่มีแผนสำหรับแก้ปัญหาระยะยาวที่ชัดเจน ความเสียหายต่อชีวิตและเศรษฐกิจของคนในพื้นที่ก็มักได้รับการเยียวยาไม่คุ้มค่า ส่วนความเสียหายทางสิ่งแวดล้อมที่แทบจะประเมินค่าไม่ได้ก็ไม่ได้รับการพูดถึงมากนักจากผู้รับผิดชอบ
น้ำมันรั่วลงทะเลไทย กลายเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำๆ แต่ไม่เคยเป็นบทเรียนนำไปสู่การป้องกันและแก้ไขในระยะยาวได้เลย