สกนช. เผย กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงติดลบต่อเนื่องตลอด 4 ปี หลังอุดหนุนราคาน้ำมัน ทั่วโลกเผชิญวิกฤตสงครามรัสเซีย-ยูเครน โควิด ภูมิรัฐศาสตร์ จนถึงขณะนี้กองทุนยังอุดหนุนน้ำมันดีเซล 40 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้เงินไหลออก 829 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้กองทุนขาดสภาพคล่องหนัก ติดลบ 111,663 ล้านบาท เผยเตรียมทยอยจ่ายเงินต้นให้สถาบันการเงินหลังเป็นหนี้ 105,333 ล้านบาท เดือนพฤศจิกายนนี้
วิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า เพื่อตรึงราคาขายปลีกดีเซลไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 3 เดือน ถึงสิ้นเดือนตุลาคม 2567 และยังเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่กำหนดไว้ว่าจะต้องไม่ชดเชยเกิน 2 บาทต่อลิตร ส่งผลให้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงชดเชยราคาน้ำมันดีเซลอยู่ที่ 40 สตางค์ต่อลิตร คิดเป็นรายจ่ายไหลออกประมาณวันละ 26.73 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 829 ล้านบาท
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
ขณะที่มีรายรับประมาณวันละ 88.15 ล้านบาท หรือเดือนละประมาณ 2,733 ล้านบาท คิดเป็นเงินคงเหลือเดือนละประมาณ 1,900 ล้านบาท
โดยยืนยันว่าแม้เงินไหลออก สถานะกองทุนก็ยังมีเงินเพียงพอที่จะจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับสถาบันการเงินที่เคยกู้ยืมมาก่อนหน้านี้ได้
อย่างไรก็ตาม วิศักดิ์ระบุอีกว่า “ในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ กองทุนจะถึงกำหนดเวลาทยอยจ่ายคืนเงินต้นที่กองทุนกู้เพื่อนำมารักษาเสถียรภาพราคาเชื้อเพลิงในประเทศก้อนแรกกว่า 1,000 ล้านบาท และดอกเบี้ยประมาณ 150-200 ล้านบาท
“ในส่วนนี้มาจากวงเงินกู้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ที่ผ่อนผันให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของ สกนช. พ.ศ. 2565 ซึ่งเมื่อหักลบรายรับกับรายจ่ายแต่ละเดือนแล้ว ยืนยันว่ากองทุนยังมีเงินเพียงพอสำหรับชำระคืนหนี้เงินต้นก้อนแรกตามกำหนดแน่นอน” วิศักดิ์กล่าว
กองทุนติดลบอ่วมแสนล้าน ต้องมีแผนชำระหนี้คงค้างและทยอยจ่ายคืนใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม หากดูจากผลการชดเชยราคาน้ำมันที่ผ่านมา ณ วันนี้ ฐานะกองทุนล่าสุด ณ วันที่ 28 กรกฎาคม 2567 ยังคงติดลบ 111,663 ล้านบาท แบ่งเป็น
- บัญชีน้ำมัน ติดลบ 64,066 ล้านบาท
- บัญชีก๊าซหุงต้ม ติดลบ 47,597 ล้านบาท
โดย สกนช. เองก็ได้วางแผนรับมือกับการชำระหนี้คงค้างในงวดถัดๆ ไป โดยตามข้อกำหนดใน 2 ปีแรกของเงินกู้อนุมัติให้สามารถชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้นได้ และต้องทยอยจ่ายคืนภายใน 5 ปี
หวังราคาน้ำมันตลาดโลกต้นปีหน้าอยู่ในระดับ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ขณะที่ราคาน้ำมันในช่วงต้นปี 2568 ที่อาจเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญในการเก็บเงินเข้ากองทุนนั้น ต้องยืนยันว่าหากอยู่ภายใต้สถานะราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่เคลื่อนไหวอยู่ในระดับไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือราคาน้ำมันสำเร็จรูปน้ำมันดีเซลตลาดสิงคโปร์อยู่ในระดับปัจจุบันประมาณ 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล กองทุนก็ยังมีเงินไหลเข้า และสามารถเก็บสะสมเพื่อจ่ายหนี้ได้
วิศักดิ์กล่าวอีกว่า เรื่องหนี้ที่ต้องจ่ายคืนจะเพิ่มขึ้นนั้น ปัจจุบันรัฐบาลยังไม่ได้มีทีท่าเคลื่อนไหวอะไร เนื่องจากยังเห็นว่ากลไกของกองทุนยังสามารถยืนได้
“แต่หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เงื่อนไขแรกที่ต้องนำมาพิจารณาคือการลดการชดเชยดีเซลลงไป เนื่องจากเป็นปัจจัยให้เงินไหลออกจากกองทุนมากที่สุด และเชื่อว่ากระทรวงก็จะมีแผนงานเพื่อออกมาดูแลต่อไป”
อย่างไรก็ตาม สกนช. มีหน้าที่ทำรูปแบบให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงให้เกิดความชัดเจนมากขึ้น ขณะที่ขั้นตอนการลดการชดเชยนั้น พยายามจะทำให้น้อยลงกว่านี้ที่ชดเชยอยู่ 40 สตางค์ แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อนไปมากกว่าเดิม
“เรายึดแผนวิกฤตน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และ ครม. กำกับ หากกองทุนติดลบก็อนุมัติให้หาเงินกู้เพิ่ม แต่หากราคาน้ำมันยังไม่ขยับลงก็เปิดโอกาสให้เจรจากับกระทรวงการคลังในการช่วยลดภาษีเพิ่มเติม”
ห่วงภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ รอบใหม่กดดันหนัก
วิศักดิ์ระบุอีกว่า ที่ผ่านมามีการทำแบบนี้คือการลดภาษีสรรพสามิต โดยหารืออย่างชัดเจนและเป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน ในมุมของนโยบายเชื่อว่ารัฐบาลจะเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปัจจุบันรัฐบาลมองว่าเรายังสามารถยืนอยู่ได้ จึงยังอยากให้ยืนด้วยตัวเองก่อน วันนี้ยังอยู่แบบนี้ แต่หากในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นก็ต้องเป็นไปตามกลไก” วิศักดิ์กล่าว
แต่หากสิ้นสุดกำหนดมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซล วันที่ 31 ตุลาคม 2567 แล้ว ต้องติดตามสถานการณ์ราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกช่วงปลายปีว่าจะมีผลกระทบต่อราคาน้ำมันในประเทศหรือไม่ เนื่องจากเป็นช่วงที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นตามฤดูกาลที่เข้าสู่ฤดูหนาวในต่างประเทศ ทำให้มีความต้องการเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น
ประกอบกับปัญหาเรื่องภูมิรัฐศาสตร์และสงครามการค้าระหว่างจีน-สหรัฐฯ ระลอกใหม่ที่จะมีต่อราคาน้ำมัน จะมีผลต่อการพิจารณามาตรการดูแลราคาเชื้อเพลิงในประเทศเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนค่าครองชีพของประชาชนอย่างไร ซึ่งขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาล
วิศักดิ์ย้ำว่า แม้ตนจะหมดวาระ 4 ปีในฐานะผู้อำนวยการกองทุนเร็วๆ นี้ ผู้อำนวยการกองทุนคนต่อไปต้องเข้ามารับช่วงการทำหน้าที่เร่งฟื้นฟูสภาพคล่องของกองทุนให้กระเตื้องขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ค้าน้ำมัน ตลอดจนสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ต่อไป คาดว่าภายในเดือนกันยายน-ตุลาคม 2567 จะได้ชื่อผู้อำนวยการคนใหม่
หนี้ค่าไฟ-ค่าน้ำมันอ่วม 2 แสนล้านบาท ถึงเวลาหรือยังที่รัฐต้องทบทวนนโยบายอุ้มราคาพลังงาน?
ด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า รัฐบาลไทยมีมาตรการอุดหนุนราคาน้ำมันและค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาค่าใช้จ่ายประชาชน ซึ่งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นเครื่องมือหลักในการพยุงราคาพลังงานในไทยมานานหลายปี แต่เมื่อราคาพลังงานโลกปรับสูงขึ้นไม่หยุด ทำให้ภาระหนี้ของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงใกล้ถึงกรอบเพดานกฎหมายกำหนด
ท่ามกลางภาระต้นทุนการดำเนินการจากการอุดหนุนพลังงานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ที่อีกด้านก็มีผลต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่ลดลง แต่หากมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ นี่อาจเป็นจังหวะเวลาที่ภาครัฐจะทบทวนทยอยปรับลดการอุดหนุนราคาพลังงานลงหรือไม่
โดยอาจพิจารณาสนับสนุนเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่ามีความจำเป็น อาทิ กลุ่มเปราะบาง เพื่อที่ภาครัฐจะได้ฟื้นฟูฐานะทางการเงินสำหรับใช้รับมือในกรณีหากเกิดวิกฤตในอนาคต (Buffer) ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานและสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนของภาคเอกชนมากขึ้น เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนพลังงานได้อย่างยั่งยืน
ขณะที่ คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน เคยออกมาระบุว่า ขณะนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีภาระหนี้จากการอุดหนุนราคาพลังงานกว่าแสนล้านบาทแล้ว ไม่ต่างจากหนี้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่แบกค่า Ft กว่า 130,000 ล้านบาท
“รวมๆ แล้วทะลุ 220,000 ล้านบาท”
“ดังนั้น หากรัฐบาลไม่ปรับเปลี่ยนนโยบายด้านพลังงานก็จะทำให้หนี้สินดังกล่าวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีหนี้จากการอุดหนุนราคาน้ำมันดีเซลสูงถึงเดือนละ 9,900 ล้านบาท” คุรุจิตกล่าว
อ้างอิง: