ทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แม้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนกันยายน 2564 จะหดตัวลง 1.28% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) มาอยู่ที่ระดับ 93.72 แต่ปรับตัวดีขึ้น 7.49% จากเดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 87.19 หลังสถานการณ์การติดเชื้อโควิดของแรงงานในสถานประกอบการช่วงเดือนกันยายนมีทิศทางดีขึ้น
สะท้อนจากอัตราการใช้กำลังการผลิตเดือนกันยายนอยู่ที่ 61.98% เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอยู่ที่ 57.06% ทำให้ดัชนีแรงงานอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 3.99% โดยดัชนีแรงงานในอุตสาหกรรมสำคัญหลายกลุ่มยังคงขยายตัวได้ดี เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์โต 10.85%, แปรรูปผักผลไม้โต 5.86%, เครื่องปรับอากาศโต 9.76%, ยางล้อโต 3.42%”
นอกจากนี้ ดัชนีการส่งสินค้าเพิ่มขึ้น 6.72% การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำ อาวุธ รถถัง และอากาศยาน) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 17.90% ประกอบกับภาครัฐมีแผนเปิดประเทศ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการและนักลงทุน ส่งผลให้ภาพรวม MPI 9 เดือนของปีนี้ (มกราคม-กันยายน 2564) ขยายตัวเฉลี่ย 6.10% จากสถานการณ์การระบาดของโควิดเริ่มคลี่คลาย
“สศอ. อยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมัน ทิศทางค่าเงินบาทที่ผันผวน และข้อมูลต่างๆ รอบด้าน เพื่อประกอบการพิจารณาปรับคาดการณ์ MPI ปี 2564 ทั้งปีใหม่อีกครั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ จากปัจจุบันคาด MPI ปีนี้อยู่ที่ 3-4% และผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ภาคอุตสาหกรรมคาดอยู่ที่ 3-4%”
ทองชัยกล่าวเพิ่มเติมว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยเริ่มคลี่คลาย จากจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ลดลง และภาครัฐเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนและแรงงานในภาคอุตสาหกรรมได้มากขึ้น จนสามารถคลายล็อกกิจกรรมเศรษฐกิจได้ดีขึ้น อีกทั้งยังมีการเปิดรับนักท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน มีมาตรการเร่งใช้จ่ายลงทุนภาครัฐ มาตรการเพิ่มกำลังซื้อและลดค่าครองชีพของภาครัฐ ที่เชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้
นอกจากนี้ อานิสงส์ของเงินบาทที่อ่อนค่าจะส่งผลต่อดีต่อสินค้าส่งออก โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ใช้วัตถุดิบในประเทศเป็นหลัก เช่น แป้งมันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์ยาง น้ำตาล อาหาร เสื้อผ้า ชิ้นส่วนยานยนต์
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ใช้ในอุตสาหกรรมรถยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เป็นปัญหาที่จะกระทบต่อการผลิตในช่วงเวลาข้างหน้า เพราะการระบาดของเชื้อไวรัสโควิดทั้งในและต่างประเทศยังส่งผลต่อการขาดแคลนชิปและชิ้นส่วนรถยนต์บางรายการ แต่มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยโรงงานผลิตรถยนต์ได้รับชิปและชิ้นส่วนรถยนต์มากขึ้น
ขณะเดียวกัน สถาบันการเงินก็เริ่มผ่อนคลายความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อ ทำให้คาดว่าปีนี้ยอดขายรถยนต์ในประเทศน่าจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 750,000 คัน ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ขยายตัวต่อเนื่องตามกัน
ส่วนผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ แต่อาจส่งผลกระทบด้านโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงวัตถุดิบทางการเกษตรในระยะถัดไป
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP