เมื่อวานนี้ (6 สิงหาคม) ที่ประชุมทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ (สขร.) ในส่วนของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร สาขาสังคม การบริหาราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย คณะ 3 ได้มีการพิจารณาการเปิดเผยบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี
โดยมีผู้อุทธรณ์ขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองระดับสูงฝ่ายบริหารจำนวน 2 ท่านดังกล่าว กรณีเข้ารับตำแหน่งเมื่อปี พ.ศ. 2562 แต่สำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ปฏิเสธการเปิดเผย โดยให้เหตุผลว่าไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายให้อำนาจคณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ที่ยื่นไว้เป็นหลักฐาน ตามมาตรา 105 วรรค 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561
คณะกรรมการวินิจฉัยฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้บัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจะยื่นไว้เพื่อเป็นหลักฐานก็ตาม แต่จุดมุ่งหมายสำคัญที่กำหนดให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินก็เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการตรวจสอบความโปร่งใสในการบริหารราชการแผ่นดินตามหลักการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
ตลอดจนเป็นการป้องกันปัญหาการทุจริตประพฤติมิชอบและการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนกับผลประโยชน์ส่วนรวม ข้อมูลข่าวสารดังกล่าวจึงเป็นข้อมูลข่าวสารสาธารณะที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. และสำนักงาน ป.ป.ช. มีหน้าที่โดยตรงในการเปิดเผยให้ประชาชนได้รับทราบตามมาตรา 243 (3) ประกอบมาตรา 59 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ประกอบกับประกาศคณะกรรมการ ป.ป.ช. เรื่อง หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน พ.ศ. 2561 ข้อ 7 กำหนดว่า ภายหลังจากพ้นกำหนดระยะเวลาการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน หากมีการร้องขอเป็นหนังสือเพื่อขอตรวจดูบัญชีทรัพย์สินและหนี้สิน ให้สำนักงาน ป.ป.ช. ที่ครอบครองดูแลเอกสารดังกล่าวจัดให้ผู้ร้องขอเข้าตรวจดูสำเนาบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินได้ แต่มิให้คัดถ่ายสำเนาเอกสาร ดังนั้นข้อมูลข่าวสารดังกล่าวเปิดเผยโดยให้ผู้อุทธรณ์เข้าตรวจดูได้ตามคำร้องขอ
ด้าน นิวัติไชย เกษมมงคล รองเลขาธิการกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในฐานะโฆษก ป.ป.ช. คาดว่า พล.ต.อ. วัชรพล ประสารราชกิจ ประธาน ป.ป.ช. จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในที่ประชุมว่าจะต้องเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ. ประยุทธ์ และ วิษณุ หรือไม่ โดยต้องพิจารณาข้อกฎหมายที่คณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ขอให้ ป.ป.ช. เปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้น เป็นการยึดกฎหมายฉบับใด มีกฎหมาย ป.ป.ช. รองรับหรือไม่ ถ้า ป.ป.ช. ไปเปิดเผยโดยไม่มีข้อกฎหมายใดรองรับ พล.อ. ประยุทธ์ และ วิษณุ อาจฟ้อง ป.ป.ช. ผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ได้ ว่าไม่มีอำนาจเปิดเผยแต่กลับนำไปเปิดเผย พ.ร.บ. ข้อมูลข่าวสารจะคุ้มครองและรับผิดชอบแทน ป.ป.ช. อย่างไร
นิวัติไชย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารเคยมีคำสั่งให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารเช่นกัน บางกรณี ป.ป.ช. เปิดเผยให้ แต่บางกรณีก็ไม่เปิดเผย ต้องดูเป็นข้อมูลเปิดเผยได้หรือไม่ กรณี พล.อ. ประยุทธ์ และ วิษณุ ต้องพิจารณาว่า ถ้าเป็นการยื่นบัญชีทรัพย์สินตามมาตรา 102 พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ที่ให้ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช. กรณีเข้ารับตำแหน่ง พ้นตำแหน่ง และพ้นจากตำแหน่ง 1 ปี ก็ต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ
แต่ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. มาตรา 105 มีเงื่อนไขว่า กรณียื่นบัญชีทรัพย์สิน ถ้าผู้ยื่นพ้นจากตำแหน่งและได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่ภายใน 1 เดือน ผู้นั้นไม่ต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินกรณีเข้ารับตำแหน่งใหม่ แต่ไม่ห้ามหากผู้นั้นจะยื่นบัญชีทรัพย์สินไว้เป็นหลักฐาน พล.อ. ประยุทธ์ เคยพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลังเลือกตั้งในช่วงเวลา 1 เดือน จึงไม่เข้าข่ายต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินรอบใหม่ แต่หาก พล.อ. ประยุทธ์ ยื่นมา จะถือเป็นการยื่นเพื่อข้อมูลหลักฐานตามมาตรา 105 ถือเป็นข้อมูลส่วนตัวที่ ป.ป.ช. จะเก็บข้อมูลไว้เท่านั้น แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ ส่วนการวิจารณ์ ป.ป.ช. ปกปิดข้อมูลทรัพย์สินช่วยนายกรัฐมนตรีนั้น ขึ้นอยู่กับมุมมองข้อกฎหมายแต่ละคน เรื่องนี้ต้องรอที่ประชุม ป.ป.ช. พิจารณาว่าจะเห็นอย่างไร