วันนี้ (6 กรกฎาคม) สมาคมอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน (ส.อ.ป.) โพสต์ข้อความผ่านแฟนเพจ ระบุว่า
‘บ้านของเรา โรงงานของเรา ปลอดภัยจากสไตรีนโมโนเมอร์หรือไม่’
เพื่อให้เกิดความชัดเจนเชิงรูปธรรม มีตัวเลขมาแสดง ด้วยแบบจำลองมาตรฐานที่เชื่อถือได้ ส.อ.ป. โดย ขรรชัย เกรียงไกรอุดม และทีมงานคุณภาพของบริษัท ซีคอท จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและอาชีวอนามัยประเมินคุณภาพอากาศ
จากการเกิดเพลิงไหม้สารสไตรีนที่โรงงานหมิงตี้ เคมีคอล ในซอยกิ่งแก้ว 21 อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวานนี้ (5 กรกฎาคม) ด้วยเงื่อนไขที่กำหนดว่าสไตรีนโมโนเมอร์ไหล 100 ตัน (ภายใน 1 ชั่วโมง) เพื่อประเมินว่าสภาพคุณภาพอากาศจะเป็นเช่นใด ในระยะทางต่างๆ โดยใช้ค่ามาตรฐาน AEGL ของ US.EPA ซึ่งกรมควบคุมมลพิษก็ใช้ค่านี้เช่นกัน) มาดูว่าผลปรากฏเป็นอย่างไรบ้าง (Acute Exposure Guideline Level: AEGL) ในภาพ วงกลมสีส้มอ่อนๆ คืออาณาเขตโดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรจากโรงงานต้นเหตุเพลิงไหม้ จะเห็นว่า
1. พื้นที่สีแดง คือ Threat Zone อันตรายสุด บริเวณนี้คือบริเวณที่ห่างจากโรงงานนี้ 2.2 กิโลเมตร ค่าประเมินจากแบบจำลองมีค่าสไตรีน 1,100 ppm คิดเป็นค่า AEGL-3 แปลความว่า ประชาชนทั่วไป (จึงไม่ต้องพูดถึงกลุ่มเสี่ยงเช่นเด็กและผู้สูงอายุ) ‘could experience life-threatening health effects or death’ นั่นคือเสี่ยงสูงมาก บ้านใครอยู่ในระยะทางนี้ ก็ต้องอพยพอย่างเดียว และโรงงานไหนอยู่ในระยะนี้ และตรวจสอบค่าให้ดีก่อนกลับเข้ามาทำงาน
2. พื้นที่สีส้ม ก็คือพื้นที่ห่างจากจุดเกิดเหตุ 4.7 กิโลเมตร เป็นพื้นที่ตกที่ค่า AEGL-2 มีค่าประเมินสไตรีนในอากาศ 130 ppm ซึ่งโซนนี้มีความหมายว่า ประชาชนทั่วไป คนกลุ่มเสี่ยง คนอ่อนแอ จะเสี่ยงต่อสุขภาพร้ายแรงที่ร่างกายอาจไม่ดีกลับคืนมาเหมือนเดิมได้ หรืออาจลดทอนความสามารถในการหนีออกจากสถานการณ์นั้น ‘could experience irreversible or other serious, long-lastng adverse health effects or an impaired ability to escape.’
“มาถึงตรงนี้ บอกได้เลยว่าคนที่อยู่ในระยะ 5 กิโลเมตร ต้องตรวจสอบข้อมูลคุณภาพอากาศว่ามีสไตรีนในอากาศเท่าไร ปลอดภัยแล้วหรือไม่ ซึ่งกรมควบคุมมลพิษคือแหล่งที่เราพึ่งข้อมูลพวกนี้ได้”
3. พื้นที่สีเหลือง คือพื้นที่ที่ตกในค่า AEGL-1 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีค่าสไตรีนในอากาศ 20 ppm และคาดการณ์ได้ว่าประชาชนบริเวณนี้จะเสี่ยงต่ำ หรือพูดให้ฟังง่ายขึ้นคือบริเวณที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ แต่ประชาชนก็อาจรู้สึกได้ถึงความไม่สบาย (Notable Discomfort) หรือรู้สึกระคายเคือง (Irritation) เป็นต้น
“ทั้งนี้เมื่อไม่ได้สัมผัสสารนี้อาการพวกนี้ก็จะหายไป สำหรับบ้านใคร โรงงานใครอยู่คนละทิศกับในภาพที่แสดงก็ไม่ยาก ให้คิดว่าหากทิศทางลมมาทางบ้านเรา โรงงานเรา ระยะทางของโซนต่างๆ ก็เป็นตามที่แสดงไว้”
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ