×

ชาวเมืองรัฐโอไฮโอโอดชีวิตไม่เหมือนเดิม เปรียบเหตุรถไฟบรรทุกสารเคมีตกรางเป็นโศกนาฏกรรมเชอร์โนบิล 2.0

โดย THE STANDARD TEAM
18.02.2023
  • LOADING...

สำหรับชาวเมืองอีสต์ปาเลสไตน์อย่าง จอห์น และ ลิซา แฮมเนอร์ ชีวิตที่พวกเขาเคยรู้จักต้องหยุดชะงักลงเมื่อเวลา 20.55 น. ของวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 

 

วันนั้นเองที่รถไฟบรรทุกสารพิษเกิดอุบัติเหตุตกราง ซึ่งจุดเกิดเหตุอยู่ห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตรจากธุรกิจรถขนขยะที่พวกเขาสร้างขึ้นด้วยน้ำพักน้ำแรงจากลูกค้า 5 ราย จนเติบโตเป็นมากกว่า 7,000 รายในช่วงเวลา 18 ปี 

 

“มันทำลายชีวิตของเราจนหมดสิ้น” เขาบอกกับ BBC ในลานจอดรถ ซึ่งกลิ่นเหม็นของสารเคมีและกำมะถันจากเหตุการณ์รถไฟตกรางยังคงรุนแรง

 

“ตอนนี้ผมอยากออกไปจากที่นี่” เขากล่าวพร้อมกับกลั้นน้ำตา “เราจะย้ายที่อยู่ เราทำไม่ได้อีกแล้ว”

 

ดวงตาของจอห์น แฮมเนอร์บวมแดง ซึ่งเขาระบุว่าเป็นผลกระทบของสารเคมีที่รั่วไหล แต่เขาและภรรยาบอกกับ BBC ว่า บาดแผลใหญ่ของพวกเขานั้นมองไม่เห็น และเป็นบาดแผลทางจิตใจ

 

“ผมนอนไม่ค่อยหลับ ผมไปหาหมอมาแล้วสองครั้ง และกินยาคลายกังวล” เขากล่าว “นี่ไม่ใช่แค่การสูญเสียการทำมาหากิน มันแย่ยิ่งกว่านั้นเป็น 10 เท่า เราสร้างธุรกิจนี้ขึ้นมา”

 

เช่นเดียวกับสามีของเธอ ลิซา แฮมเนอร์บอกว่าเธอนอนไม่หลับทั้งคืน เพราะกังวลเกี่ยวกับธุรกิจและพนักงาน 10 คนของพวกเขา รวมถึงเมืองที่เธอใช้ชีวิตมา 20 ปี

 

ลูกค้าเก่าแก่หลายสิบรายได้บอกเลิกบริการเก็บขยะแล้ว และวางแผนที่จะย้ายออกจากอีสต์ปาเลสไตน์

 

“ฉันกลัวแทนคนที่อาศัยอยู่ที่นี่” เธอกล่าว “ฉันไม่รู้จักใครที่สามารถนอนหลับได้ เพราะมันมีหลายด้าน มันคือธุรกิจของคุณ มันคือสุขภาพของคุณและของเพื่อนๆ”

 

จอห์น แฮมเนอร์ยืนอยู่บนกองดินใกล้กับซากที่ไหม้เกรียมของตู้รถไฟจำนวนหลายตู้ ขณะที่เปรียบเหตุการณ์รถไฟตกรางกับโศกนาฏกรรมโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในยูเครนระเบิดเมื่อเดือนเมษายน 1986 

 

ไม่ใช่เขาคนเดียวที่คิดเช่นนั้น ชาวเมืองอีสต์ปาเลสไตน์อีกหลายคนบอกกับ BBC ว่า เหตุการณ์รถไฟตกรางเป็นจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของเมือง 

 

เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางและท้องถิ่นแนะนำให้ประชาชนดื่มน้ำบรรจุขวด ขณะที่แจ้งว่าการใช้ชีวิตในเมืองนั้นปลอดภัยแล้ว ซึ่งแย้งกับผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมที่แสดงความกังขาและระบุว่า การได้รับสารเคมีที่รั่วไหลออกจากตู้รถไฟที่ตกราง ซึ่งรวมถึงไวนิลคลอไรด์และบิวทิลอะคริเลตนั้น อาจส่งผลให้เกิดอาการต่างๆ อย่างคลื่นไส้ ไปจนถึงโรคร้ายอย่างมะเร็ง

 

“สำหรับเมืองนี้ นี่คือเพิร์ลฮาร์เบอร์ หรือ 9/11 นั่นคือสิ่งที่ผู้คนพูดถึงกันอยู่” เบน แรตเนอร์ เจ้าของร้านกาแฟกล่าว

 

ในกรณีของแรตเนอร์ เขากล่าวว่า ความเครียดและความบอบช้ำทางจิตใจได้สะท้อนออกมาเป็นส่วนผสมของอารมณ์และความรู้สึก เช่น เขาขนลุกอย่างเห็นได้ชัดเมื่อได้ยินเสียงรถไฟวิ่งผ่าน ทั้งที่เมื่อก่อนก็ได้ยินประจำเป็นเรื่องปกติ ทั้งยังรู้สึกว่าเสียงรถไฟดังและรุนแรงกว่าที่เคยเป็นมา นอกจากนี้ เขาเล่าถึงเพื่อนๆ ในอีสต์ปาเลสไตน์ว่า หลายคนกลายเป็นคนตื่นตระหนกง่าย และตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา 

 

“ผู้คนมีความกังวลเมื่อได้ยินเสียงรถไฟ หรือเมื่อคิดว่าลูกๆ ออกไปข้างนอก หรือปล่อยสุนัขออกไปข้างนอกแล้วบังเอิญดื่มน้ำที่ปนเปื้อน…มันเป็นเรื่องร้ายแรง” แรตเนอร์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า หลังจากต้องเจอกับโควิดในช่วงสองถึงสามปีที่ผ่านมา ตอนนี้เด็กๆ ในพื้นที่กลับต้องมาเผชิญกับเหตุการณ์ที่กระทบกระเทือนจิตใจ และส่งผลกระทบต่อชีวิตของพวกเขาอีกครั้ง

 

“เรื่องนี้อาจดำเนินต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน” เขากล่าว “มันเป็นมากกว่าก๊าซและสารเคมีกลุ่มใหญ่ที่พวยพุ่ง”

 

คีฟ แนชแมน ศาสตราจารย์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมที่มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ ในเมืองบัลติมอร์ กล่าวว่า สารเคมีที่รั่วไหลสามารถส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพ

 

“สิ่งที่ขาดหายไปจริงๆ คือการให้ข้อมูลว่าผู้คนสัมผัสกับสารเคมีเหล่านี้ในอากาศ น้ำดื่ม หรือดินได้อย่างไร”

 

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา (16 กุมภาพันธ์) ไมเคิล รีแกน ผู้บริหารสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ได้เดินทางลงพื้นที่อีสต์ปาเลสไตน์เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานด้านการฟื้นฟู พบปะเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนว่ารัฐบาลสนับสนุนพวกเขา

 

“เรามองเห็นคุณ เราได้ยินคุณ และเราเข้าใจว่าเหตุใดจึงมีความวิตกกังวล” เขากล่าว

 

EPA ระบุว่าไม่พบสารปนเปื้อนในอากาศในระดับที่เป็นอันตราย และได้ทำการทดสอบคุณภาพอากาศภายในบ้านหลายร้อยหลัง ขณะที่เจ้าหน้าที่จากหน่วยงานน้ำยอมรับว่า น้ำในแม่น้ำโอไฮโอมีการปนเปื้อน แต่ไม่ส่งผลกระทบกับน้ำดื่ม

 

ด้านวุฒิสมาชิกรัฐโอไฮโอ ทั้ง เจดี แวนซ์ และ เชอร์รอด บราวน์ ส่งข้อความให้กำลังใจชุมชน ขณะที่ ไมค์ ดีไวน์ ผู้ว่าการรัฐโอไฮโอ ร้องขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ของรัฐบาลกลาง

 

ขณะเดียวกัน อลัน ชอว์ ซีอีโอของบริษัท นอร์โฟล์ค เซาเทิร์น (Norfolk Southern) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการรถไฟขบวนที่ตกรางในอีสต์ปาเลสไตน์ยอมรับว่า ชาวเมืองรู้สึกเหนื่อยล้า วิตกกังวล และมีคำถามที่ไม่มีคำตอบ แต่ถึงกระนั้นกลับไม่มีตัวแทนของบริษัทเข้าร่วมการประชุมรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจัดขึ้นเพื่อคลายความกังวลของชาวเมือง โดยอ้างเหตุผลเรื่องความปลอดภัย ทำให้คนในชุมชนยิ่งโกรธเคืองกับการตอบสนองของบริษัทต่อเหตุการณ์วิกฤตที่เกิดขึ้น

 

ชาวเมืองบอกกับนักข่าวว่า ทั้งที่เหตุการณ์ผ่านมาเกือบสองสัปดาห์แล้ว แต่พวกเขายังไม่เห็นว่ามีผู้ตรวจสอบหรือเจ้าหน้าที่มาลงพื้นที่

 

“ไม่มีใครลงมาถามอะไรเราเลย ไม่มีใครตรวจสอบอะไรเลย ไม่มีเลย” คิม แฮนค็อก ซึ่งอาศัยอยู่ห่างจากจุดเกิดเหตุราว 1.6 กิโลเมตรกล่าว

 

“พวกเขาบอกฉันได้อย่างไรว่าทุกอย่างปลอดภัย ไม่มีทาง” เธอกล่าว “ฉันไม่ได้โง่ ฉันเห็นกลุ่มควันลอยมาเหนือบ้านฉัน”

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X