×

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ชื่นชมไทยปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา หลังมีกฎหมายป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหาย

โดย THE STANDARD TEAM
31.10.2022
  • LOADING...
สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ

วันนี้ (31 ตุลาคม) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (OHCHR) ยินดีที่ประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565

 

การประกาศใช้กฎหมายนี้นับเป็นก้าวสำคัญในการปราบปรามการทรมาน การทารุณกรรม และการกระทำให้บุคคลสูญหายในประเทศไทย ซึ่งมีบทบัญญัติในการเอาผิดผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญา และมีเนื้อหาครอบคลุมหลักการที่สำคัญ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิในการที่จะไม่ถูกทรมานเป็นสิทธิมนุษยชนที่ไม่อาจระงับชั่วคราวได้ (Non-Derogation) และหลักการไม่ส่งใครกลับไปเผชิญอันตราย (Non-Refoulement) ซึ่งป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ขับไล่ เนรเทศ หรือส่งบุคคลใดไปยังอีกประเทศหนึ่งที่เขาอาจเผชิญความเสี่ยงต่อการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือย่ำยีศักดิ์ศรี (Cruel, Inhuman or Degrading Treatment) หรือการกระทำให้บุคคลสูญหาย ทั้งนี้ พระราชบัญญัติดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้เมื่อพ้นกำหนด 120 วันนับแต่การประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2565

 

ซินเทีย เวลิโก้ ผู้แทนของ OHCHR ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า การประกาศใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. 2565 นี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการปฏิบัติตามคำมั่นของประเทศไทยเพื่อขจัดการกระทำทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหายให้หมดสิ้น และเป็นการให้ความยุติธรรมกับผู้เสียหายจากการทรมาน และการกระทำให้บุคคลสูญหาย  

 

พ.ร.บ. นี้จะทำให้ผู้เสียหายจากการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายโดยบังคับหรือไม่สมัครใจและญาติ มีกรอบทางกฎหมายในการเรียกร้องการเยียวยาทางกฎหมาย รวมถึงการเอาผิดผู้กระทำผิดจากอาชญากรรมอันเลวร้ายนี้

 

ประเทศไทยมีกรณีการกระทำให้บุคคลสูญหายที่คณะกรรมการว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับหรือโดยความไม่สมัครใจแห่งองค์การสหประชาชาติ (UN Working Group on Enforced and Involuntary Disappearances) บันทึกว่ายังไม่ได้รับความกระจ่างชัดทั้งสิ้น 76 กรณี

 

เวลิโก้เน้นย้ำว่า ยังมีบทบัญญัติในกฎหมาย 3 ประการที่ควรได้รับการแก้ไขเพื่อให้ พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นไปตามกฎหมาย และหลักการระหว่างประเทศอย่างครบถ้วน ได้แก่ การอภัยโทษในฐานความผิดตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ การรับฟังพยานหลักฐานที่ได้จากการทรมานในกระบวนการดำเนินคดีทางอาญา และการกำหนดอายุความของคดีการกระทำให้บุคคลสูญหาย

 

สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ขอชื่นชมประเทศไทยที่ปฏิบัติตามคำมั่นที่ให้ไว้ในการทบทวนสิทธิมนุษยชนครั้งล่าสุดตามกระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) ทั้งนี้ หลังจากที่มีกรอบกฎหมายบังคับใช้ในประเทศแล้ว ประเทศไทยสามารถดำเนินการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance) และพิธีสารเลือกรับของอนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการทรมาน และการกระทำอื่นๆ ที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม หรือที่ย่ำยีศักดิ์ศรี (Optional Protocol to the Convention against Torture and other Cruel, Inhuman or Degrading Treatment or Punishment) ในลำดับถัดไป” เวลิโก้กล่าว 

 

โดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคฯ พร้อมที่จะให้การสนับสนุนทางเทคนิคแก่รัฐบาลตามที่มีความจำเป็น

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising