รายงานข่าวจากกระทรวงพลังงานแจ้งว่า วันนี้ (27 เมษายน) ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ที่มี สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ได้พิจารณาเห็นชอบปรับขึ้นราคาขายปลีกดีเซลแบบขั้นบันไดเป็น 32 บาทต่อลิตร
โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะอุดหนุนครึ่งหนึ่งของราคาที่ปรับขึ้น ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจะติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกทุก 7 วัน หากจำเป็นต้องขยับขึ้นอีก จะทยอยปรับไม่เกินครั้งละ 1 บาท แต่ไม่ให้เกินเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร จากปัจจุบันรัฐตรึงไว้ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ โดยกระทรวงพลังงานหวังว่าภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครนจะไม่รุนแรงไปกว่านี้จนทำให้ดีเซลโลกขยับขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) 3 สมมติฐาน พบว่า หากกรณีราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบอยู่ที่ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาดีเซลในประเทศจะอยู่ที่ 33 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 5% อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) โต 3.5%
กรณีราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 40 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 6.2% GDP จะโตลดลงเหลือ 3.2% และกรณีราคาน้ำมันดิบตลาดดูไบ 150 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ดีเซลจะอยู่ที่ 46 บาทต่อลิตร เงินเฟ้อ 7.2% GDP จะโตลดลงเหลือ 3%
โดยล่าสุด ณ วันที่ 24 เมษายน สถานะกองทุนติดลบ 56,278 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 24,302 ล้านบาท บัญชีก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) 31,976 ล้านบาท จึงจำเป็นต้องทยอยปรับราคาดีเซลขึ้นแบบขั้นบันได เพื่อแบ่งเบาภาระกองทุนในระดับหนึ่ง แต่รัฐยังอุดหนุนอยู่ครึ่งหนึ่งของอัตราที่ปรับขึ้น
สำหรับราคาน้ำมันดีเซลที่ผ่านมา ภาครัฐพยายามตรึงไม่ให้เกินระดับ 30 บาทต่อลิตรมาโดยตลอด ซึ่งการที่ราคาน้ำมันดีเซลขยับขึ้นมาเป็น 32 บาทต่อลิตรนั้นจะถือเป็นราคาที่สูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2551
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP